คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 460/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ ช. เจ้ามรดกทำให้หนี้ตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธานขาดอายุความ เนื่องจากสัญญากู้เงินรายนี้มีการจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันไว้ด้วย ดังนี้ แม้หนี้ตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความ โจทก์ก็มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ประกอบมาตรา 193/27 แต่คงบังคับได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น หาอาจบังคับถึงทรัพย์สินอื่นของ ช. เจ้ามรดกได้ด้วยไม่ แม้หนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกันจะมีข้อความระบุว่า เมื่อถึงเวลาบังคับจำนองเอาทรัพย์จำนองขายทอดตลาดได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกับค่าอุปกรณ์ต่างๆ เงินยังขาดอยู่เท่าใดผู้จำนองและลูกหนี้ยอมรับผิดชอบรับใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบจำนวนก็ตาม
แม้โจทก์จะเป็นธนาคารพาณิชย์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 ก็ตาม ประกาศดังกล่าวหาใช่ข้อกฎหมายอันถือเป็นเรื่องที่ศาลจะรับรู้เองได้ แต่เป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่คู่ความมีหน้าที่นำสืบ และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเอกสารเกี่ยวกับเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกจากจำเลยเป็นเอกสารที่ต้องห้ามรับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 ซึ่งโจทก์ก็มิได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุดถือได้ว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินไปจากอัตราปกติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้ ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินต้นจำนวน 849,241.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 763,043.07 บาท แก่โจทก์ และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 849,241.07 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ปฏิบัติตาม ให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจำนวน 849,241.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 14.5 ต่อปี นับจากวันที่ 30 ธันวาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน แต่ทั้งนี้จำเลยไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยไถ่ถอนหนี้จำนองจำนวน 849,241.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี เฉพาะดอกเบี้ยก่อนวันฟ้องให้จำเลยชำระไม่เกิน 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นภริยานายชูเกียรติ ชินแสงอร่าม เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2536 นายชูเกียรติทำสัญญากู้เงินกับโจทก์จำนวน 850,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัวหลวง ตกลงผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยแก่โจทก์เป็นรายเดือนเดือนละ 12,000 บาท หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์ดำเนินคดีได้ทันที กำหนดชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 22 กันยายน 2546 และนายชูเกียรติได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ไว้แก่โจทก์ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและมีข้อตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ นายชูเกียรติยอมให้โจทก์บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของตนชำระหนี้จนครบ ต่อมาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2538 นายชูเกียรติถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายชูเกียรติ
…ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า เมื่อโจทก์บังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ โจทก์มีสิทธิบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของนายชูเกียรติเจ้าของมรดกบังคับชำระหนี้จนครบได้หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า เมื่อหนี้ประธานขาดอายุความโจทก์ไม่มีอำนาจบังคับชำระหนี้แก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/10 เว้นแต่จะเป็นการบังคับชำระหนี้จากทรัพย์จำนองด้วยการบังคับจำนองตามมาตรา 193/27 เท่านั้น หากในกรณีที่บังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ หนี้ที่คงค้างเหลืออยู่ก็ยังถือว่าเป็นหนี้ที่ขาดอายุความด้วยเช่นกัน โจทก์จะบังคับชำระหนี้ได้ก็แต่เฉพาะทรัพย์จำนองและวิธีการบังคับจำนองเท่านั้น ส่วนทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยโจทก์ไม่มีสิทธิบังคับเอามาชำระหนี้ได้เพราะมิใช่เป็นทรัพย์สินที่จำนองและมิใช่เป็นวิธีการบังคับจำนองภายใต้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 12 หมวด 4 (การบังคับจำนอง) นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของนายชูเกียรติเจ้ามรดกทำให้หนี้ตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธานขาดอายุความ เนื่องจากสัญญากู้เงินรายนี้มีการจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันไว้ด้วย ดังนี้ แม้หนี้ตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความ โจทก์ก็มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองได้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม ประกอบมาตรา 193/27 แต่คงบังคับได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น หาอาจบังคับถึงทรัพย์สินอื่นของนายชูเกียรติเจ้ามรดกได้ด้วยไม่ แม้หนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกันเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 จะมีข้อความระบุว่า เมื่อถึงเวลาบังคับจำนองเอาทรัพย์จำนองขายทอดตลาดได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกับค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใด ผู้จำนองและลูกหนี้ยอมรับผิดชอบรับใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบจำนวนก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่าเมื่อโจทก์บังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ โจทก์มีสิทธิบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของนายชูเกียรติเจ้ามรดกบังคับชำระหนี้จนครบได้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์อัตราร้อยละเท่าใด เห็นว่า แม้โจทก์จะเป็นธนาคารพาณิชย์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ก็ตาม ประกาศดังกล่าวหาใช่ข้อกฎหมายอันถือเป็นเรื่องที่ศาลจะรับรู้เองได้ แต่เป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่คู่ความมีหน้าที่จะต้องนำสืบ และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเอกสารเกี่ยวกับเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกจากจำเลยตามเอกสารหมาย จ.15 และ จ.16 เป็นเอกสารที่ต้องห้ามรับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 ซึ่งโจทก์ก็มิได้อุทธรณ์ คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุดถือได้ว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินไปจากอัตราปกติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้ คดีจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ถึงอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี อันเกินไปจากอัตราปกติตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยระหว่างโจทก์จำเลยจึงตกเป็นโมฆะ อย่างไรก็ดี การที่นายชูเกียรติเจ้ามรดกทำสัญญากู้เงินและจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันแล้วไม่เคยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เดือนละครั้งตามที่ได้ระบุไว้ในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 1 จึงเป็นการผิดนัดผิดสัญญานับแต่วันที่ 22 กันยายน 2536 ซึ่งเป็นวันทำสัญญากู้เงินและจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นต้นมา โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในระหว่างผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของนายชูเกียรติ ชินแสงอร่าม รับผิดชำระเงินจำนวน 850,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยชะ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 กันยายน 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยก่อนวันฟ้องให้จำเลยชำระไม่เกิน 5 ปี หากไม่ชำระให้ยึดเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 36270, 36271 และ 36272 ตำบลหนองป่าครั่ง อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์

Share