แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฎีกาอ้างว่า โจทก์ได้ประเมินราคาทรัพย์เสียหายโดยมีหลักฐานเรื่องความเสียหายชัดเจนนอกจากนี้กระทรวงการคลังได้วางหลักเกณฑ์ ไว้ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ส่วนราชการชนะคดีไม่เต็มฟ้องต้องยื่นฎีกาต่อศาลฎีกาต่อไป ข้อความดังกล่าวมิได้ระบุให้แจ้งชัดว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ในส่วนใดมีข้อวินิจฉัยผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างไร และที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง แม้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจะรับรองมีเหตุสมควรที่โจทก์จะฎีกา ศาลฎีกาก็ไม่อาจรับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาได้เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่สิบเก้าร่วมกันชำระเงิน 7,705,885.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 6,729,972.09 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสิบเอ็ด
จำเลยที่ 4 ที่ 6 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 11 ที่ 19 ที่ 22 ที่ 28 ที่ 33 ที่ 34 ที่ 37 ที่ 39 ที่ 42 ที่ 43 ที่ 45 ที่ 46 ที่ 47 ที่ 48 และที่ 49 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 4 ที่ 6 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 11 ที่ 19 ที่ 22 ที่ 23 ที่ 28 ที่ 33 ที่ 34 ที่ 37 ที่ 42 ที่ 43 ที่ 45 ที่ 47 ที่ 48 และที่ 49 ขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 10 ที่ 12 ที่ 13 ที่ 14 ที่ 15 ที่ 16 ที่ 17 ที่ 18 ที่ 20 ที่ 21 ที่ 23 ที่ 24 ที่ 25 ที่ 26 ที่ 27 ที่ 29 ที่ 30 ที่ 31 ที่ 32 ที่ 35 ที่ 36 ที่ 38 ที่ 40 ที่ 41 ที่ 44 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 6 ที่ 10 ที่ 19 ที่ 20 ที่ 21 ที่ 22 ที่ 23 ที่ 24 ที่ 28 ที่ 34 ที่ 35 ที่ 37 ที่ 39 ที่ 42 ที่ 43 ที่ 44 ที่ 45 และที่ 47 ร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 800,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 300,000 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 1,800,000 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 700,000 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 25,000 บาท โจทก์ที่ 6 จำนวน 35,000 บาท โจทก์ที่ 7 จำนวน 32,000 บาท โจทก์ที่ 8 จำนวน 300,000 บาท โจทก์ที่ 9 จำนวน 15,000 บาท โจทก์ที่ 10 จำนวน 30,000 บาท และโจทก์ที่ 11 จำนวน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวของโจทก์แต่ละคนนับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 2 ธันวาคม 2540) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสิบเอ็ด กับให้จำเลยดังกล่าวร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสิบเอ็ด เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 50,000 บาท คำขออื่นให้ยกและยกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 11 ที่ 12 ที่ 13 ที่ 14 ที่ 15 ที่ 16 ที่ 17 ที่ 18 ที่ 25 ที่ 26 ที่ 27 ที่ 29 ที่ 30 ที่ 31 ที่ 32 ที่ 33 ที่ 36 ที่ 38 ที่ 40 ที่ 41 ที่ 46 ที่ 48 และที่ 49
โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 และที่ 8 ถึงที่ 10 อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่า โจทก์ที่ 5 ที่ 6 ที่ 9 และที่ 10 มีเหตุอันควรอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 6 ที่ 10 ที่ 19 ถึงที่ 24 ที่ 28 ที่ 34 ที่ 35 ที่ 37 ที่ 39 ที่ 42 ถึงที่ 45 และที่ 47 ร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ที่ 3 จำนวน 2,000,000 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 900,000 บาท และโจทก์ที่ 8 จำนวน 350,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น กับให้จำเลยดังกล่าวร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 และที่ 8 ถึงที่ 10 เฉพาะค่าขึ้นศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยดังกล่าวให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ดังกล่าวชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 ถึงที่ 9 ที่ 11 ถึงที่ 18 ที่ 25 ถึงที่ 27 ที่ 29 ถึงที่ 33 ที่ 36 ที่ 38 ที่ 40 ที่ 41 ที่ 46 ที่ 48 และที่ 49 (ที่ถูก ในศาลชั้นต้น) ให้เป็นพับ
ก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา จำเลยที่ 22 ถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 และที่ 8 ถึงที่ 10 ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนางสาวเบญจมาศ ผู้เยาว์ซึ่งเป็นทายาทของจำเลยที่ 22 และมีนางอารีย์ เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งบุคคลผู้ถูกเรียกเป็นคู่ความแทน
โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 และที่ 8 ถึงที่ 10 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 6 และที่ 8 ถึงที่ 10 จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 6 ที่ 10 ที่ 19 ถึงที่ 24 ที่ 28 ที่ 34 ที่ 35 ที่ 37 ที่ 39 ที่ 42 ถึงที่ 45 และที่ 47 กระทำละเมิดจุดไฟเผา ขว้างปา ทุบ ทำลายทรัพย์สินของโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 และที่ 8 ถึงที่ 10 เสียหาย และกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ดังกล่าวโดยพิจารณาราคาทรัพย์ตามสภาพขณะเกิดเหตุ และหักค่าเสื่อมราคาออก โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 และที่ 8 ถึงที่ 10 ฎีกาอ้างว่า โจทก์ได้ประเมินราคาทรัพย์เสียหายโดยมีหลักฐานเรื่องความเสียหายชัดเจน นอกจากนี้กระทรวงการคลังได้วางหลักเกณฑ์ไว้ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ส่วนราชการชนะคดีไม่เต็มฟ้องต้องยื่นฎีกาต่อศาลฎีกาต่อไป ข้อความตามฎีกาของโจทก์ดังกล่าวมิได้ระบุให้แจ้งชัดว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ในส่วนใดมีข้อวินิจฉัยผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างไร และที่ถูกต้องควรเป็นอย่างใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง แม้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจะรับรองว่ามีเหตุสมควรที่โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 6 และที่ 8 ถึงที่ 10 จะฎีกา ศาลฎีกาก็ไม่อาจรับฎีกาของโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 และที่ 8 ถึงที่ 10 ไว้พิจารณาพิพากษาได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
พิพากษายกฎีกาของโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 และที่ 8 ถึงที่ 10 คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่โจทก์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ที่ 6 ที่ 10 ที่ 19 ถึงที่ 24 ที่ 28 ที่ 34 ที่ 35 ที่ 37 ที่ 39 ที่ 42 ถึงที่ 45 และที่ 47 ไม่แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้