คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2840/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้” และวรรคสอง บัญญัติว่า “ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้” บทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อให้จำเลยมีทนายความช่วยเหลือในการต่อสู้คดีที่เป็นความผิดอุกฉกรรจ์มีอัตราโทษประหารชีวิตหรือจำคุก อันเป็นการเปิดโอกาสให้จำเลยสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ แม้การริบทรัพย์เป็นโทษทางอาญาอย่างหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 18 และผู้คัดค้านได้รับความช่วยเหลือทางคดีจากผู้ขอรับเงินรางวัลทนายความดังที่ผู้ขอรับเงินรางวัลทนายความฎีกาก็ตาม แต่โทษดังกล่าวก็มิใช่โทษประหารชีวิตหรือจำคุกตามที่ระบุไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคหนึ่งและวรรคสอง กรณีจึงไม่สามารถนำบทบัญญัติดังกล่าวมาเทียบเคียงเพื่อจ่ายเงินรางวัลทนายความให้แก่ผู้ขอรับเงินรางวัลทนายความในคดีซึ่งผู้ร้องขอให้ริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านให้มาเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ได้ เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติให้ศาลตั้งทนายความให้แก่ผู้คัดค้านกับให้ศาลจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้ง ผู้ขอรับเงินรางวัลทนายความจึงไม่มีสิทธิขอรับเงินรางวัลทนายความได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29, 31 ระหว่างพิจารณาผู้คัดค้านขอให้ศาลชั้นต้นตั้งทนายความให้ ศาลชั้นต้นตั้งนายทินกร เป็นทนายความให้ผู้คัดค้าน เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านแล้ว นายทินกรยื่นคำร้องขอรับเงินรางวัลทนายความ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ขอรับเงินรางวัลทนายความอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
ผู้ขอรับเงินรางวัลทนายความฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ขอรับเงินรางวัลทนายความว่า ผู้ขอรับเงินรางวัลทนายความมีสิทธิได้รับเงินรางวัลทนายความหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้” และวรรคสอง บัญญัติว่า “ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้” บทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อให้จำเลยมีทนายความช่วยเหลือในการต่อสู้คดีที่เป็นความผิดอุกฉกรรจ์มีอัตราโทษประหารชีวิตหรือจำคุกอันเป็นการเปิดโอกาสให้จำเลยสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ แม้การริบทรัพย์เป็นโทษทางอาญาอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 และผู้คัดค้านได้รับความช่วยเหลือทางคดีจากผู้ขอรับเงินรางวัลทนายความดังที่ผู้ขอรับเงินรางวัลทนายความฎีกาก็ตาม แต่โทษดังกล่าวก็มิใช่โทษประหารชีวิตหรือจำคุกตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคหนึ่งและวรรคสองกรณีจึงไม่สามารถนำบทบัญญัติดังกล่าวมาเทียบเคียงเพื่อจ่ายเงินรางวัลทนายความให้แก่ผู้ขอรับเงินรางวัลทนายความในคดีความผิดต่อพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ได้ เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติเรื่องให้ศาลตั้งทนายความให้แก่ผู้คัดค้านกับให้ศาลจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้ง ผู้ขอรับเงินรางวัลทนายความจึงไม่มีสิทธิขอรับเงินรางวัลทนายความในคดีนี้ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่จ่ายเงินรางวัลทนายความให้แก่ผู้ขอรับเงินรางวัลทนายความจึงชอบแล้ว ฎีกาของผู้ขอรับเงินรางวัลทนายความฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share