แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ได้ความว่าตามทางพิจารณาว่าจำเลยทั้ง 3 เป็นพนักงานรายวันของกรมทางหลวงแผ่นดิน กระทรวงคมนาคม ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวนรับหินซึ่งผู้รับเหมานำส่งแล้วรายงาานจำนวนหินไม่ตรงกับความจริงเช่นนี้ไม่ถือว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่ง ก.ม.อาญา จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ม.230 ที่โจทก์ฟ้อง
โดยปกติจะถือว่าผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานผู้นั้นต้องเป็นข้าราชการตาม ก.ม.เว้นแต่จะมี ก.ม.บัญญัติไว้เป็นพิเศษให้เป็นชเจ้าพนักงานดังเช่น พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 ม.44 บัญญัติว่าให้พนักงานเทศบาลเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่ง ก.ม.อาญาเป็นต้นและใน พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2495 ม.17 ซึ่งบัญญัติถึงข้าราชการพลเรือนว่ามีอยู่ 7 ประเภทก็ไม่กินความถึงจำเลยทั้งสามคนนี้เพราะจำเลยไม่ได้รับเงินเดือนหากเป็นเพียงพนักงานรายวัน.
ย่อยาว
โจทก์หาว่าจำเลยทั้ง ๓ เป็นเจ้าพนักงานมีตำแหน่งเป็นกรรมการตรวจรับหินของกรมทางหลวงแผ่นดินได้ทุจริตต่อหน้าที่ทำหนังสือใบตรวจการก่อสร้างงานย่อยและขนหิน (แบบ ๒) ว่าบริษัทภาณุจำกัดได้ทำการแล้วเสร็จตามแผนผังและรายการตามสัญญาแต่ละงวดรวม ๕ งวดนำเสนอเบิกจ่ายเงินซึ่งเป็นความเท็จ ทำให้นายสิทธิ นิเวศน์รัตน์นายช่างกำกับการแขวงและนายจำรัส สืบศิริ นายช่างเอกกำกับการเขตการทางนครราชสีมาหลงเชื่อจ่ายเงิน ๙๑๖,๕๐๐ บาท ให้แก่ผู้แทนบริษัทภานุจำกัด การกระทำของจำเลยเป็นความเท็จทั้งนี้โดยหวังผลกำไรและประโยชน์ส่วนตัวในกิจการที่ทำนั้นหรือเพื่อจะเอาส่วนลดหรือกำไรจากผู้จ้างและจำเลยได้สมคบกันทำหลักฐานหนังสือใบตรวจการงานก่อสร้าง (แบบ ๒) รับหินจ่ายเงินงวดที่ ๑,๒,๓,๔,๕ ขึ้นซึ่งเป็นความเท็จเป็นเหตุให้นายสิทธิ นายจำรัสและกรมทางหลวงแผ่นดิน กระทรวงคมนาคมได้รับความเสียหาย
เหตุเกิดที่ตำบลหมื่นไวย อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
ขอให้ลงโทษตาม ก.ม.อาญา ม. ๑๑๖,๑๓๒,๑๓๓,๒๓๐ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ก.ม.อาญา พ.ศ.๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒) ม.๓
จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ ๒,๓ ชั้นแรกปฏิเสธต่อมาแถลงว่ามีรับได้รับแต่งตั้งให้เปน็กรรมการตรวจรับหินและได้ลงชื่อตรวจรับหิน ๕ งวดจริง แต่ไม่ได้ไปตรวจหิน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยทั้ง ๓ ผิดตาม ก.ม.อาญา ม.๒๓๐ จำคุกจำเลยที่ ๑, ๘ ปี ลดตาม ม.๕๙ กึ่งหนึ่งเหลือ ๔ ปี จำคุกจำเลยที่ ๒,๓ คนละ ๕ ปี ลดตาม ม.๕๙ ๑ ใน ๓ เหลือคนละ ๓ ปี ๔ เดือน ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยทั้ง ๓ มิใช่เจ้าพนักงานพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาปรึกษาแล้วเห็นว่าได้ความตามทางพิจารณา ว่าจำเลยทั้ง ๓ เป็นเจ้าพนักงานรายวันของกรมทางหลวงแผ่นดิน กระทรวงคมนาคม ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจนับรับหิน ซึ่งผู้รับเหมานำส่งแล้วรายงานจำนวนหินไม่ตรงกับความจริง ข้อวินิจฉัยจึงมีว่าจำเลยนี้เป็นเจ้าพนักงานหรือไม่โดยปกติจะถือว่าผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ผู้นั้นจะต้องเป็นข้าราชการตาม ก.ม.เว้นแต่จะมี ก.ม.บัญญัติไว้เป็นพิเศษให้เป็นเจ้าพนักงานดังเช่น พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.๒๔๙๖ บม.๔๔ บัญญัติให้พนักงานเทศบาลมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่ง ก.ม.อาญา เป็นต้น และใน พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน ม.๑๗ ซึ่งบัญญัติถึงข้าราชการพลเรือนว่ามีอยู่ ๗ ประเภท ก็ไม่กินความถึงจำเลย ๓ คนนี้ เพราะจำเลยมิได้รับเงินเดือนหากเป็นเพียงพนักงานรายวัน เมื่อจำเลยมิได้เป็นเจ้าพนักงานแล้วก็เอาผิดจำเลยตามโจทก์ฟ้องมิได้ ดังคำวินิจฉัยศาลอุทธรณ์ เหตุนี้ จึงพิพากษายืน.