แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จ. ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องผ่อนชำระหนี้ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2537 โจทก์จะขอบังคับคดีได้หลังวันที่ 31 กรกฎาคม 2537 ไปแล้ว กำหนดเวลา 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ย่อมเริ่มนับแต่วันที่โจทก์อาจขอดำเนินการบังคับคดีได้ คือวันที่ 1 สิงหาคม 2537 เป็นต้นไป ซึ่งจะครบกำหนดภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2547 แม้ปรากฏว่า จ. ลูกหนี้ตามคำพิพากษาขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้ไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2538 เป็นผลให้แตกต่างไปจากคำพิพากษาตามยอมก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงข้อตกลงนอกศาลของคู่ความในชั้นบังคับคดีไม่อาจส่งผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาและกำหนดเวลาของการบังคับคดีแต่อย่างใด อีกทั้งกำหนดเวลาของการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ไม่ใช่อายุความ ดังนี้การที่โจทก์ไปยึดทรัพย์ของลูกหนี้มาชำระหนี้บางส่วนเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2545 จึงไม่ทำให้กำหนดเวลาบังคับคดีสะดุดหยุดลงหรือขยายออกไปได้อีก โจทก์มีสิทธิบังคับคดีสำหรับหนี้ตามคำพิพากษาที่ยังค้างของ จ. ลูกหนี้ตามคำพิพากษาภายในกำหนด 10 ปี คือภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2547 และเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวโจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับเอากับ จ. ลูกหนี้ตามคำพิพากษาอีกต่อไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 จำเลยทั้งสองและ ส. ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 698
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินแก่โจทก์ 113,521,435.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี จากต้นเงิน 37,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งในชั้นฎีการับฟังว่า นายจรัส เป็นลูกหนี้ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นวธนกิจ จำกัด (มหาชน) 37,000,000 บาท จากการขายลดเช็คและตั๋วเงิน ต่อมานายจรัสผิดนัดชำระหนี้ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นวธนกิจ จำกัด (มหาชน) ฟ้องนายจรัสเป็นคดีที่ศาลแพ่ง ต่อมาศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาตามยอมให้นายจรัสชำระเงินแก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นวกิจ จำกัด (มหาชน) 44,352,876.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงิน 37,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยตกลงจะชำระให้เสร็จภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2537 หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองรวม 3 แปลง ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นต่อไป ปรากฏตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม แต่เมื่อครบกำหนดแล้วนายจรัสไม่สามารถชำระหนี้ได้และนายจรัสได้ขอขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2538 ต่อมานางสมถวิลและจำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นวธนกิจ จำกัด (มหาชน) โดยนางสมถวิลกับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันและจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกัน ครั้นวันที่ 16 กรกฎาคม 2540 นางสมถวิลถึงแก่ความตาย โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นทายาทโดยธรรม ต่อมาโจทก์รับโอนสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องของจำเลยในคดีนี้มาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นวธนกิจ จำกัด (มหาชน) ตามสัญญาโอนสินทรัพย์และหนี้สิน และโจทก์ได้ยึดที่ดินอันเป็นทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินมาชำระหนี้บางส่วน แต่ไม่ได้บังคับคดีนายจรัสซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาภายในกำหนดเวลา 10 ปี
มีประเด็นวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า จำเลยทั้งสองและจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนางสมถวิลซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ นายจรัสลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องผ่อนชำระหนี้ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2537 ดังนี้ โจทก์จะขอบังคับคดีได้หลังวันที่ 31 กรกฎาคม 2537 ไปแล้ว กำหนดเวลา 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ย่อมเริ่มนับแต่วันที่โจทก์อาจขอดำเนินการบังคับคดีได้ คือวันที่ 1 สิงหาคม 2537 เป็นต้นไป ซึ่งจะครบกำหนดภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2547 แม้ปรากฏว่านายจรัสลูกหนี้ตามคำพิพากษาขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้ไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2538 เป็นผลให้แตกต่างไปจากคำพิพากษาตามยอมก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงข้อตกลงนอกศาลของคู่ความในชั้นบังคับคดี ไม่อาจส่งผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาและกำหนดเวลาของการบังคับคดีแต่อย่างใด อีกทั้งกำหนดเวลาของการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ไม่ใช่อายุความ ดังนี้ การที่โจทก์ไปยึดทรัพย์ของลูกหนี้มาชำระหนี้บางส่วนเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2545 จึงไม่ทำให้กำหนดเวลาบังคับคดีสะดุดหยุดลงหรือขยายออกไปได้อีก โจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีสำหรับหนี้ตามคำพิพากษาที่ยังค้างของนายจรัสลูกหนี้ตามคำพิพากษาภายในกำหนด 10 ปี คือภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2547 และเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวโจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับเอากับนายจรัสลูกหนี้ตามคำพิพากษาอีกต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 จำเลยทั้งสองและนางสมถวิลในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 ที่โจทก์อุทธรณ์อ้างว่า แม้นายจรัสลูกหนี้ตามคำพิพากษาหลุดพ้นความรับผิด แต่จำเลยทั้งสองและนางสมถวิลในฐานะผู้ค้ำประกันไม่หลุดพ้นความรับผิดไปด้วยเพราะบุคคลทั้งสามมีข้อสัญญาพิเศษยอมรับผิดเกินกว่าความรับผิดของลูกหนี้ชั้นต้นและอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1785/2505 มาด้วย พิเคราะห์สัญญาค้ำประกันแล้ว ปรากฏว่าผู้ค้ำประกันให้สัญญาเพียงว่า หากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือกระทำการใดๆ เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ไม่ได้รับการชำระหนี้ หรือลูกหนี้ล้มละลาย หรือตาย หรือกลายเป็นบุคคลผู้ไร้ความสามารถ หรือสาบสูญ หรือไปเสียจากถิ่นที่อยู่ หรือหาตัวไม่พบ หรือมีกรณีอื่นใดอันกระทำให้เจ้าหนี้ไม่ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน ผู้ค้ำประกันยอมเข้ารับผิดร่วมกับลูกหนี้ในอันที่จะต้องชำระหนี้นั้นทันที ไม่ปรากฏข้อตกลงหรือสัญญาพิเศษให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดหนักกว่าหรือเกินไปกว่าความรับผิดของลูกหนี้ดังที่โจทก์อ้างแต่ประการใด ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมานั้นก็มีข้อเท็จจริงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองและนางสมถวิลมีลักษณะเป็นข้อสัญญาพิเศษจึงฟังไม่ขึ้น และที่โจทก์ยกข้ออ้างเป็นประการสุดท้ายว่า โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองและนางสมถวิลในวันที่ 28 มิถุนายน 2548 อันเป็นการฟ้องภายในกำหนดอายุความ 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ เห็นว่า แม้อายุความในการฟ้องร้องผู้ค้ำประกันจะมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ก็ตาม แต่เหตุที่จำเลยทั้งสองและนางสมถวิลผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์มิใช่เป็นเพราะฟ้องโจทก์ขาดอายุความ แต่เป็นเพราะโจทก์มิได้บังคับคดีให้ลูกหนี้ชั้นต้นชำระหนี้จนพ้นกำหนดเวลาบังคับคดี โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะบังคับเอากับลูกหนี้ชั้นต้นอีกต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 จำเลยทั้งสองและนางสมถวิลผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามไปด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 จึงไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์เป็นการชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ