คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10769/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 มาตรา 5, 7, 12, 50 เป็นความผิดอาญาแผ่นดินไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวอันยอมความได้ คดีนี้พนักงานอัยการได้มีหนังสือถึงพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยกับพวก ซึ่งหนังสือดังกล่าวถือได้ว่าเป็นคำกล่าวโทษเพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองแล้ว ดังนั้น แม้จะไม่มีผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนคดีได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคหนึ่ง และตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 บัญญัติว่า ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาลโดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน เมื่อปรากฏว่าคดีนี้ได้มีการสอบสวน โดยไม่ปรากฏว่าการสอบสวนไม่ชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 มาตรา 5, 7, 12, 50 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และนับโทษจำเลยทั้งสองต่อจากโทษจำเลยทั้งสองในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 551/2549 ของศาลอาญา
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง, 50 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 150,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้กักขังจำเลยทั้งสองได้ไม่เกิน 2 ปี ให้ยกคำขอที่ให้นับโทษต่อ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า การสอบสวนคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่า วันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง พันตำรวจโทสืบศักดิ์และสิบตำรวจเอกวิโรจน์ เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เข้าตรวจสอบบ่อทรายที่เกิดเหตุ ซึ่งอยู่ติดกับคลองบางบาล อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา พบนายสุชาติและนายสมเกียรติ จำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 340/2547 หมายเลขแดงที่ 582/2549 กำลังร่วมกันดำเนินกิจการดูดทรายจากบ่อทรายที่เกิดเหตุ โดยนายสุชาติกำลังขับรถแทรกไลน์ (รถตักทราย) ตักทรายขึ้นรถบรรทุก ส่วนนายสมเกียรติกำลังขับรถแบ๊คโฮเกลี่ยทรายอยู่ในบ่อทราย นายสุชาติและนายสมเกียรติไม่สามารถนำใบอนุญาตประกอบกิจการดูดทรายมาแสดงได้ พันตำรวจโทสืบศักดิ์และสิบตำรวจเอกวิโรจน์กับพวกจึงจับกุมนายสุชาติและนายสมเกียรติ โดยแจ้งข้อหาว่าร่วมกันประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 (ดูดทราย) โดยไม่ได้รับใบอนุญาต พร้อมยึดรถแทรกไลน์จำนวน 2 คัน รถแบ๊คโฮจำนวน 1 คัน เรือดูดทรายจำนวน 1 ลำ ตะแกรงกรองดินจำนวน 2 ตัว เป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน พันตำรวจโทชูชัย พนักงานสอบสวน แจ้งข้อหานายสุชาติกับนายสมเกียรติเช่นเดียวกับชั้นจับกุม ทั้งสองให้การปฏิเสธ จากการสอบสวนได้ความว่า บ่อทรายที่เกิดเหตุเป็นของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากัน นายสุชาติและนายสมเกียรติประกอบกิจการดูดทรายในบ่อทรายที่เกิดเหตุโดยไม่ได้รับใบอนุญาต พนักงานสอบสวนจึงมีคำสั่งฟ้องนายสุชาติและนายสมเกียรติในข้อหาประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 (ดูดทราย) โดยไม่ได้รับใบอนุญาต แล้วส่งสำนวนการสอบสวนต่อพนักงานอัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อดำเนินการฟ้องนายสุชาติและนายสมเกียรติต่อศาลชั้นต้นต่อไป หลังจากพนักงานอัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยารับสำนวนการสอบสวนดังกล่าวจากพนักงานสอบสวนแล้ว พิจารณาเห็นว่า จำเลยทั้งสองร่วมกระทำความผิดกับนายสุชาติและนายสมเกียรติด้วย จึงมีหนังสือแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองตามหนังสือของสำนักงานอัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรื่องให้ดำเนินคดีแก่บริษัทสหศิลาพิชิตโชค จำกัด นางรัตนา และนายพิชิต พนักงานสอบสวนจึงได้เรียกให้จำเลยทั้งสองมาพบแล้วแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยทั้งสองว่าร่วมกันเป็นผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 (ดูดทราย) โดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ พนักงานสอบสวนได้บันทึกคำให้การของจำเลยทั้งสองไว้ จากนั้นรวบรวมพยานหลักฐานในการสอบสวนเสนอต่อพนักงานอัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ เห็นว่า ความผิดฐานประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 (ดูดทราย) โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 มาตรา 5, 7, 12, 50 ที่โจทก์ฟ้องนี้เป็นความผิดอาญาแผ่นดินไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวอันยอมความได้ ประกอบกับคดีนี้พนักงานอัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้มีหนังสือถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรบางบาล ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2547 เรื่องให้ดำเนินคดีแก่บริษัทสหศิลาพิชิตโชค จำกัด นางรัตนาและนายพิชิต ซึ่งหนังสือดังกล่าวถือได้ว่าเป็นคำกล่าวโทษเพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองแล้ว ดังนั้นแม้จะไม่มีผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 วรรคหนึ่ง และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 บัญญัติว่า ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาลโดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน เมื่อปรากฏว่าคดีนี้ได้มีการสอบสวนโดยไม่ปรากฏว่าการสอบสวนไม่ชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฉะนั้น พนักงานอัยการจะมีอำนาจแนะนำหรือสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพื่อเอาผิดแก่จำเลยทั้งสองหรือไม่ และคำกล่าวโทษหรือคำร้องทุกข์จะต้องมีรายละเอียดอย่างไร จึงจะทำให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share