คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2163/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อเจ้ามรดกตาย ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 กับพวก เป็นผู้จัดการมรดกในคดีหนึ่งแล้ว ต่อมา อ. ยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้อีกจำเลยที่ 1 กับพวกคัดค้านในที่สุดมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้ อ. เป็นผู้จัดการมรดกโดยศาลพิพากษาให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น การเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงสิ้นสุดลงตามสัญญาดังกล่าวนั้นแล้วดังนั้นเมื่อ อ. ถึงแก่กรรมโจทก์กับพวกซึ่งตามพินัยกรรมเจ้ามรดกระบุให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับ อ. ย่อมร้องขอต่อศาลให้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกในคดีนี้ได้ไม่เป็นร้องซ้ำ
เจ้ามรดกทำพินัยกรรมฉบับแรกระบุให้โจทก์กับพวกเป็นผู้จัดการมรดกต่อมาได้ทำพินัยกรรมอีกฉบับหนึ่งซึ่งมิได้กล่าวถึงการเป็นผู้จัดการมรดกและไม่ได้ระบุไว้ให้ยกเลิกหรือเพิกถอนพินัยกรรมฉบับที่ทำขึ้นก่อนแต่ประการใด ฉะนั้นโจทก์จึงยังมีสิทธิเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมฉบับแรก
แม้โจทก์เคยสละสิทธิเพื่อให้ อ. เป็นผู้จัดการมรดกแต่เมื่อ อ. ถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์ทั้งสองก็มีสิทธิขอเป็นผู้จัดการมรดกได้เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีคุณสมบัติครบถ้วน ทั้งไม่ปรากฏว่าเป็นผู้ที่ไม่เหมาะสม ศาลก็ตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ได้ และแม้โจทก์ที่ 1 จะมีส่วนได้รับทรัพย์มรดกน้อยกว่าจำเลยที่ 2 โจทก์ที่ 1 ก็เป็นทายาทและมีส่วนได้เสียส่วนโจทก์ที่ 2 แม้จะไม่ได้เป็นทายาทและไม่มีสิทธิรับมรดกแต่ก็เป็นผู้ที่เจ้ามรดกระบุไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้จัดการมรดกด้วยผู้หนึ่ง จึงมีสิทธิเป็นผู้จัดการมรดกได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1712 และ มาตรา 1713

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของพระยาอิศรภักดีธรรมวิเทต ผู้วายชนม์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันฟังเป็นยุติได้ว่า พระยาอิศรภักดีธรรมวิเทตได้ทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 19 มกราคม 2503 ระบุให้โจทก์ทั้งสองกับร้อยโทอภัย อิศรภักดี และนางอนันตาภา เนื้อนวลเป็นผู้จัดการมรดก ต่อมาวันที่ 15 พฤษภาคม 2516 ได้ทำพินัยกรรมอีกฉบับหนึ่งเป็นฉบับสุดท้ายแบ่งทรัพย์สินให้ทายาทรวมทั้งโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 2 ด้วยครั้นเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2517 พระยาอิศรภักดีธรรมวิเทตได้ถึงแก่อนิจกรรมศาลได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 กับนายอมร อิศรภักดี เป็นผู้จัดการมรดกตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 7909/2517 ของศาลแพ่ง ต่อมาร้อยโทอภัยอิศรภักดี ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลแต่งตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้อีก จำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 และนายอมร อิศรภักดี ได้คัดค้าน ในที่สุดได้ตกลงประนีประนอมยอมความกัน ยอมให้ร้อยโทอภัย อิศรภักดี เป็นผู้จัดการมรดกของพระยาอิศรภักดีธรรมวิเทต ศาลได้พิพากษาให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความและเมื่อศาลไต่สวนคำร้องขอร้อยโทอภัยผู้ร้องแล้ว ได้มีคำสั่งตั้งให้ร้อยโทอภัยผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของพระยาอิศรภักดีธรรมวิเทต ปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 482/2518 ของศาลแพ่ง เมื่อร้อยโทอภัย อิศรภักดี จัดการแบ่งปันมรดกตามอำนาจหน้าที่อยู่นั้น จำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลถอนร้อยโทอภัย อิศรภักดีออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก โดยอ้างว่าละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่จัดแบ่งปันทรัพย์มรดกให้เสร็จสิ้นตามกำหนดเวลา ศาลแพ่งได้กำหนดให้ร้อยโทอภัย อิศรภักดี จัดแบ่งปันทรัพย์มรดกให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 30 วัน ร้อยโทอภัย อิศรภักดี อุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองกับนายอมร อิศรภักดี ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ร้อยโทอภัย อิศรภักดี ได้ถึงแก่กรรม ศาลฎีกามีคำสั่งจำหน่ายคดี โจทก์จำเลยจึงได้มาพิพาทกันเป็นคดีนี้อีก โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายที่จะเป็นผู้จัดการมรดกได้

ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คำร้องของโจทก์ในคดีนี้เป็นการร้องซ้ำเพราะจำเลยที่ 1 กับนายอมร อิศรภักดี ศาลได้แต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกรายนี้อยู่แล้วตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 7909/2517 ของศาลแพ่งนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อครั้งร้อยโทอภัย อิศรภักดี ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดกนั้น จำเลยทั้งสองและนายอมร อิศรภักดี ได้ยื่นคำร้องคัดค้าน ในที่สุดได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันยอมให้ร้อยโทอภัย อิศรภักดี เป็นผู้จัดการมรดก โดยศาลได้พิพากษาให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นแล้ว ศาลจึงได้ไต่สวนคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของร้อยโทอภัย อิศรภักดีและได้มีคำสั่งตั้งให้ร้อยโทอภัย อิศรภักดี เป็นผู้จัดการมรดกของพระยาอิศรภักดีธรรมวิเทต ปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 482/2518 ของศาลแพ่ง การเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 1 และนายอมร อิศรภักดี จึงได้สิ้นสุดลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นแล้ว ฉะนั้นคำร้องของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นร้องซ้ำ

ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 19 มกราคม 2503 ที่ระบุให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกได้ถูกพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2516เพิกถอนแล้วนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พินัยกรรมฉบับหลังมิได้กล่าวถึงการเป็นผู้จัดการมรดกไว้และไม่ได้ระบุว่าให้ยกเลิกหรือเพิกถอนพินัยกรรมฉบับที่ทำขึ้นก่อนแต่ประการใด ฉะนั้นโจทก์ที่ 1 จึงยังมีสิทธิเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมฉบับแรกอยู่

จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองเคยสละสิทธิการเป็นผู้จัดการมรดกให้ร้อยโทอภัย อิศรภักดี เป็นผู้จัดการมรดกมาแล้ว จึงไม่เหมาะสมที่จะแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกอีกนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าแม้โจทก์ทั้งสองเคยสละสิทธิเพื่อให้ร้อยโทอภัย อิศรภักดี เป็นผู้จัดการมรดกแต่เมื่อร้อยโทอภัยอิศรภักดี ถึงแก่ความตายแล้ว โจทก์ทั้งสองก็มีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้และโจทก์ทั้งสองก็เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายในการที่จะแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าเป็นผู้ที่ไม่เหมาะสมอย่างใดจึงเป็นการเหมาะสมที่จะแต่งตั้งให้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ได้

ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ได้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมมากที่สุด ควรจะได้เป็นผู้จัดการมรดกมากกว่าโจทก์ที่ 1 ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับพินัยกรรม แม้จะได้รับทรัพย์มรดกน้อยกว่าจำเลยที่ 2 โจทก์ก็เป็นทายาทและมีส่วนได้เสีย ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นแต่งตั้งให้โจทก์กับจำเลยที่ 2 ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้จึงเป็นการสมควรแล้ว

ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์ที่ 2 ไม่ได้เป็นทายาท และไม่มีสิทธิรับมรดกจึงไม่สมควรแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห้นว่า โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ที่เจ้ามรดกได้ระบุไว้ในพินัยกรรมลงวันที่ 19 มกราคม 2503ให้เป็นผู้จัดการมรดกด้วยผู้หนึ่ง จึงเป็ผู้มีสิทธิเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1712 และ มาตรา 1713 ฉะนั้นที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ไม่สมควรแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกจึงรับฟังไม่ได้”

พิพากษายืน

Share