คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14783/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยมอบเช็คปลอมให้พนักงานของผู้เสียหายนำไปเบิกเงินจากธนาคารตามเช็คด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือชื่อแท้จริงของ ธ. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วม เงินที่จำเลยได้ไปจึงเป็นเงินของธนาคารมิใช่เงินของโจทก์ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานลักเงินของโจทก์ร่วมแต่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงธนาคาร โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักเงินของโจทก์ร่วม แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาฟังไม่ได้ว่าจำเลยลักเงินโจทก์ร่วม และฟังได้ว่าจำเลยฉ้อโกงธนาคารเป็นความผิดต่อผู้เสียหายต่างคนจากที่โจทก์บรรยายฟ้อง จึงเป็นข้อเท็จจริงแตกต่างจากที่กล่าวในฟ้องในสาระสำคัญ ไม่อาจลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง และไม่อาจสั่งให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ร่วมได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 188, 265, 266, 268, 334 ให้จำเลยใช้หรือคืนเงิน 1,111,500 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทช้างแก้วการเกษตร จำกัด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 266(4), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266(4), 334 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานปลอมตั๋วเงิน ฐานใช้ตั๋วเงินปลอมและฐานลักทรัพย์ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้ตั๋วเงินปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ประกอบมาตรา 266(4) อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 โดยให้วางโทษตามมาตรา 266(4) รวม 11 กระทง จำคุกกระทงละ 4 ปี แต่ความผิดฐานใช้ตั๋วเงินปลอมมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วจึงให้ลงโทษจำคุกจำเลย 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ร่วม 401,500 บาท ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265, 266(4) จำเลยมีความผิดฐานใช้ตั๋วเงินปลอมและฐานลักทรัพย์ รวม 9 กระทง แต่ละกระทงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้ตั๋วเงินปลอม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และมีความผิดฐานใช้ตั๋วเงินปลอม 2 กระทง จำคุก กระทงละ 1 ปี รวม 11 กระทง รวมจำคุก 11 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานใช้ตั๋วเงินปลอมนั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ชอบด้วยเหตุผลแล้ว และไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ดังกล่าว ฎีกาจำเลยจึงไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 219 วรรคสอง และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่า จำเลยมีผิดฐานลักทรัพย์ และให้จำเลยคืนเงิน 401,500 บาท แก่โจทก์ร่วมนั้น เห็นว่า การที่จำเลยมอบเช็คปลอมให้พนักงานของผู้เสียหายนำไปเบิกเงินจากธนาคารตามเช็คด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือชื่อแท้จริงของนายธงชัย กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วม เงินที่จำเลยได้ไปจึงเป็นเงินของธนาคารมิใช่เงินของโจทก์ร่วม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 672 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานลักเงินของโจทก์ร่วม แต่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงธนาคาร โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักเงินของโจทก์ร่วม แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาฟังไม่ได้ว่าจำเลยลักเงินโจทก์ร่วม และฟังได้ว่าจำเลยฉ้อโกงธนาคารเป็นความผิดต่อผู้เสียหายต่างคนจากที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงเป็นข้อเท็จจริงแตกต่างจากที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญไม่อาจลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง และไม่อาจสั่งให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ร่วมได้ ปัญหาเรื่องนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานใช้ตั๋วเงินปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266(4) รวม 11 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี เป็นจำคุก 11 ปี ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 และยกคำขอของโจทก์ส่วนที่ให้บังคับจำเลยใช้หรือคืนเงินแก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share