คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5308/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบพยานหลักฐานให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานมีและฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โจทก์มีหน้าที่นำสืบว่า จำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีและพาอาวุธปืน เมื่อโจทก์ไม่นำสืบจึงไม่สามารถลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ได้
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลย ก็เพื่อนำข้อเท็จจริงมาประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษแก่จำเลย มิใช่มีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบพยานว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ทั้งศาลก็ไม่มีอำนาจสั่งให้ปฏิบัติเช่นนั้นด้วย และแม้ตาม พ.ร.บ.วิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2522 มาตรา 13 ศาลจะมีอำนาจรับฟังรายงานของพนักงานคุมความประพฤติโดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบ แต่ก็เพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องโทษและวิธีการที่จะดำเนินการแก่จำเลยเท่านั้น มิได้เป็นการรับฟังในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่จะนำมาวินิจฉัยการกระทำที่ถูกฟ้องด้วย ศาลจึงนำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติมารับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 มีระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท เพียงสถานเดียว อันเป็นระวางโทษอย่างอื่นนอกจากโทษจำคุก และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 376 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) จำเลยกระทำความผิดวันที่ 16 มกราคม 2548 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 13 กันยายน 2549 จึงเลยกำหนดระยะเวลา 1 ปี คดีของโจทก์สำหรับความผิดทั้งสองมาตราดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 83, 91, 339, 340 ตรี, 371, 376 ให้จำเลยคืนเงิน 2,588 บาท แก่ผู้เสียหายและกำหนดโทษจำเลยที่รอการกำหนดโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 89/2548 ของศาลชั้นต้น แล้วนำมาบวกเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแรก, 340 ตรี, 371, 376 (ที่ถูก ประกอบมาตรา 83) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ เห็นควรลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่หนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ฐานยิงปืนในเมืองโดยใช่เหตุ จำคุก 5 วัน ฐานชิงทรัพย์โดยมีอาวุธปืนและใช้ยานพาหนะ จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 5 ปี 5 วัน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน เขต 6 จังหวัดนครสวรรค์ มีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี ขั้นสูง 5 ปี ให้จำเลยฝึกวิชาชีพ 3 วิชาชีพเป็นอย่างน้อย ให้จำเลยคืนเงิน 2,588 บาท แก่ผู้เสียหาย ยกคำขอที่โจทก์ขอให้กำหนดโทษจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 89/2548 แล้วนับโทษหรือระยะเวลาฝึกอบรมต่อจากคดีดังกล่าว
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 เมื่อลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ที่แก้ไขใหม่ คงปรับ 50 บาท เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุก 3 ปี 5 วัน และปรับ 50 บาท ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน เขต 6 จังหวัดนครสวรรค์ มีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี ขั้นสูง 2 ปี ให้จำเลยฝึกวิชาชีพ 3 วิชาชีพ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 โดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยเป็นคนร้ายร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ผู้เสียหายโดยมีอาวุธปืนและโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแรก 340 ตรี
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ด้วยหรือไม่ เห็นว่า ในคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบพยานหลักฐานให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานมีอาวุธปืนและฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โจทก์มีหน้าที่นำสืบว่า จำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีและพา แม้จะปรากฏจากคำฟ้องว่า จำเลยเป็นเยาวชนและพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 13 (4) บัญญัติห้ามมิให้ออกใบอนุญาตให้แก่บุคคลซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะก็ตาม แต่การที่บุคคลจะบรรลุนิติภาวะหรือไม่ มิได้ขึ้นอยู่กับอายุของผู้นั้นเสมอไป เพราะผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะได้เมื่อทำการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ได้ ดังนั้น โจทก์ก็ต้องมีหน้าที่นำสืบให้ชัดแจ้งว่า จำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้มีและพาอาวุธปืน เมื่อโจทก์ไม่นำสืบจึงไม่สามารถลงโทษจำเลยในฐานความผิดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ได้
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ตามรายงานการสืบเสาะของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครสวรรค์ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยซึ่งเป็นเยาวชนได้จดทะเบียนสมรส อันจะเป็นเหตุให้จำเลยบรรลุนิติภาวะโดยการสมรส เจ้าพนักงานจึงไม่สามารถออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนและพาอาวุธปืนได้นั้น เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยก็เนื่องจากต้องการทราบข้อเท็จจริงเพื่อนำมาประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษแก่จำเลย มิใช่มีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบพยานว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ทั้งศาลก็ไม่มีอำนาจสั่งให้ปฏิบัติเช่นนั้นด้วย ดังนั้น ไม่ว่าจะปรากฏตามรายงานการสืบเสาะและพินิจว่าจำเลยได้จดทะเบียนสมรสแล้วหรือไม่ประการใด ก็เป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยจะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบให้ปรากฏต่อศาล ถึงแม้ตามพระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2522 มาตรา 13 ศาลจะมีอำนาจรับฟังรายงานของพนักงานคุมประพฤติโดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบ แต่ก็เพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องโทษและวิธีการที่จะดำเนินการแก่จำเลยเท่านั้น มิได้เป็นการรับฟังในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่จะนำมาวินิจฉัยการกระทำที่ถูกฟ้องด้วย จึงนำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติมารับฟังเพื่อลงโทษจำเลยไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 มีระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท เพียงสถานเดียว อันเป็นระวางโทษอย่างอื่นนอกจากโทษจำคุก และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 376 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงมีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (5) จำเลยกระทำความผิดวันที่ 16 มกราคม 2548 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 13 กันยายน 2549 จึงเลยกำหนดระยะเวลา 1 ปี คดีของโจทก์สำหรับความผิดทั้งสองมาตราดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 และมาตรา 376 คงจำคุกฐานชิงทรัพย์โดยมีอาวุธปืนและใช้ยานพาหนะตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีกำหนด 3 ปี ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน เขต 6 จังหวัดนครสวรรค์ มีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี ขั้นสูง 2 ปี ให้จำเลยฝึกวิชาชีพ 3 วิชาชีพ แต่มิให้ฝึกอบรมจำเลยเกินกว่าจำเลยมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share