คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11274/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์อ้างในคำฟ้องว่า โจทก์มิใช่บิดาที่แท้จริงของจำเลยที่ 1 แต่ที่จดทะเบียนว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรเพราะสำคัญผิด หากเป็นจริงตามคำฟ้อง โจทก์ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1554 ที่จะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรเพราะเหตุว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขอจดทะเบียนนั้นมิใช่บิดา แต่บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดระยะเวลาให้ฟ้องภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้การจดทะเบียน และห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียน ซึ่งกำหนดระยะเวลาดังกล่าวมิใช่สิทธิเรียกร้องอันเป็นอายุความที่ศาลจะยกมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/29 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียน จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนรับจำเลยที่ 1 เป็นบุตร และถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1561 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของโจทก์ได้ตามกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการรับจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
เลขทะเบียนที่ 15/18 จดทะเบียนวันที่ 12 ธันวาคม 2515 และห้ามมิให้จำเลยทั้งสี่ใช้ชื่อสกุล “พงศ์จรัส” หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ถอนการจดทะเบียนว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของโจทก์ได้หรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1554 บัญญัติว่า “ผู้มีส่วนได้เสียจะขอให้ศาลถอนการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรเพราะเหตุว่าผู้ขอให้จดทะเบียนนั้นมิใช่บิดาก็ได้ แต่ต้องฟ้องภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้การจดทะเบียนนั้น อนึ่ง ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียน” ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์ไม่ใช่บิดาที่แท้จริงของจำเลยที่ 1 แต่โจทก์จดทะเบียนว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรโจทก์โดยสำคัญผิด หากเป็นจริงตามคำฟ้อง โจทก์ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามบทกฎหมายดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดระยะเวลาให้ฟ้องคดีไว้ ซึ่งกำหนดระยะเวลาดังกล่าวมิใช่สิทธิเรียกร้องอันเป็นอายุความที่จะต้องยกขึ้นต่อสู้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/29 เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องปรากฏว่าโจทก์จดทะเบียนว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2515 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2552 จึงเกินเวลา 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียนแล้ว โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องขอให้ถอน การจดทะเบียนรับจำเลยที่ 1 เป็นบุตร ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสี่มีสิทธิใช้ชื่อสกุล “พงศ์จรัส” ซึ่งเป็นชื่อสกุลของโจทก์หรือไม่ ปัญหานี้ศาลล่างทั้งสองมิได้ให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยอันเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 (4) ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยโดยไม่ย้อนสำนวน เมื่อโจทก์ต้องห้ามมิให้ฟ้อง ดังวินิจฉัยมาข้างต้นแล้วต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ ดังนั้น จำเลยที่ 1 มีสิทธิใช้ชื่อสกุล “พงศ์จรัส” ของโจทก์ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1561 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิใช้ชื่อสกุล “พงศ์จรัส” ตามบทกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share