คำวินิจฉัยที่ 58/2555

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๘/๒๕๕๕

วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๕

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดนนทบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนนทบุรีส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๗ นายอรุณ อยู่อินทร์ โจทก์ ยื่นฟ้องบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ ๑ บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนนทบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ น. ๒๑๘/๒๕๔๗ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน โฉนดเลขที่ ๒๖๖๖๗ ตำบลบางเลน (บางนางเกริก) อำเภอบางใหญ่ (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ประมาณ ๒๖ ตารางวา ตั้งอยู่ริมถนนสายบางกรวย-ไทรน้อย เมื่อประมาณปี ๒๕๓๗ จำเลยที่ ๑ ซึ่งได้รับสัมปทานในการให้ บริการโทรศัพท์พื้นฐานจากจำเลยที่ ๒ ได้ก่อสร้างท่อวางสายโทรศัพท์และก่อสร้างบ่อพักท่อวางสายโทรศัพท์รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ทั้งนี้ การที่จำเลยที่ ๑ ทำการก่อสร้างบ่อพักและวางสายโทรศัพท์รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์เป็นการก่อสร้างตามแผนงานที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ทำสัญญาข้อตกลงกันไว้และมีผลประโยชน์จากการใช้บ่อพักและสายโทรศัพท์นั้นร่วมกัน ต่อมาประมาณกลางปี ๒๕๔๖ โจทก์ได้ตรวจสอบที่ดินของโจทก์จึงพบว่าจำเลยที่ ๑ ได้เข้ามาทำการวางสายโทรศัพท์และก่อสร้างบ่อพักสายโทรศัพท์ดังกล่าวในที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ได้ โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองทำการรื้อถอนสายโทรศัพท์และบ่อพักสาย โทรศัพท์ออกไปจากที่ดินของโจทก์ และทำให้ที่ดินของโจทก์อยู่ในสภาพเรียบร้อยเหมือนเดิม กับชดใช้ค่าเสียหาย ค่าขาดประโยชน์จากการใช้สอยที่ดินของโจทก์ แต่จำเลยทั้งสองยังคงเพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่เป็นท่อวางสายโทรศัพท์ บ่อพักสายโทรศัพท์และสายโทรศัพท์ที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ และทำที่ดินให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสองเอง หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้โจทก์มีอำนาจเข้าทำการรื้อถอนเอง และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ต้องใช้จ่ายไปในการรื้อถอนจนกว่าชำระเสร็จ พร้อมทั้งให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ค่าขาดประโยชน์ และค่าที่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินแก่โจทก์จำนวน ๑,๐๘๐,๐๐๐ บาท และเดือนละ ๑๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะได้ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือจนกว่าโจทก์ได้ทำการรื้อถอนเสร็จสิ้น
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ เป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ ๒ ในการขยายการให้บริการโทรศัพท์ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กรมทางหลวงอนุญาตให้ก่อสร้างท่อร้อยสายโทรศัพท์ใต้ดิน ดันท่อลอดและบ่อพักในเขตทางหลวงหมายเลข ๓๒๑๕ ตามคำขอของจำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๒ มอบหมายให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง และได้ทำการก่อสร้างในเขตที่ดินของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๒๑๕ มิได้ก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์แต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า สัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ เป็นสัญญาทางปกครอง เมื่อจำเลยที่ ๑ ดำเนินการติดตั้งข่ายสายรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของเอกชนทำให้ได้รับความเสียหาย ถือเป็นการใช้อำนาจทางปกครองในการจัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค จึงเป็นการกระทำละเมิดอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามที่กฎหมายกำหนด คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง จำเลยที่ ๑ ได้ทำการก่อสร้างในเขตที่ดินของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๒๑๕ มิได้บุกรุกหรือรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์แต่อย่างใด คำฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนนทบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า มูลคดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งสองบุกรุกเข้าไปก่อสร้างบ่อพักท่อวางสายโทรศัพท์คอนกรีตและวางสายโทรศัพท์ในที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้รื้อถอนออกไปและชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ได้ทำการก่อสร้างท่อร้อยสายโทรศัพท์ใต้ดินและบ่อพักลงในเขตทางหลวงไม่ได้บุกรุกหรือรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ จึงเป็นการโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่า เป็นที่ดินในเขตทางหลวงหรือเป็นที่ดินของโจทก์ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ จึงจะสามารถพิจารณาเกี่ยวกับความเสียหายของโจทก์และข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองว่าไม่ได้กระทำตามที่โจทก์กล่าวหาในคดีนี้ต่อไป ซึ่งการพิจารณาสิทธิในที่ดินระหว่างคู่ความเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน ดังนั้น การโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล จึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใด อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง คดีนี้จำเลยที่ ๒ ได้รับโอนกิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิดและทรัพย์สินขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยทั้งหมดมาเป็นของจำเลยที่ ๒ โดยคณะรัฐมนตรีมิได้ตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อจำกัด อำนาจ สิทธิ หรือประโยชน์ที่จำเลยที่ ๒ ได้รับโอนมาจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย อำนาจทางปกครองขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ และมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติโทรเลขและโทรศัพท์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ จึงโอนมาเป็นอำนาจทางปกครองของจำเลยที่ ๒ ด้วย แม้โดยทั่วไปจำเลยที่ ๒ จะมีสถานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัดก็ตาม แต่ในการดำเนินกิจการโทรศัพท์เพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชน ซึ่งมีการใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองเพื่อให้บริการสาธารณะบรรลุผลแล้ว ถือว่าจำเลยที่ ๒ เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง และมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนจำเลยที่ ๑ แม้ว่าได้จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนจำกัดตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕ และการดำเนินกิจการของจำเลยที่ ๑ โดยทั่วไปเป็นการดำเนินกิจการของเอกชนก็ตาม แต่การดำเนินการของจำเลยที่ ๑ อันเป็นเหตุพิพาทในคดีนี้เป็นกรณีที่จำเลยที่ ๑ เป็นคู่สัญญาร่วมการงานกับจำเลยที่ ๒ ในการขยายการให้บริการโทรศัพท์ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งสัญญาดังกล่าวมีลักษณะที่ให้จำเลยที่ ๑ ร่วมจัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ จึงถือว่าจำเลยที่ ๑ ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติโทรเลขและโทรศัพท์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ แทนจำเลยที่ ๒ เพื่อให้บริการสาธารณะบรรลุผลด้วย ดังนั้น การก่อสร้างท่อวางสายโทรศัพท์และบ่อพักท่อวางสายโทรศัพท์ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองในการดำเนินกิจการโทรศัพท์อันเป็นบริการสาธารณะตามที่กฎหมายกำหนด กรณีตามฟ้องของโจทก์จึงมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติโทรเลขและโทรศัพท์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ ซึ่งเป็นคดีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) ประกอบมาตรา ๗๑ (๑) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว และกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลยุติธรรมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
สำหรับประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า ที่พิพาทเป็นเขตทางหลวงหรือเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของโจทก์นั้น เป็นเพียงปัญหาข้อเท็จจริงที่ใช้ประกอบการพิจารณาในข้อหาการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายซึ่งการดำเนินกระบวนพิจารณารับฟังพยานหลักฐานในคดีของศาลปกครองเพื่อพิจารณาในประเด็นดังกล่าวย่อมต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ตามมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว โดยโจทก์และจำเลยทั้งสองมีสิทธิชี้แจงและแสดงพยานหลักฐานประกอบคำชี้แจงของตนเพื่อยืนยันหรือหักล้างข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และศาลปกครองมีอำนาจตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงได้ตามความเหมาะสม ตามมาตรา ๕๕ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน แม้การพิจารณาในเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปก็ตาม แต่การนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด อีกทั้ง ไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลหนึ่งศาลใดที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทของคดีไว้โดยเฉพาะ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประมวลกฎหมายที่ดินมาใช้ในการวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีได้
เมื่อโจทก์อ้างว่าการที่จำเลยทั้งสองดำเนินกิจการตามอำนาจหน้าที่วางสายโทรศัพท์และก่อสร้างบ่อพักสายโทรศัพท์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการฟ้องว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์และทำให้โจทก์เสียหาย ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดทางปกครองของหน่วยงานทางปกครอง อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประกอบมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) พระราชบัญญัติตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยที่ ๒ จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ก็ตาม แต่ตาม คำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๖๖๖๗ ตำบลบางเลน (บางนางเกริก) อำเภอบางใหญ่ (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ประมาณ ๒๖ ตารางวา ตั้งอยู่ริมถนนสายบางกรวย-ไทรน้อย แต่ถูกจำเลยที่ ๑ ซึ่งได้รับสัมปทานในการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานจากจำเลยที่ ๒ ก่อสร้างท่อวางสายโทรศัพท์และก่อสร้างบ่อพักท่อวางสายโทรศัพท์รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ได้ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกัน รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่เป็นท่อวางสายโทรศัพท์ บ่อพักสายโทรศัพท์และสายโทรศัพท์ที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ และทำที่ดินให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย และให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ค่าขาดประโยชน์ และค่าที่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินแก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ เป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ ๒ ในการขยายการให้บริการโทรศัพท์ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กรมทางหลวงอนุญาตให้ก่อสร้างท่อร้อยสายโทรศัพท์ใต้ดิน ดันท่อลอดและบ่อพักในเขตทางหลวงหมายเลข ๓๒๑๕ ตามคำขอของจำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๒ มอบหมายให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง และได้ทำการก่อสร้างในเขตที่ดินของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๒๑๕ มิได้ก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์แต่อย่างใด และจำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ได้ทำการก่อสร้างในเขตที่ดินของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๒๑๕ มิได้บุกรุกหรือรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์แต่อย่างใด คำฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่กล่าวอ้าง หรือเป็นทางสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายอรุณ อยู่อินทร์ โจทก์ บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ ๑ บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share