คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1100/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บัญชีอัตราภาษีการค้า ประเภท 1 ชนิด 6 กำหนดให้รายรับที่ได้จากการขายสมุด เอกสารหรือสิ่งตีพิมพ์ ผู้ขายทอดแรกต้องนำมาคำนวณเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 1.5 ส่วนข้อยกเว้นตามมาตรา 79 ตรี(7)กำหนดให้รายรับจากการขายหนังสือพิมพ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข่าวสารที่จำหน่ายแก่สาธารณชน ไม่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีการค้า หนังสือนิตยสารสาวสยามของโจทก์มีเนื้อหาที่เป็นนวนิยาย มากกว่าข่าวสารจึงมิใช่หนังสือพิมพ์ที่ส่วนใหญ่เป็นข่าวสาร ไม่ได้รับยกเว้นภาษีการค้าตามมาตรา 79 ตรี(7) โจทก์ต้องนำรายรับจากการจำหน่ายหนังสือดังกล่าวมารวมคำนวณเสียภาษีการค้าประเภท 1 ชนิด 6 บัญชีคุมสินค้าของโจทก์มิได้ระบุว่ามีหนังสือคงเหลือ การที่จำเลยประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์เพิ่มโดยถือว่าโจทก์รับหนังสือที่เหลือจากการขายคืนมาเป็นจำนวนร้อยละ 20 และขายได้กิโลกรัมละ 1 บาท โดยอาศัยตัวเลขจากถ้อยคำของผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ได้ให้ไว้ในชั้นไต่สวน จึงชอบด้วยกฎหมาย หลักฐานทะเบียนรถยนต์หาใช่เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ของรถยนต์ไม่ แม้ทะเบียนรถยนต์จะระบุว่าโจทก์เพิ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2525 แต่หาต้องฟังเป็นเด็ดขาดตามนั้นเสมอไปไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันพิพาทตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2520รายจ่ายที่เกี่ยวกับรถยนต์พิพาทนับแต่วันดังกล่าวจึงมิใช่รายจ่ายที่กำหนดขึ้นเอง ตามมาตรา 65 ตรี ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ ในข้อที่เป็นปัญหาข้อเท็จจริง โดยมิได้สั่งในวันที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ และไม่แจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบเมื่ออุทธรณ์ดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 25 จึงไม่มีเหตุต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลภาษีอากรกลางแจ้งคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ให้โจทก์ทราบอีกเพราะไม่ทำให้ผลของคำสั่งศาลชั้นต้นเปลี่ยนแปลงไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ตามแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้า ภ.ค.8 สำหรับปีภาษี 2523-2525 และตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับปีภาษี 2523-2525 กับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2536 ให้โจทก์เสียภาษีการค้าเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาล กับภาษีเงินได้นิติบุคคลพร้อมเงินเพิ่ม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 923,708.46 บาท นั้น เป็นการดำเนินการถูกต้องตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมสำหรับปีภาษี พ.ศ. 2523 เป็นเงิน 2,674.62 บาทให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานประเมินแบบ ภ.ค.8ที่ 1041/3/05699-05701 ลงวันที่ 31 มกราคม 2529 คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ 38 ก./2536/1 ลงวันที่ 3กุมภาพันธ์ 2536 ให้เพิกถอนบางส่วนสำหรับหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 1041/2/03238-03240 ลงวันที่ 31 มกราคม 2529 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 37 ก./2536/1 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2536 ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินที่โจทก์วางไว้ ส่วนที่เหลือจากที่โจทก์ต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมสำหรับปีภาษี พ.ศ. 2523 เป็นเงิน926,383.08 บาท ส่วนดอกเบี้ยที่โจทก์ขอมาไม่มีเหตุสมควรพิจารณาให้เพราะโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีนิติบุคคลได้โดยไม่ต้องชำระก่อนอยู่แล้วและไม่มีเหตุอันใดที่จะต้องวางเกินกว่าจำนวนที่ต้องรับผิดตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกว่า หนังสือนิตยสารสาวสยามของโจทก์ต้องเสียภาษีการค้าตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น คือ บัญชีอัตราภาษีการค้า ประเภท 1 ชนิด 6 หรือได้รับยกเว้นตามประมวลรัษฎากรมาตรา 79 ตรี(7) เห็นว่า บัญชีอัตราภาษีการค้าประเภท 1 ชนิด 6กำหนดให้รายรับที่ได้จากการขายสมุด เอกสาร หรือสิ่งตีพิมพ์ผู้ขายทอดแรกต้องนำมาคำนวณเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 1.5ส่วนข้อยกเว้นตามมาตรา 79 ตรี(7) กำหนดให้รายรับจากการขายหนังสือพิมพ์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข่าวสารที่จำหน่ายแก่สาธารณชนไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีการค้า ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าหนังสือนิตยสารสาวสยามของโจทก์เป็นหนังสือพิมพ์ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ข่าวสารที่จำหน่ายแก่สาธารณชนหรือไม่ ได้ความจากการนำสืบของโจทก์ว่าหนังสือนิตยสารสาวสยามออกจำหน่ายเป็นรายปักษ์ เป็นหนังสือประเภทข่าวสารและบันเทิง โจทก์มีนายสุทธิพงศ์ คุปต์กานต์ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ไปชี้แจงในชั้นตรวจสอบภาษีเป็นพยานเบิกความว่า หนังสือนิตยสารสาวสยามมีข่าวสารมากกว่าเรื่องเริงรมย์ได้รับยกเว้นภาษีการค้าพยานได้นำหนังสือดังกล่าว 12 เล่ม พร้อมใบอนุญาตไปให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ดูตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่20 ซึ่งหนังสือที่นำส่งเป็นหนังสือรุ่นใหม่เพราะรุ่นเก่าไม่มีได้ตรวจดูเอกสาร จ.1 แผ่นที่ 20 แล้ว เป็นหนังสือของกรรมการผู้จัดการบริษัทศรีเมืองการพิมพ์จำกัด ส่งข้อมูลของหนังสือนิตยสารสาวสยามให้แก่เจ้าพนักงานประเมินเป็นหนังสือฉบับที่ 238 ถึงฉบับที่ 249 รวม 12 ฉบับ โดยระบุว่าหนังสือทุกฉบับนั้นมีปริมาณข่าวสารระหว่าง 1,631.0 คอลัมน์นิ้ว ถึง 1,883.0 คอลัมน์นิ้วส่วนเรื่องเริงรมย์ มีระหว่าง 877.0 คอลัมน์นิ้วถึง 1,129.0คอลัมน์นิ้ว การคิดปริมาณข่าวสารกับปริมาณเรื่องเริงรมย์ เป็นคอลัมน์นิ้วมีวิธีคิดอย่างไรและอะไรที่คิดเป็นข่าวสารหรือเรื่องเริงรมย์ ไม่ปรากฎจากการนำสืบของโจทก์ ทั้งโจทก์ก็มิได้อ้างส่งตัวอย่างหนังสือนิตยสารสาวสยามมาเป็นพยานที่ศาลทางนำสืบของฝ่ายโจทก์จึงยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่าในหนังสือดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นข่าวสารหรือไม่ อันจะทำให้เข้าข้อยกเว้น ตามมาตรา 79 ตรี(7)ข้างต้น ส่วนจำเลยมีนางสาวจิรวดี นิธิปรีชานนท์เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี 6 ผู้ทำการตรวจสอบภาษีโจทก์เบิกความว่าผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ได้มอบหลักฐานและตัวอย่างหนังสือนิตยสารสาวสยามมาให้ พยานตรวจสอบแล้วทำรายงานการตรวจสอบเสนอสรรพากรเขตพื้นที่ 3 ปรากฎตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 81ถึง 113 ได้ตรวจดูเอกสารดังกล่าวแผ่นที่ 102 แล้ว ระบุว่าประเด็นการตรวจสอบรายรับจากการทำหนังสือสาวสยาม เป็นนิตยสารรายปักษ์ออกเดือนละ 2 ครั้ง สาระในหนังสือส่วนใหญ่เป็นนวนิยาย มากกว่า50 เปอร์เซ็นต์ จึงเข้าลักษณะเป็นผู้ประกอบการค้าประเภทกการขายของชนิด 6 สิ่งตีพิมพ์ ต้องเสียภาษีการค้าในอัตรา 1.5เปอร์เซ็นต์ ของรายรับนอกจากนั้นจำเลยยังมีเอกสารเกี่ยวกับการประเมินของเจ้าพนักงานคนเดียวกันนี้ระบุรายละเอียดว่าหนังสือนิตยสารสาวสยามมีทั้งหมด 92 หน้า แบ่งเป็นรายละเอียดคือ
นวนิยาย 51 หน้า คิดเป็น 55.43 เปอร์เซ็นต์
แฟชั่น 13 หน้า คิดเป็น 14.14 เปอร์เซ็นต์
ข่าวสาร 28 หน้า คิดเป็น 30.43 เปอร์เซ็นต์
รวม 92 หน้า 100 เปอร์เซ็นต์ ตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 110ที่โจทก์อ้างว่ารายละเอียดดังกล่าวไม่ถูกต้องตรงกับตัวอย่างหนังสือที่ส่งให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น เป็นการอ้างลอย ๆ ทั้งโจทก์มิได้นำสืบอ้างส่งหนังสือนิตยสารสาวสยามดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ถึงแม้จะไม่มีหนังสือดังกล่าวที่พิมพ์ออกจำหน่ายเมื่อปี 2523-2526 ก็อาจส่งหนังสือใหม่มาเป็นตัวอย่างได้ เพราะโจทก์เองรับว่าได้ให้บริษัทศรีเมืองการพิมพ์ จำกัด พิมพ์จำหน่ายต่อมา และได้ความจากพยานโจทก์คือ นายสุทธิพงศ์ คุปต์กานต์ กับนางสาวลลิตา คมอำนาจสกุลว่าหนังสือนิตยสารสาวสยามนี้ปัจจุบัน (ปี 2537) ยังคงมีรูปเล่มและเนื้อหาเหมือนเดิม และจำหน่ายราคาเล่มละ 15 บาท โดยมีการปรับราคามาหลายครั้ง การที่โจทก์ไม่ส่งนิตยสารดังกล่าวมาเป็นพยานเอกสารจึงส่อพิรุธ ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าเจ้าหน้าที่ทำรายละเอียดข้างต้นไม่ถูกต้องจึงไม่น่าเชื่อ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าหนังสือนิตยสารสาวสยามของโจทก์มิใช่หนังสือพิมพ์ที่ส่วนใหญ่เป็นข่าวสาร แต่กลับมีเนื้อหาที่เป็นนวนิยาย มากกว่าข่าวสารจึงไม่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 79 ตรี(7) โจทก์ต้องนำรายรับจากการจำหน่ายหนังสือดังกล่าวมารวมคำนวณเสียภาษีการค้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภท 1 ชนิด 6 การประเมินภาษีการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยชอบแล้วที่ศาลชั้นต้นให้เพิกถอนการประเมินไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสี่ฟังขึ้น
ประเด็นข้อต่อไปมีว่า การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มสำหรับปีภาษี พ.ศ. 2523-2525 ชอบหรือไม่ ปัญหาแรกได้แก่การประเมินรายได้จากการขายหนังสือเก่าที่โจทก์รับคืนมาว่ามีจำนวนเท่าใด จำเลยที่ 1 ประเมินโดยถือตัวเลขว่าโจทก์รับหนังสือที่เหลือจากการขายคืนมาเป็นจำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ และนำมาขายได้กิโลกรัมละ 1 บาท เป็นเงินรายรับที่โจทก์มิได้นำมารวมคำนวณภาษีเป็นเงิน 8,255 บาท เห็นว่าในชั้นตรวจสอบครั้งแรกโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายอดุลย์ กรณธรรม ไปให้ถ้อยคำแก่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2527 เกี่ยวกับปัญหานี้ว่า เมื่อขายหนังสือนิตยสารสาวสยามไม่หมด โจทก์ก็จะรับคืนหนังสือที่รับคืนมาประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ จะนำไปขายกิโลกรัมละ 1 บาทปรากฎตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 109 ครั้งที่สองโจทก์มอบอำนาจให้นายสุทธิพงศ์ คุปต์กานต์ ไปให้ถ้อยคำเมื่อวันที่11 กันยายน 2528 ว่า หนังสือนิตยสารสาวสยามที่เหลือจากการขายโจทก์จะรับคืน มีคืนมาต่ำสุด 20 เปอร์เซ็นต์ โจทก์นำมาชั่งขายกิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 50 สตางค์ ทั้งข้อเท็จจริงปรากฎในชั้นไต่สวนว่าบัญชีคุมสินค้าของโจทก์มิได้ระบุว่ามีหนังสือคงเหลือแต่ประการใด ดังนั้นการที่จำเลยประเมินรายรับการขายหนังสือที่โจทก์รับคืนมาดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นการประเมินโดยอาศัยตัวเลขจากถ้อยคำที่ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้ให้ไว้ในชั้นไต่สวน สำหรับโจทก์ก็มิได้นำสืบว่าการประเมินดังกล่าวไม่ชอบตรงไหนอย่างไร จึงเห็นว่าการประเมินดังกล่าวชอบแล้วที่ศาลชั้นต้นให้แก้ไขการประเมินในส่วนนี้ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังขึ้น ปัญหาประการสุดท้ายมีว่าค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน6ม-9623 กรุงเทพมหานคร ระหว่างปี 2523-2525 เป็นรายจ่ายที่กำหนดขึ้นเองจึงต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรีหรือไม่ ปัญหานี้จำเลยที่ 1 ประเมินโดยอาศัยหลักฐานคือทะเบียนของรถยนต์คันดังกล่าว ตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 117 ที่ระบุว่าโจทก์เพิ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2525รายจ่ายที่มีมาก่อนหน้านั้นจึงถือเป็นรายจ่ายไม่ได้ เห็นว่า หลักฐานทะเบียนรถยนต์หาใช่เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ของรถยนต์ไม่ ดังนั้นเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 117 อันเป็นทะเบียนรถยนต์คันหมายเลข6ม-9623 กรุงเทพมหานคร ระบุวันเดือนปีที่โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครอง จึงหาต้องฟังเป็นเด็ดขาดตามนั้นเสมอไปไม่ ทั้งโจทก์ก็ได้โต้แย้งในชั้นตรวจสอบว่ารายจ่ายเกี่ยวกับรถยนต์คันดังกล่าวโจทก์ได้จ่ายไปจริง ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 32 ในชั้นพิจารณาโจทก์ก็นำสืบว่าโจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถคันดังกล่าวมาตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2520 ตามทะเบียนรถฉบับเดิมที่รายการจดทะเบียนเต็มตามเอกสารหมาย จ.3 และได้ออกเป็นฉบับใหม่ตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 117 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่ารายจ่ายเกี่ยวกับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 6ม-9623 กรุงเทพมหานครมิใช่รายจ่ายที่โจทก์กำหนดขึ้นเอง ไม่ต้องด้วยมาตรา 65 ตรี ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการประเมินในส่วนนี้ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับข้อที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสี่คืนเงินที่โจทก์ได้วางไว้จำนวน 923,708.46 บาท ด้วยนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์จะต้องชำระภาษีตามที่ถูกประเมินแก่จำเลยที่ 1 เป็นส่วนใหญ่ โดยจะต้องมีการคิดคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลใหม่ตามคำพิพากษานี้ และจำเลยที่ 1ไม่มีสิทธิยึดเงินจำนวนดังกล่าวไว้ หากมีเหลือจากการหักชำระภาษีที่ประเมิน จึงต้องคืนส่วนที่เหลือนั้นแก่โจทก์
อนึ่ง ข้อที่โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางที่วินิจฉัยให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลปีภาษี 2523 จากการขายหนังสือเก่าไม่นำมาลงบัญชีรวมเป็นเงินภาษี 2,674.62 บาทศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งว่า อุทธรณ์นั้นต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 25จึงไม่รับคืนค่าขึ้นศาลนั้น ศาลภาษีอากรกลางมิได้สั่งในวันที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์และยังไม่แจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบ ศาลฎีกาได้ตรวจอุทธรณ์ของโจทก์แล้วเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงเป็นอุทธรณ์ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 มาตรา 25 กรณีจึงไม่มีเหตุต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลภาษีอากรกลางแจ้งคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ให้โจทก์ทราบอีก เพราะไม่ทำให้ผลของคำสั่งศาลชั้นต้นเปลี่ยนแปลงไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินตามแบบ ภ.ค. 8 ที่ 1041/3/05699-05701ลงวันที่ 31 มกราคม 2529 คำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 38 ก./2536/1 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2536 การประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 1041/2/03238-03240 ลงวันที่ 31 มกราคม 2529 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 37 ก/2536/1 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2536 กรณีรายได้จากจำนวนหนังสือที่รับคืน ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวนที่โจทก์วางไว้แก่โจทก์หลังจากหักเงินค่าภาษีอากรที่โจทก์จะต้องชำระแก่จำเลยที่ 1 แล้ว นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share