คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9378/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาการสอบสวนคดีอาญาเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการตามที่เห็นสมควรภายในขอบเขตบทบัญญัติแห่งกฎหมายในการสอบสวนคดีนี้ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้กระทำผิดกฎหมายหรือผิดหน้าที่อย่างใดทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็มิได้บัญญัติห้ามมิให้บุคคลอื่นหรือพยานปากอื่นเข้าฟังการสอบสวนดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนปากคำพยานโจทก์ทั้งห้าปากพร้อมกันและพันตำรวจโทอ.พยานโจทก์ปากหนึ่งตรวจดูบันทึกคำให้การพยานโจทก์ชั้นสอบสวนทุกปาก พร้อมทั้งนั่งฟังการสอบสวนด้วยจึงหาทำให้การสอบสวนเสียไปไม่ โทษฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา288กำหนดโทษไว้เป็น3ประการคือโทษประหารชีวิตจำคุกตลอดชีวิตและจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปีโดยให้ศาลเลือกพิจารณาลงโทษตามความเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีในคดีนี้เป็นการพยายามกระทำความผิดต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นที่กำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้นซึ่งศาลชั้นต้นได้พิจารณาเลือกกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยคือโทษตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปีฉะนั้นโทษสูงสุดของอัตราโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้20ปีดังกล่าวที่สามารถจะลงโทษในข้อหาฐานพยายามได้ในกรณีนี้คือ13ปี4เดือนการที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยข้อหาฐานพยายามฆ่า15ปีและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจึงเป็นการลงโทษเกินสองในสามส่วนของโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สมควรแก้ไขโทษเสียให้เป็นการถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80
จำเลย ให้การ ปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายดำรงค์ สุขสำราญผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 จำคุก 15 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามมาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในชั้นนี้โดยคู่ความมิได้โต้เถียงกันว่า เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2535 เวลาประมาณ22 นาฬิกา จำเลยได้ใช้อาวุธมีดปลายแหลมตัวมีดยาว 7 นิ้วกว้าง 2 นิ้ว แทงนายดำรงค์ สุขสำราญโจทก์ร่วมได้รับบาดเจ็บปรากฏตามผลการชันสูตรบาดแผลเอกสารหมาย จ.5 ท้ายคำฟ้อง คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การสอบสวนคดีนี้ของพนักงานสอบสวนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่าพนักงานสอบสวนสอบปากคำพยานโจทก์ทั้งปากพร้อมกัน และพันตำรวจโทอนันต์พยานโจทก์ปากหนึ่งตรวจดูบันทึกคำให้การพยานโจทก์ชั้นสอบสวนทุกปาก พร้อมทั้งนั่งฟังการสอบสวนด้วย เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การสอบสวนคดีอาญาเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการตามที่เห็นสมควรภายในขอบเขตบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ในการสอบสวนคดีนี้ไม่ปรากฎว่าพนักงานสอบสวนได้กระทำผิดกฎหมาย หรือผิดหน้าที่อย่างใด ทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็มิได้บัญญัติห้ามมิให้บุคคลอื่นหรือพยานปากอื่นเข้าฟังการสอบสวนจึงหาทำให้การสอบสวนเสียไปไม่และวินิจฉัยต่อไปว่า โทษฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 กำหนดโทษไว้เป็น 3 ประการ คือ ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต และจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปีโดยให้ศาลเลือกพิจารณาลงโทษตามความเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี สำหรับข้อเท็จจริงในคดีนี้เป็นการพยายามกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นที่กำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิจารณาเลือกกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยคือโทษตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี ฉะนั้นโทษสูงสุดของอัตราโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ 20 ปี ดังกล่าวที่สามารถจะลงโทษในข้อหาฐานพยายามได้ในกรณีนี้คือ 13 ปี 4 เดือนการที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยข้อหาฐานพยายามฆ่า 15 ปี และศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จึงเป็นการลงโทษเกินสองในสามส่วนของโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เห็นเป็นการสมควรแก้ไขโทษเสียให้เป็นการถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 12 ปี ลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม เป็นจำคุก 8 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share