แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. ได้ทำสัญญาการโอนกิจการกับผู้คัดค้านโดยตกลงโอนสินทรัพย์ทุกชนิด หนี้สินและภาระผูกพันทั้งหมดซึ่งรวมทั้งหนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยที่ 7 ค้างชำระบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. แก่ผู้คัดค้านแล้ว สิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าวย่อมตกเป็นของผู้คัดค้าน ทั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครแล้ว ดังนั้น ผู้ชำระบัญชีบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. จึงไม่มีอำนาจมอบอำนาจให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินแทน
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 7 ร่วมกันชำระเงิน 4,752,222.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 2,860,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 7 ไม่ชำระ โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 8534 ของจำเลยที่ 7 ขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา
จำเลยที่ 7 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการยึดและเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวข้างต้น
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2547 บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด โอนกิจการทั้งหมดแก่ผู้คัดค้านรวมทั้งหนี้ตามคำร้อง แล้วบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด จดทะเบียนเลิกบริษัท เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2547 นายเจริญจิตร ผู้ชำระบัญชีบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด มอบอำนาจให้ (ว่าที่) ร้อยตรีภพพรหม ทำการบังคับคดีโดยชอบ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาทำการยึดที่ดินของจำเลยที่ 7 ตามคำร้องโดยชอบ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอเพิกถอนการยึดทรัพย์ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2550 และคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนศาลพิพากษาหรือมีคำสั่ง ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 ของจำเลยที่ 7 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 7 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 8534 ของจำเลยที่ 7 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 7 ถึงแก่ความตาย นายธันว์ ผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 7 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 7 เป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาแล้วไม่ชำระหนี้ ต่อมาบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด เข้าสวมสิทธิในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2547 บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ทำสัญญาการโอนกิจการรวมทั้งหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด และเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2547 บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด จดทะเบียนเลิกบริษัทต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ต่อมาวันที่ 1 มกราคม 2549 นายเจริญจิตร ผู้ชำระบัญชีบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด มอบอำนาจให้ (ว่าที่) ร้อยตรีภพพรหม ดำเนินการบังคับคดี และเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2549 (ว่าที่) ร้อยตรีภพพรหมนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 8534 เพื่อนำมาขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ยังอยู่ในฐานะเจ้าหนี้จำเลยที่ 7 ตามคำพิพากษาผู้สวมสิทธิโจทก์และมีอำนาจดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์จำเลยที่ 7 มาขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ได้ทำสัญญาการโอนกิจการกับผู้คัดค้านโดยตกลงโอนสินทรัพย์ทุกชนิด หนี้สินและภาระผูกพันทั้งหมดซึ่งรวมทั้งหนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยที่ 7 ค้างชำระบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด แก่ผู้คัดค้านแล้ว สิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าวย่อมตกเป็นของผู้คัดค้าน ทั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครแล้ว ดังนั้น ผู้ชำระบัญชีบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด จึงไม่มีอำนาจมอบอำนาจให้ (ว่าที่) ร้อยตรีภพพรหมบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินแทนตามคำร้องของจำเลยที่ 7 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ