แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสามมิได้มีเจตนาทุจริตที่จะร่วมกันลักเงินของผู้เสียหาย เนื่องจากสนิทสนมกันเป็นญาติและเป็นเพื่อนกัน ทั้งเกิดความคึกคะนองตามประสาของวัยรุ่นและขณะนั้นก็นั่งดื่มสุราอยู่ด้วยกันจนหมด จึงน่าจะช่วยกันออกเงินค่าสุราบ้างเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 พูดขอเงินหลายครั้งแล้ว แต่ผู้เสียหายไม่ให้ จึงได้ถือวิสาสะเข้าค้นตัวผู้เสียหายเพื่อค้นเอาเงิน จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพียงแต่จับแขนขาของผู้เสียหายไว้แน่นเท่านั้น ไม่ได้ทำร้าย ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่เข้ายึดแขนขาของผู้เสียหายเป็นเพียงการยึดตัวผู้เสียหายให้อยู่นิ่งเพื่อให้จำเลยที่ 1 ค้นตัวได้สะดวกเท่านั้นการกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้เสียหายต้องจำยอมให้จำเลยทั้งสามค้นตัวและเอาเงินไป มิใช่ความผิดฐานปล้นทรัพย์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 340 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 900 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ขณะกระทำความผิด จำเลยที่ 2 และที่ 3 อายุ 19 ปี เห็นควรลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 6 ปี 8 เดือน ทางนำสืบของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง เห็นควรลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 7 ปี 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 4 ปี 12 เดือน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 900 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี และปรับ 3,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 8 เดือน และปรับคนละ 2,000 บาท เมื่อลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 9 เดือน และปรับ 2,250 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 6 เดือน และปรับคนละ 1,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยทั้งสามฟังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นและคำขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 900 บาท แก่ผู้เสียหายให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายยุทธนา ผู้เสียหายเบิกความว่า วันเกิดเหตุผู้เสียหายไปหาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่บ้านเมื่อพบแล้วก็เดินไปบ้านของจำเลยที่ 1 และร่วมวงดื่มสุรากับจำเลยทั้งสามและนายวิเชียร โดยมีภริยาของจำเลยที่ 1 นั่งอยู่ด้วย เมื่อผู้เสียหายลุกเข้าห้องน้ำกลับมา จำเลยที่ 1 ถามว่า “มีตังค์หรือเปล่า” ผู้เสียหายตอบว่า “ไม่มี” จำเลยที่ 1 ถามย้ำประโยคเดิมอีกครั้งหนึ่งผู้เสียหายยังคงตอบว่า “ไม่มี” จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้ามาจับตัวผู้เสียหายแล้วจำเลยที่ 1 ล้วงกระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหายจากกระเป๋ากางเกงเปิดเอาเงินไป 900 บาท ผู้เสียหายขอคืน จำเลยที่ 1 ไม่ให้ ส่วนนายวิเชียร ประจักษ์พยานโจทก์ที่นั่งดื่มสุราอยู่ด้วยกันเบิกความว่า เมื่อนั่งดื่มไปสักพักสุราหมด จำเลยที่ 1 ถามเพื่อนที่ร่วมนั่งดื่มสุราด้วยกันว่าใครมีเงินบ้างเพื่อจะนำไปซื้อสุรา ทุกคนรวมทั้งผู้เสียหายบอกว่าไม่มี จำเลยทั้งสามและพยานเห็นว่าผู้เสียหายเคยมานั่งร่วมวงดื่มสุราหลายครั้ง แต่ไม่เคยออกเงิน เมื่อผู้เสียหายบอกว่าไม่มี จำเลยที่ 1 จึงพูดขึ้นว่า “งั้นค้นนะ” และให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ช่วยกันจับตัวผู้เสียหายเพื่อไม่ให้ดิ้น จากนั้นจำเลยที่ 1 ก็ล้วงกระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหายเปิดเจอเงิน 900 บาท จำเลย จำเลยที่ 1 ถามผู้เสียหายว่า เอาไปซื้อสุราได้หรือไม่ โดยขอหักเป็นค่าลำโพง 300 บาท แต่ผู้เสียหายไม่ยอมแล้วออกจากบ้านไป จากนั้นก็ได้ความจากทางนำสืบโจทก์และจำเลยทั้งสามตรงกันว่า จำเลยทั้งสามและนายวิเชียรไปนั่งดื่มสุราที่ร้านอาหาร จนกระทั่งผู้เสียหายกับนางสาวศิรินาถตามไปพบและพูดทวงเงิน เห็นว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยทั้งสามกับผู้เสียหายและนายวิเชียรนั่งดื่มสุราด้วยกันที่บ้านของจำเลยที่ 1 ซึ่งผู้เสียหายกับจำเลยทั้งสามนอกจากจะเป็นเพื่อนกันแล้วยังเป็นญาติกันด้วย ผู้เสียหายเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสามถามค้านว่าเคยไปอาศัยอยู่ที่บ้านของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเวลาหลายปี จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับบิดาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เคยให้เงินผู้เสียหายใช้และจำเลยที่ 2 และที่ 3 เคยยืมเงินผู้เสียหาย บ้านของจำเลยทั้งสามอยู่ใกล้กันซึ่งสอดคล้องกับที่จำเลยที่ 1 เบิกความว่า ยายของจำเลยที่ 1 กับย่าของผู้เสียหายเป็นพี่น้องกัน ผู้เสียหายกับจำเลยทั้งสามต่างเป็นวัยรุ่นมีอายุอยู่ในช่วงวัยใกล้เคียงกันและจากคำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าวก็แสดงให้เห็นชัดว่า ผู้เสียหายกับจำเลยทั้งสามสนิทสนมกันจนถึงขนาดไปมาหาสู่กินอยู่หลับนอนร่วมบ้านเดียวกันมาหลายปี ก่อนเกิดเหตุสุราหมด จำเลยที่ 1 ได้ถามเพื่อนทุกคนที่ร่วมวงดื่มสุรากันอยู่ขณะนั้นว่า ใครมีเงินบ้างเพื่อจะนำไปซื้อสุรามาดื่มต่อ มิได้เจาะจงถามเพื่อจะเอาเงินเฉพาะจากผู้เสียหาย ก่อนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะเข้าจับแขนขาผู้เสียหายเพื่อให้จำเลยที่ 1 ค้นตัว จำเลยที่ 1 ก็ได้ถามผู้เสียหายย้ำถึงสองครั้งว่ามีเงินหรือไม่ ก่อนค้นตัวผู้เสียหายก็บอกก่อน และเมื่อเปิดกระเป๋าสตางค์เจอเงินจำเลยที่ 1 ยังถามผู้เสียหายซ้ำเป็นเชิงขออนุญาตอีกว่าเอาไปซื้อสุราได้หรือไม่เมื่อผู้เสียหายตอบว่าไม่ ก็ยังเอ่ยปากขอแลกเงินกับค่าลำโพง 300 บาท แต่ผู้เสียหายไม่ยินยอม จากนั้นจำเลยทั้งสามกับนายวิเชียรก็ไปนั่งดื่มสุรากันต่อที่ร้านอาหารจนเมื่อผู้เสียหายตามไปพบแล้วพูดขอเงินคืน ก็ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายเองว่าจำเลยทั้งสามไม่ยอมคืนให้ โดยพูดว่าต้องการกินอาหารและดื่มสุราที่โต๊ะให้หมดก่อนพฤติการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนาจะนำเงินของผู้เสียหายไปซื้อสุราเพื่อให้ทุกคนที่ร่วมวงดื่มด้วยกันได้ดื่มต่อ ซึ่งหากว่าผู้เสียหายยังคงนั่งอยู่ก็ต้องได้ดื่มด้วย และเมื่อผู้เสียหายไม่ยอมและลุกออกจากบ้านไปจนกระทั่งตามไปทวงเงินที่ร้านอาหาร จากคำเบิกความของผู้เสียหายเห็นว่าจำเลยทั้งสามมิได้แสดงท่าทีปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงที่จะไม่คืนเงินให้ เพียงแต่เกี่ยงให้รับประทานอาหารและดื่มสุราให้หมดก่อนเท่านั้น เห็นได้ว่า จำเลยทั้งสามมิได้มีเจตนาทุจริตที่จะร่วมกันลักเงินของผู้เสียหายอย่างจริงจัง แต่น่าจะเป็นเพราะเห็นว่าสนิทสนมกันเป็นทั้งญาติทั้งเพื่อน และเกิดความคึกคะนองตามประสาวัยรุ่นที่คิดว่าผู้เสียหายเองก็เคยนั่งร่วมวงดื่มสุรากับจำเลยทั้งสามมาหลายครั้งและขณะนั้นก็นั่งดื่มอยู่ด้วยกันจนสุราหมด จึงน่าจะช่วยออกเงินค่าสุราบ้างเมื่อพูดขอเงินหลายครั้งแล้วผู้เสียหายไม่ให้ จึงได้ถือวิสาสะเข้าจับตัวผู้เสียหายค้นเอาเงิน ซึ่งส่วนนี้ผู้เสียหายก็เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสามถามค้านไว้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพียงแต่จับแขนขาของผู้เสียหายแน่น ไม่ได้ทำร้าย การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่เข้ายึดแขนขาของผู้เสียหายก็คงเป็นเพียงยึดตัวผู้เสียหายให้อยู่นิ่งเพื่อจำเลยที่ 1 จะได้ค้นตัวได้สะดวก การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นเพียงความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจ โดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้เสียหายต้องจำยอมให้จำเลยทั้งสามค้นตัวและเอาเงินไป มิใช่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน แต่ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยทั้งสามฟัง