คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8772/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะฝากเงินไว้กับจำเลยเมื่อปี 2504 แต่จำเลยก็ไม่เคยบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ สัญญาฝากทรัพย์จึงยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ การที่โจทก์ขอถอนเงินจากบัญชีเงินฝากแล้วจำเลยไม่ยอมจ่ายเงินให้อ้างว่า ไม่พบว่ามียอดเงินในบัญชีจึงเป็นการผิดสัญญาฝากทรัพย์ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความไว้ ไม่พบว่ามียอดเงินในบัญชีจึงเป็นการผิดสัญญาฝากทรัพย์ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความไว้ ต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ขอถอนเงินในระหว่างเดือนธันวาคม 2544 ถึงเดือนมกราคม 2545 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 10 เมษายน 2545 ยังไม่ถึง 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินที่ฝาก 347,070.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยคิดดอกเบี้ยทบต้นทุกๆ สิ้นปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 22,596.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 347,070.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ รับฝากเงินจากบุคคลทั่วไปโดยให้ดอกเบี้ยเป็นการตอบแทน เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2504 โจทก์ได้เปิดบัญชีเงินฝากแบบสะสมทรัพย์และนำเงินฝากไว้กับจำเลยที่สาขาพัฒนพงศ์ เป็นบัญชีเลขที่ 1194 หลังจากนั้นโจทก์ได้นำเงินเข้าฝากและถอนออกไปตลอดมาโดยโจทก์ได้ถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวเป็นครั้งสุดท้าย 3,000 บาท เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2507 ซึ่งในวันดังกล่าวโจทก์ยังคงมีเงินฝากเหลืออยู่ 22,596.33 บาท ปรากฏตามสมุดฝากเงินที่จำเลยทำมอบให้ไว้แก่โจทก์เป็นหลักฐาน หลังจากนั้นโจทก์ก็ไม่ได้ติดต่อกับจำเลยอีกเลย ต่อมาในระหว่างเดือนธันวาคม 2544 ถึงเดือนมกราคม 2545 โจทก์ได้ติดต่อขอถอนเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวกับจำเลย แต่จำเลยปฏิเสธอ้างว่าไม่พบว่ามียอดเงินคงเหลืออยู่ในบัญชีตามที่โจทก์อ้าง ตามหนังสือตอบเรื่องบัญชีเงินฝากของจำเลย คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่าจำเลยต้องชำระเงินฝากคืนให้แก่โจทก์ และโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกร้องถอนเงินคืนจากจำเลยได้ตลอดเวลา โดยโจทก์มีสมุดฝากเงินมาเป็นพยานสนับสนุน ซึ่งตามสมุดฝากเงินดังกล่าวไม่มีข้อความกำหนดระยะเวลาในการรับฝากเงินไว้แต่อย่างใด ส่วนจำเลยมีนายสมเกียรติซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบัญชี มีหน้าที่ดูแลบัญชีธนาคารและบัญชีลูกค้าทั่วไปของจำเลยมาเบิกความเป็นพยานว่าบัญชีที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นบัญชีแบบสะสมทรัพย์ซึ่งเป็นบัญชีรุ่นแรกที่จำเลยออกให้แก่ลูกค้าโดยยอมให้ใช้เช็คเบิกถอนเงินจากบัญชีได้ด้วยแต่จำกัดจำนวนการใช้เช็คไม่เกินเดือนละ 4 ฉบับ หากใช้เช็คแล้วก็ไม่จำต้องใช้สมุดฝากเงินเพื่อนำมาถอนเงินออกจากบัญชีแต่อย่างใด แต่ยอดเงินในสมุดฝากเงินจะถือเป็นยอดที่ถูกต้องแท้จริงไม่ได้จนกว่าจะได้มีการปรับยอดบัญชีตามระยะเวลาที่จำเลยกำหนดไว้ ต่อมาประมาณเดือนกรกฎาคม 2509 บัญชีแบบที่โจทก์ใช้ตามสมุดฝากเงินได้มีการเปลี่ยนชื่อบัญชีจากสะสมทรัพย์เป็นบัญชีกระแสรายวันแบบสะสมทรัพย์และให้สาขาของจำเลยทุกสาขามีหนังสือแจ้งไปยังลูกค้าที่ใช้บัญชีประเภทนี้อยู่ว่าจะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าต่อไปแล้ว หากบัญชีของลูกค้าคนใดขาดการติดต่อกับจำเลยแต่ยังคงมีเงินเหลืออยู่ในบัญชี จำเลยก็จะโอนไปไว้ในบัญชีไม่เดินหรือเรียกว่าบัญชีพักเพื่อรอให้ลูกค้ามาติดต่อแล้วจำเลยจะจ่ายเงินคืนไป ต่อมาในปี 2516 บัญชีกระแสรายวันแบบสะสมทรัพย์ถูกยกเลิกเนื่องจากมีความยุ่งยากในการปฏิบัติและโอนเงินทั้งหมดที่มีอยู่ในทุกบัญชีไปเข้าบัญชีไม่เดินหรือบัญชีพักเพื่อให้ลูกค้ามาติดต่อขอรับเงินที่ยังคงเหลืออยู่ต่อไป ตามระเบียบของจำเลยนั้นเอกสารที่เกี่ยวกับการเบิกถอนหรือจ่ายเงินจะเก็บไว้เพียง 10 ปี หลังจากนั้นจำเลยจะทำลายเกี่ยวกับสมุดฝากเงินจะต้องนำไปปรับบัญชีปีละ 2 ครั้ง ทุกสิ้นเดือนมิถุนายนและสิ้นเดือนธันวาคมของทุกปีตามข้อบังคับของธนาคารที่ระบุไว้ในสมุดฝากเงินดังกล่าวเพื่อจะดูว่าลูกค้าได้รับดอกเบี้ยจากธนาคารหรือไม่เพียงใดด้วย แม้หากลูกค้าไม่นำสมุดฝากเงินไปปรับดอกเบี้ยก็ตาม ธนาคารก็จะคิดและลงไว้ในการ์ดบัญชีให้และลูกค้าสามารถนำสมุดฝากเงินไปปรับบัญชีให้ตรงกันแล้วถอนดอกเบี้ยออกจากบัญชีได้ ลักษณะการคิดดอกเบี้ยตามสมุดฝากเงินนั้น หากมีเงินฝากและมีดอกเบี้ยเกิดขึ้น จำเลยก็จะนำเงินฝากและดอกเบี้ยมาเป็นต้นเงินและคิดดอกเบี้ยจากเงินที่นำมารวมนั้นในลักษณะคล้ายๆ กับการคิดดอกเบี้ยทบต้นนั่นเอง เกี่ยวกับสมุดฝากเงินนั้น หากโจทก์ไม่ได้นำไปตรวจสอบยอดเงินตามที่จำเลยระบุไว้ก็ไม่ทำให้โจทก์เสียสิทธิในการเบิกถอนแต่อย่างใด แต่ธนาคารก็จะต้องตรวจดูว่ามีเงินคงเหลือในบัญชีอยู่หรือไม่เพียงใดด้วย เห็นว่า จำเลยเป็นธนาคารพาณิชย์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์โดยรับฝากเงินและให้ประชาชนทั่วไปกู้ยืมเงินซึ่งในการรับฝากเงินจำเลยจะต่ายดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่าดอกเบี้ยที่จำเลยเรียกจากผู้มากู้ยืมเงินซึ่งส่วนต่างดังกล่าวจะเป็นผลกำไรของจำเลย จากข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของนายสมเกียรติพยานจำเลยก็ไม่ปรากฏว่าการรับฝากเงินจากโจทก์เป็นบัญชีแบบสะสมทรัพย์ ซึ่งจำเลยออกสมุดฝากเงินให้แก่โจทก์ไว้เป็นหลักฐานนั้นได้กำหนดระยะเวลาที่รับฝากไว้แต่ประการใด อีกทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดระยะเวลาที่รับฝากไว้แต่ประการใด อีกทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดระยะเวลาการรับฝากเงินเช่นนี้ไว้แต่อย่างใดด้วย ดังนั้น เมื่อการรับฝากเงินหรือฝากทรัพย์เป็นสัญญาอย่างหนึ่ง หากจำเลยไม่มีเจตนาที่จะรับฝากเงินจากโจทก์ต่อไปแล้ว จำเลยย่อมกระทำได้โดยการบอกเลิกสัญญา แต่จำเลยก็ไม่เคยบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ สัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยตามที่จำเลยออกสมุดฝากเงินมอบให้โจทก์ไว้เป็นหลักฐานจึงยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ ที่จำเลยนำสืบและอ้างในฎีกาว่าเมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2509 บัญชีแบบที่โจทก์ใช้ตามสมุดฝากเงินนั้นได้มีการเปลี่ยนชื่อจากสะสมทรัพย์เป็นบัญชีกระแสรายวันแบบสะสมทรัพย์และให้ทุกสาขาของจำเลยมีหนังสือโดยส่งจดหมายแจ้งไปยังลูกค้าที่ใช้บัญชีประเภทนี้อยู่ว่าจะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าต่อไปแล้ว หากลูกค้าคนใดขาดการติดต่อและยังคงมีเงินเหลืออยู่ในบัญชี จำเลยก็จะนำไปโอนไว้ในบัญชีไม่เดินหรือที่เรียกว่าบัญชีพักเพื่อรอให้ลูกค้ามาติดต่อรับเงินคืนไป จนกระทั่งบัญชีกระแสรายวันแบบสะสมทรัพย์ได้ถูกยกเลิกไปในปี 2516 และจำเลยโอนเงินทั้งหมดที่มีอยู่ทุกบัญชีไปเข้าบัญชีไม่เดินหรือบัญชีพักเพื่อให้ลูกค้ามาติดต่อขอรับเงินที่ยังคงเหลืออยู่ และจำเลยจัดเก็บเอกสารเกี่ยวกับการเบิกถอนหรือจ่ายเงินไว้เพียง 10 ปี ตามระเบียบของจำเลย หลังจากนั้นจำเลยก็จะนำไปทำลายนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีหนังสือที่แจ้งไปยังโจทก์ว่าได้เปลี่ยนชื่อบัญชีจากสะสมทรัพย์เป็นบัญชีกระแสรายวันแบบสะสมทรัพย์และงดจ่ายดอกเบี้ยให้โจทก์ต่อไปแล้ว ตลอดจนการที่จำเลยสั่งยกเลิกบัญชีกระแสรายวันแบบสะสมทรัพย์ในปี 2516 แล้วโอนเงินที่ยังคงเหลืออยู่ทุกบัญชีรวมทั้งบัญชีของโจทก์ไปเข้าบัญชีไม่เดินหรือบัญชีพักเพื่อให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกค้าไปติดต่อขอรับเงินที่ยังคงเหลืออยู่คืนดังที่พยานจำเลยเบิกความอ้างมาส่งเป็นพยานหลักฐานยืนยันข้ออ้างข้อเถียงของจำเลยแต่ประการใด คงมีเพียงคำเบิกความของนายสมเกียรติพยานจำเลยเพียงปากเดียวที่กล่าวอ้างขึ้นลอยๆ อีกทั้งยังได้ความจากนายสมเกียรติว่าหากโจทก์ไม่ได้นำสมุดฝากเงินไปตรวจสอบและปรับยอดเงินตามที่จำเลยได้ระบุไว้ในบัญชีของจำเลยก็ไม่ทำให้โจทก์เสียสิทธิในการเบิกถอนเงินแต่อย่างใด ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากฎข้อบังคับอันเป็นเงื่อนไขที่จำเลยระบุไว้ในสมุดฝากเงินเป็นเพียงระเบียบปฏิบัติที่กำหนดไว้อย่างกว้างๆ มิได้เป็นกฎข้อบังคับที่ใช้อย่างเคร่งครัด ส่วนที่นายสมเกียรติพยานจำเลยเบิกความว่า ธนาคารจำเลยจะเก็บเอกสารเกี่ยวกับการเบิกถอนหรือจ่ายเงินไว้เพียง 10 ปี หลังจากนั้นจำเลยจะนำไปทำลายตามระเบียบของจำเลยนั้น ก็เป็นระเบียบที่จะต้องปฏิบัติภายในองค์กรของจำเลยเองไม่มีผลที่จะนำมาใช้ต่อสู้คดีกับบุคคลภายนอกหรือเป็นเหตุให้ระยะเวลาการรับฝากเงินของจำเลยสิ้นสุดไปด้วย ส่วนที่จำเลยอ้างในฎีกาว่า อาจเป็นไปได้ที่โจทก์สั่งจ่ายเงินโดยเช็คออกจากบัญชีหมดแล้วและไม่ได้นำสมุดฝากเงินไปปรับยอดเงิน จึงไม่ปรากฏยอดเงินที่จำเลยค้างชำระคืน บัญชีของลูกค้าเช่นจำเลยจึงถูกปิดไปโดยระบบนั้น ก็เป็นการคาดคะเนของจำเลยเองโดยไม่มีพยานหลักฐานใดๆ มานำสืบให้เห็นจริงตามที่อ้างดังกล่าว เมื่อเป็นเช่นนี้ตราบใดที่จำเลยยังมิได้บอกเลิกสัญญาฝากทรัพย์ซึ่งจำเลยออกสมุดฝากเงินมอบให้โจทก์ไว้เป็นหลักฐาน สัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ตลอดไปดังนี้ แม้โจทก์จะฝากเงินเมื่อปี 2504 การที่โจทก์ขอถอนเงินจากบัญชีเงินฝากแล้วจำเลยไมยอมจ่ายเงินให้อ้างว่า ไม่พบว่ามียอดเงินในบัญชี จึงเป็นการผิดสัญญาฝากทรัพย์ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความไว้ ต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ขอถอนเงินในระหว่างเดือนธันวาคม 2544 ถึงเดือนมกราคม 2545 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 10 เมษายน 2545 ยังไม่ถึง 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่คิดดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามฟ้องนั้นชอบแล้วหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่จำเลยรับฝากจากโจทก์ไว้คืนโดยเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 22,596.33 บาท โดยคิดดอกเบี้ยทบต้นทุกๆ ปี นับตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2507 จนถึงวันฟ้องและคิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวทบต้นนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ซึ่งปรากฏว่าจำเลยมิได้ให้การโต้แย้งไว้ว่าดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวไม่ถูกต้องหรือเกินความเป็นจริงแต่อย่างใด คงให้การต่อสู้แต่เพียงว่าโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบทบต้นเอากับจำเลยได้เท่านั้น รวมทั้งมิได้นำสืบหักล้างอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์ฟ้อง ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังเป็นยุติตามที่โจทก์ฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ภาระการพิสูจน์ว่าในแต่ละช่วงโจทก์ได้รับดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราเท่าใดและมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้หรือไม่ เป็นหน้าที่ของโจทก์ซึ่จะต้องนำสืบเพื่อแสดงให้เห็นว่าการคิดดอกเบี้ยของโจทก์เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศของธนาคารจำเลยที่เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับลูกค้าที่นำเงินมาฝากกับจำเลยตลอดจนข้อตกลงเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยแบบทบต้นให้ศาลเห็น เมื่อโจทก์ไม่นำสืบให้ศาลเห็นในประเด็นดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบทบต้นตามที่โจทก์ขอได้นั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนายสมเกียรติพยานจำเลยว่าจำเลยจะคิดดอกเบี้ยให้โจทก์ตามสมุดฝากเงินดังกล่าวปีละ 2 ครั้ง หากมีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นก็จะนำดอกเบี้ยและเงินฝากมาเป็นต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยจากจำนวนเงินที่นำมารวมได้นั้นในลักษณะคล้ายๆ กับการคิดดอกเบี้ยทบต้นนั่นเอง และโจทก์สามารถใช้สมุดฝากเงินเบิกถอนดอกเบี้ยออกจากบัญชีได้ ซึ่งข้อเท็จจริงตามที่ได้ความดังกล่าวเจือสมกับคำเบิกความของโจทก์และสอดคล้องกับรายการคิดดอกเบี้ยในสมุดฝากเงินอีกด้วย ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์ได้นำสืบพิสูจน์ให้เห็นในเรื่องนี้โดยชัดแจ้งแล้วและเห็นได้ว่าการที่โจทก์คิดดอกเบี้ยมาจนถึงวันฟ้องเพียงปีละ 1 ครั้งนั้น นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยมากอยู่แล้ว ทั้งนี้เพราะเงื่อนไขตามกฎข้อบังคับที่ระบุไว้ในสมุดฝากเงินนั้น จำเลยจะต้องคิดดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ถึงปีละ 2 ครั้ง อันเป็นกฎข้อบังคับที่จำเลยกำหนดขึ้นเองในการรับฝากเงินจากโจทก์ตามสัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลย เมื่อสัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยดังกล่าวยังมิได้ถูกยกเลิกหรือระงับสิ้นไป จำเลยจึงหามีสิทธิที่จะปฏิเสธความรับผิดตามกฎข้อบังคับดังกล่าวต่อโจทก์ได้โดยลำพัง ทั้งกฏข้อบังคับซึ่งถือว่าเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยตามสัญญาฝากทรัพย์ดังกล่าวก็มิใช่ข้อตกลงที่ต้องห้ามตามกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่ประการใด แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยทบต้นถึงวันฟ้องนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยปฏิเสธไม่ยอมจ่ายเงินให้แก่โจทก์ตามหนังสือตอบเรื่องบัญชีเงินฝากของจำเลยแล้ว ย่อมถือได้ว่าสัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยมีหนังสือดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 ต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันดังกล่าวเป็นเงิน 342,318.99 บาท ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 342,318.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share