แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1รวมทั้งขอให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่พิพาทคืนให้แก่โจทก์ด้วยศาลล่างทั้งสองพิพากษาตรงกันว่า นิติกรรมการซื้อขายที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมาย ไม่อาจเพิกถอนได้ คงบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่พิพาทคืนให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายเท่านั้น ดังนี้ คำขอของโจทก์ที่ 1 ในข้อแรกจึงตกไปในตัว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ตามคำขอข้อ 2 ได้
โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า เงื่อนไขที่จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์ซื้อที่พิพาทคืน แม้จะมิได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือกันไว้ แต่โจทก์ได้ชำระหนี้บางส่วน ให้แก่จำเลยที่ 1 ไว้แล้ว ประเด็นข้อที่ว่า จำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้บางส่วนแล้วหรือไม่โจทก์ย่อมมีอำนาจนำสืบพยานบุคคลได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 หาใช่เป็นการนำสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสารไม่
ระยะเวลานับตั้งแต่โจทก์ฟ้องจนถึงเวลาส่งหมาย การไถ่ถอนจำนอง และการที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ติดต่อใกล้ชิดกันเป็นพิรุธอย่างยิ่ง ทั้งตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 รับตกลงซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 รวมทั้งผู้ที่บอกขายที่ดินได้ช่วยออกเงินค่าซื้อที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ในระยะเวลาที่เร่งรีบกะทันหันด้วย ทำให้มีเหตุผลน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 รู้เรื่องที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 มีคดีพิพาทเกี่ยวกับที่ดินพิพาท การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำไปโดยไม่สุจริต เมื่อพฤติการณ์เป็นการฉ้อฉล ทำให้โจทก์เสียเปรียบโจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและพิพากษารวมเข้าด้วยกันโดยเรียกนายสมาน ศิริโสม เป็นจำเลยที่ 1 นางสาวนงลักษณ์ หลอดแก้ว เป็นจำเลยที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 8767ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวคืนโจทก์โดยปลอดจำนอง หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การในสำนวนหลัง แต่ให้การสำนวนแรกว่า โจทก์ทั้งสองไม่เคยติดต่อขอกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 8767 ให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วยความสมัครใจและชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกที่ดินจากจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2 จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน โดยมิได้มีเจตนาฉ้อฉลโจทก์ทั้งสองขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมโอนขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินฉบับลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2538 และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 8767 ให้แก่โจทก์ที่ 1 เมื่อโจทก์ที่ 1ชำระราคาที่ดิน ส่วนที่ค้างจำนวน 290,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 แล้ว หากจำเลยที่ 1ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 คำขออื่นให้ยกและยกฟ้องโจทก์ที่ 2
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เดิมโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 8767 ตำบลทุ่งแต้ อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธรเนื้อที่ 21 ไร่ 80 ตารางวา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2535 โจทก์ที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ในราคา 130,000 บาท โดยยังคงครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทอยู่ ต่อมาวันที่ 2 พฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันเงินกู้จำนวน 130,000 บาท ไว้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด วันที่ 22พฤษภาคม 2538 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา150,000 บาท
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อแรกมีว่า การซื้อขายที่ดินมีโฉนดที่ดินเป็นเอกสารสิทธิต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หากมีเงื่อนไขให้ซื้อคืนได้ก็จะต้องระบุไว้ในสัญญาด้วย การที่โจทก์ที่ 1 นำสืบว่า มีเงื่อนไขให้ซื้อคืนได้ เป็นการนำสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร จึงต้องห้ามมิให้นำสืบตามกฎหมาย โจทก์ที่ 1 จึงฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทมิได้ เห็นว่าฟ้องโจทก์ที่ 1 มีคำขอท้ายฟ้องทั้งขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 รวมทั้งขอให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ที่ 1 ด้วย ศาลล่างทั้งสองพิพากษาตรงกันว่า นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายไม่อาจเพิกถอนได้ คงบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ที่ 1 ตามสัญญาจะซื้อจะขายเท่านั้น คำขอของโจทก์ที่ 1 ในข้อแรกจึงตกไปในตัว โจทก์ที่ 1 จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1ตามคำขอข้อ 2 ได้ ส่วนการที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ที่ 1 นำพยานบุคคลมาสืบในประเด็นข้อที่ว่า โจทก์ที่ 1 มีสิทธิขอซื้อที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่นั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคแรก บัญญัติว่า การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นโมฆะและวรรคสองว่า อนึ่ง สัญญาจะขายหรือจะซื้อทรัพย์สินอย่างใด ๆ ดังว่ามานี้ก็ดี คำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินเช่นว่านั้นก็ดี ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญหรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้วท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่ โจทก์ที่ 1 ฟ้องและนำสืบว่า เงื่อนไขที่จำเลยที่ 1ตกลงให้โจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทคืนแม้จะมิได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือกันไว้ แต่โจทก์ที่ 1ได้ชำระหนี้บางส่วนจำนวน 30,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ไว้แล้ว ประเด็นข้อที่ว่า จำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้บางส่วนแล้วหรือไม่ โจทก์ที่ 1 จึงมีอำนาจนำสืบได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวหาใช่เป็นการนำสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสารไม่
มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปว่า จำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต และเสียค่าตอบแทนหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่าตอนซื้อที่ดินพิพาทนั้นจำเลยที่ 2 ไม่เคยทราบมาก่อนว่าโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องร้องกันต่อศาล ทั้งขณะนั้นจำเลยที่ 1 ก็ยังไม่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องของโจทก์ที่ 1การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมิใช่สมคบกันฉ้อฉลโจทก์ที่ 1 เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 ฟ้องจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2538 นำส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 1 ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2538 แต่ส่งไม่ได้โดยเจ้าหน้าที่รายงานว่าไม่พบจำเลยที่ 1 และไม่มีผู้ใดในบ้านยินดีรับหมายไว้แทนจากนั้นอีก 2 วัน คือวันที่ 18 พฤษภาคม 2538 จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากธนาคารเจ้าหนี้ และวันที่ 22 พฤษภาคม 2538 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จะเห็นว่า ระยะเวลานับตั้งแต่โจทก์ที่ 1 ฟ้อง จนถึงเวลาส่งหมาย การไถ่ถอนจำนองและการโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 ติดต่อใกล้ชิดกันเป็นพิรุธอย่างยิ่ง ทั้งข้อเท็จจริงรับฟังได้ต่อมาว่า การซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2มีนางอ่ำเป็นผู้ติดต่อ โดยจำเลยที่ 2 เบิกความว่าได้ตกลงซื้อที่ดินพิพาทในวันที่นางอ่ำมาบอกขายคือ วันที่ 22 พฤษภาคม 2538 โดยนางอ่ำช่วยออกเงินค่าที่ดินด้วยพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 รับตกลงซื้อที่ดินพิพาทรวมทั้งมีผู้บอกขายที่ดินมาช่วยออกเงินให้ซื้อที่ดินในระยะเวลาที่เร่งรีบกะทันหันเช่นนี้ ทำให้มีเหตุผลน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 รู้เรื่องที่โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 มีคดีพิพาทเกี่ยวกับที่ดินพิพาทดังกล่าว การซื้อขายที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำไปโดยไม่สุจริต ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่า พฤติการณ์เป็นการฉ้อฉล ทำให้โจทก์ที่ 1 เสียเปรียบ โจทก์ที่ 1 มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้จึงชอบแล้ว
พิพากษายืน