แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์กับเพื่อนพนักงานรวม 7 คน ร่วมกันเล่นการพนันในบริเวณบริษัทจำเลยผู้เป็นนายจ้าง เป็นการกระทำฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงานของจำเลยที่กำหนดว่าพนักงานต้องประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมอันดี ไม่ประพฤติตนไปในทางนำความเสื่อมเสียมาสู่ตนและหมู่คณะ ต้องไม่กระทำการผิดกฎหมายที่มีโทษทางอาญาโดยเจตนาถึงแม้ว่าจะไม่ถูกดำเนินคดีก็ตาม ต้องไม่เล่นการพนันขันต่อทุกชนิด การฝ่าฝืนมีโทษทางวินัยโดยการไล่ออก การเล่นการพนันนอกจากเป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญาแล้ว ยังเป็นบ่อเกิดอาชญากรรม เป็นชนวนให้เกิดการวิวาทบาดหมางในหมู่ลูกจ้างด้วยกัน ทำลายความสามัคคีของหมู่คณะ ทั้งยังทำให้ผลงานของลูกจ้างลดน้อยลง และอาจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายทางชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นการกระทำผิดครั้งแรกและโจทก์สำนึกผิดหรือไม่ก็ตาม การกระทำของโจทก์มิใช่เป็นเพียงการกระทำผิดวินัยที่ทำให้เสียหายด้านชื่อเสียงต่อจำเลยเพียงอย่างเดียวอันจะลงโทษด้วยการตักเตือนเท่านั้น แต่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) เป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย จำนวน 147,550 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน 23,116.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม หรือในตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าเดิมอัตราค่าจ้างและสวัสดิการเท่าเดิม หรือไม่ต่ำกว่าเดิมพร้อมทั้งให้นับอายุงานต่อเนื่องให้โจทก์เสมือนไม่มีการเลิกจ้าง หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมได้ ขอให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำนวน 250,835 บาท
จำเลยให้การว่า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 2 พิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยทำหน้าที่หัวหน้างานส่งเสริมการผลิต เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2549 เวลา 3.30 นาฬิกา โจทก์กับเพื่อนพนักงานรวม 7 คน รวมกันเล่นการพนันประเภทไฮโลว์ บริเวณโรงเก็บเหล็กของจำเลย เมื่อพิจารณาจากประเภทของการพนันและการรวมกลุ่มกันเล่นการพนันของโจทก์กับพนักงานรวมถึง 7 คน ประกอบกับผู้ร่วมเล่นการพนันถือธนบัตรและวางเงินบนแผ่นอุปกรณ์การเล่นไฮโลว์เป็นจำนวนเงินไม่น้อย จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119(4) และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่มีเหตุสมควรหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าการกระทำของโจทก์เป็นกระทำผิดฐานเล่นการพนันเป็นครั้งแรกและเป็นการกระทำผิดทางวินัยในด้านชื่อเสียงต่อบริษัท จึงต้องลงโทษโดยการตักเตือนด้วยวาจาหรือตักเตือนเป็นหนังสือหรือพักงานหาอาจลงโทษโดยการเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยหรือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้ไม่ ทั้งนี้ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 8.2 เรื่องบทลงโทษ 8.2.1 ถึง 8.2.5 การเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวจึงฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงาน ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่มีเหตุอันสมควร เห็นว่า ตามข้อบังคับการทำงานของจำเลย บทที่ 8 วินัยและการลงโทษ การประพฤติปฏิบัติซึ่งถือว่าผิดวินัยของจำเลยมีดังนี้…..8.1.7 ความประพฤติ 8.1.7.1 “พนักงานต้องประพฤติตนให้อยู่ในศีลธรรมอันดี ไม่ประพฤติตนไปในทางที่จะนำความเสื่อมเสียมาสู่ตนและหมู่คณะ หรือบริษัท” 8.1.7.5 “พนักงานต้องไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการผิดกฎหมายที่มีโทษทางอาญาโดยเจตนา ถึงแม้ว่าจะไม่ถูกดำเนินคดีก็ตาม” 8.1.7.10 “พนักงานต้องไม่เล่น…….การพนันขันต่อทุกชนิด…..” ส่วนหลักเกณฑ์การพิจารณาลงโทษทางวินัย ตามข้อ 8.2.5 โดยการไล่ออก (เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย) ผู้มีอำนาจลงโทษมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาลงโทษดังนี้….เมื่อพนักงานได้กระทำการอันเป็นการผิดวินัยร้ายแรง นอกจากนี้ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ยังให้อยู่ในดุลพินิจของจำเลยที่จะนำหลักตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาบังคับใช้ได้เพื่อประโยชน์ของจำเลยในการบริหาร โดยให้เกิดความเป็นธรรมและเสมอภาคแก่พนักงานทุกคน การที่โจทก์กับพวกเล่นการพนันประเภทไฮโลว์ในบริเวณบริษัทจำเลย นอกจากจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอาญาแล้ว ยังเป็นบ่อเกิดอาชญากรรม เป็นชนวนให้เกิดการวิวาทบาดหมางในหมู่พนักงานด้วยกันทำลายความสามัคคีของหมู่คณะทั้งยังทำให้ผลงานของลูกจ้างลดน้อยลงและอาจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายทางชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นการกระทำผิดครั้งแรกและโจทก์สำนึกผิดหรือไม่ก็ตาม การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการผิดวินัยร้ายแรงตามข้อบังคับการทำงานของจำเลยและเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกรณีที่ร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) การกระทำของโจทก์มิใช่เป็นเพียงการกระทำผิดวินัยที่ทำให้เสียหายด้านชื่อเสียงต่อจำเลยเพียงอย่างเดียว อันจะลงโทษได้โดยการตักเตือนเท่านั้น เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยสาเหตุที่โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกรณีที่ร้ายแรง จึงเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุผลสมควร การเลิกจ้างโจทก์จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน