คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5447/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้แนวความคิดของเครื่องหมายการค้าจะเป็นของโจทก์เองโดยมิได้มีการลอกแบบคิดของผู้อื่นมาก็ตาม แต่เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวมีความเหมือนหรือคล้ายกับของเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ย่อมเป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียน
มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีอำนาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันให้แก่เจ้าของเครื่องหมายการค้าหลายคนได้ หากเจ้าของเครื่องหมายการค้าหลายคนต่างได้ใช้มาแล้วด้วยกันโดยสุจริต หรือมีพฤติการณ์พิเศษที่สมควรรับจดทะเบียนให้ โดยเจ้าของเครื่องหมายการค้าหลายคนดังกล่าวต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นมาแล้วด้วยกันโดยสุจริตในราชอาณาจักร ดังนั้นแม้โจทก์จะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาแล้วในต่างประเทศเป็นเวลานานและนำไปใช้กับสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์อย่างกว้างขวางในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าตามบทบัญญัติของมาตรานี้และกรณีไม่เข้าเงื่อนไขที่จะพิจารณาพฤติการณ์พิเศษเพื่อให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นตามบทกฎหมายดังกล่าวได้เช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ศาลพิพากษาว่าเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 595050 มีลักษณะชอบที่จะได้รับการจดทะเบียนขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและให้จำเลยดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อไป
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีอักษรโรมันตัว V ในลักษณะประดิษฐ์อยู่ในเส้นวงกลมแต่ไม่เต็มรอบซึ่งคล้ายกับตัวอักษรโรมัน V ในลักษณะประดิษฐ์ซึ่งอยู่ในเส้นวงรีไม่เต็มรอบเช่นกันในเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ยังมีอักษรโรมันคำว่า VALENTINO เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายอันเป็นคำเดียวกับที่ใช้ในเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น และคำดังกล่าวก็เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นด้วยเช่นกัน ดังนี้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อโจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าจำพวกที่ 25 ซึ่งเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันกับที่บุคคลอื่นได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ กรณีย่อมอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า หลักการพิจารณาความเหมือนคล้ายของเครื่องหมายการค้า ในกรณีนี้ จะต้องพิจารณาจากรูปลักษณ์ที่ปรากฏและแนวความคิดด้วย โดยเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้น รูป GV ประดิษฐ์มาจากตัวอักษรตัวแรกหรือตัวย่อของชื่อนักออกแบบเสื้อผ้าและเจ้าของห้องเสื้อชาวอิตาเลียนที่มีชื่อเสียงคือ นายเจียอาร์นี (Mr.Gianni) ส่วนเครื่องหมายการค้าก็ใช้ชื่อของนักออกแบบเสื้อดังกล่าว เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงมาจากแนวความคิดของโจทก์เองทั้งสิ้นไม่ได้ลอกแบบแนวคิดของผู้อื่นนั้น เห็นว่า แม้แนวความคิดของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจะเป็นของโจทก์เองโดยมิได้มีการลอกแบบคิดของผู้อื่นมาก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวมีความเหมือนหรือคล้ายกับของเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ดังวินิจฉัยข้างต้นย่อมเป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียน อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า โจทก์เป็นผู้ใช้เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนมาโดยสุจริตในประเทศญี่ปุ่นมากว่า 20 ปี แล้ว โดยนักออกแบบเสื้อผ้าชาวอิตาเลียนได้ทำสัญญาอนุญาตให้โจทก์ใช้และยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียอีกหลายประเทศและมีการใช้โฆษณาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การอนุญาตให้ใช้เป็นการให้สิทธิโจทก์แต่เพียงผู้เดียว โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นอย่างเจ้าของเครื่องหมายการค้า กรณีจึงเป็นพฤติการณ์ที่สามารถรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำของโจทก์ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 ได้นั้น พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนจากนายเจียอาร์นี นักออกแบบเสื้อผ้าและเจ้าของห้องเสื้อแฟชั่นชาวอิตาเลียน ซึ่งเป็นผู้ประดิษฐ์และใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาก่อนในประเทศอิตาลี นายเจียอาร์นีอนุญาตให้โจทก์ใช้และยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในนามของโจทก์ในประเทศญี่ปุ่นรวมทั้งประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก และโจทก์นำสืบว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของโจทก์โดยเฉพาะสินค้าในจำพวกเสื้อผ้า จำหน่ายในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย มีรายได้จำนวนนับล้านดอลลาร์สหรัฐ และโจทก์ยังได้ทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์อย่างกว้างขวาง ผ่านสื่อต่างๆ หลายประเภท เพื่อให้สาธารณชนได้ทราบถึงเครื่องหมายการของโจทก์ ทั้งเครื่องหมายการค้านี้ได้รับการจดทะเบียนในหลายประเทศแล้ว เห็นว่า ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 บัญญัติถึงกรณีที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีอำนาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันให้แก่เจ้าของเครื่องหมายการค้าหลายคนได้ หากเจ้าของเครื่องหมายการค้าหลายคนต่างได้ใช้มาแล้วด้วยกันโดยสุจริต หรือมีพฤติการณ์พิเศษที่สมควรรับจดทะเบียนให้ ซึ่งตามบทกฎหมายดังกล่าวต้องเป็นเรื่องที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าหลายคนต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้ามาแล้วด้วยกันโดยสุจริตในราชอาณาจักร เมื่อปรากฏตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงว่าโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวนอกราชอาณาจักร แม้จะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาแล้วในต่างประเทศเป็นเวลานานและนำไปใช้กับ สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์อย่างกว้างขวางในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าตามบทบัญญัติของมาตรานี้และกรณีไม่เข้าเงื่อนไขที่จะพิจารณาพฤติการณ์พิเศษเพื่อให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นตามบทกฎหมายดังกล่าวได้เช่นกัน อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share