แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แก้ไขเฉพาะโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันใช้และฐานร่วมกันนำเข้าบัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมจากกระทงละ 2 ปี และ 4 ปี เป็นกระทงละ 1 ปี และ 3 ปี ตามลำดับ อันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อแต่ละกระทงยังคงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันปลอม นำเข้า และใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อย่างอื่นแทนการชำระด้วยเงินสด อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 269/7 ซึ่งบัญญัติให้ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในความผิดดังกล่าวกึ่งหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกกระทำความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว แต่ศาลชั้นต้นมิได้ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติดังกล่าวและศาลอุทธรณ์ภาค 5 มิได้แก้ไขให้ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขโดยปรับบทให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่โจทก์มิได้ฎีกาในข้อนี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจวางโทษจำคุกให้หนักขึ้นตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขดังกล่าวได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 และเนื่องจากเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 และมาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 12 มีนาคม 2548 เวลากลางคืน ถึงวันที่ 21 มีนาคม 2548 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยทั้งสองร่วมกันทำปลอมบัตรอิเล็กทรอนิกส์ชนิดบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดขึ้นทั้งฉบับ โดยจำเลยทั้งสองได้ใช้บัตรแข็งที่มีขนาดเท่ากับบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดฉบับที่แท้จริง จำนวน 38 บัตร นำมาพิมพ์กรอกข้อความอันเป็นเท็จลงบนแถบแม่เหล็กด้านหน้าของบัตรพลาสติกที่มีแถบแม่เหล็ก ให้เป็นแถบแม่เหล็กของบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัทซัมซุง การ์ด จำกัด จำนวน 21 บัตร 21 หมายเลขบัตร และของบริษัทแอลจี การ์ด จำกัด จำนวน 17 บัตร 17 หมายเลขบัตร อันเป็นเท็จ ซึ่งความจริงแล้วหมายเลขบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดที่จำเลยทั้งสองร่วมกันทำนั้นไม่ใช่บัตรเครดิตวีซ่าการ์ดของบริษัทซัมซุง การ์ด จำกัด และบริษัทแอลจี การ์ด จำกัด ฉบับที่แท้จริง โดยจำเลยทั้งสองมิได้เกี่ยวข้องมีชื่อเป็นผู้ถือบัตรเครดิตดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดที่พบเห็นบัตรเครดิตดังกล่าวหลงเชื่อว่า บัตรเครดิตวีซ่าการ์ดปลอมดังกล่าวเป็นหมายเลขบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดที่แท้จริงที่บริษัทซัมซุง การ์ด จำกัด และบริษัทแอลจี การ์ด จำกัด ออกให้แก่จำเลยทั้งสอง เพื่อใช้ประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสดโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บริษัทซัมซุง การ์ด จำกัด และบริษัทแอลจี การ์ด จำกัด ผู้ออกบัตรเจ้าของบัตรที่แท้จริง ผู้อื่น และประชาชน จำเลยทั้งสองร่วมกันนำเข้าบัตรอิเล็กทรอนิกส์ชนิดบัตรเครดิตวีซ่าการ์ดปลอมอันเป็นความผิดดังกล่าวจำนวน 38 ใบ เข้ามาในราชอาณาจักรไทยอันเป็นความผิดต่อกฎหมาย และเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2548 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองนำเอาบัตรอิเล็กทรอนิกส์บัตรเครดิตวีซ่าการ์ดปลอมอันเป็นความผิดดังกล่าวจำนวน 38 ใบ ออกใช้ยังสถานบริการอาบอบนวดแพนโดร่าของบริษัทโปรเกสรซิพ เอนเตอร์เทนเมน จำกัด ผู้เสียหาย เพื่อใช้ประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด โดยจำเลยทั้งสองรู้ว่าเป็นของที่ทำปลอมขึ้น ซึ่งจำเลยทั้งสองลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้ว เพื่อลักเอาเงินจำนวน 92,700 บาท ของผู้เสียหายไปโดยทุจริตแต่จำเลยทั้งสองกระทำไปไม่ตลอด โดยพนักงานของสถานบริการแพนโดร่าสามารถตรวจพบและแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวจำเลยทั้งสองได้ จำเลยทั้งสองจึงไม่สามารถลักเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวจำเลยทั้งสองได้พร้อมบัตรอิเล็กทรอนิกส์เครดิตวีซ่าการ์ดปลอม จำนวน 39 ใบ ใบแสดงรายการหนี้ที่ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์บัตรเครดิตวีซ่าการ์ด (สลิฟ) จำนวน 7 ใบ กระเป๋ามีสายสะพาย 1 ใบ ที่ใช้ใส่บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 83, 91, 269/1, 269/3, 269/4, 269/7, 334 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้วจำเลยทั้งสองกลับให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/3, 269/4 ประกอบมาตรา 269/1, 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำและใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/4 วรรคสาม การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิด 38 กระทง ให้ลงโทษกระทงละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 76 ปี ฐานนำเข้าบัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม จำคุกคนละ 4 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 40 ปี แต่คงให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ริบของกลาง ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานร่วมกันพยายามลักทรัพย์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมจำคุกจำเลยทั้งสองกระทงละ 1 ปี เป็นจำคุกคนละ 38 ปี ฐานนำเข้าบัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมจำคุกคนละ 3 ปี รวมเป็นจำคุกคนละ 41 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง จำคุกคนละ 20 ปี 6 เดือน แต่คงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ฎีกา ในประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำเข้าบัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมและจำเลยที่ 1 ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมเพียง 7 ใบ มิใช่ 38 ใบ ตามที่โจทก์ฟ้อง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมเพียง 7 กระทง เป็นทำนองปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 เพิ่มจะยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาทั้งยังขัดกับที่จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ลงโทษในสถานเบานั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แก้ไขเฉพาะโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันใช้และฐานร่วมกันนำเข้าบัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม เป็นกระทงละ 1 ปี และ 3 ปี ตามลำดับอันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อแต่ละกระทงยังคงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไม่เกินห้าปีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 เช่นกัน
อนึ่ง โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันปลอม นำเข้า และใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/7 ซึ่งบัญญัติให้ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในความผิดดังกล่าวกึ่งหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกกระทำความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแต่ศาลชั้นต้นมิได้ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติดังกล่าวและศาลอุทธรณ์ภาค 5 มิได้แก้ไขให้ถูกต้อง เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขโดยปรับบทให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่โจทก์มิได้ฎีกาในข้อนี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจวางโทษจำคุกให้หนักขึ้นตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขดังกล่าวได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 และเนื่องจากเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 และมาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 นอกจากนี้กระเป๋ามีสายสะพาย 1 ใบ ที่ใช้ใส่บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมของกลางมิใช่ทรัพย์สินที่ทำหรือมีไว้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ทั้งมิใช่ทรัพย์สินซึ่งได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้กระทำความผิดหรือได้มาโดยได้กระทำความผิดในคดีนี้ ตามมาตรา 33 (1) (2) ซึ่งตามปกติกระเป๋าของกลางโดยสภาพก็มีไว้เพื่อใช้บรรจุสิ่งของอันเป็นวัตถุประสงค์ทั่วไป ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบ และศาลอุทธรณ์ภาค 5 มิได้แก้ไขให้ถูกต้อง เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/1, 269/3, 269/4 วรรคแรก ประกอบมาตรา 269/7, 83 จำเลยทั้งสองเป็นผู้ร่วมกันปลอมและร่วมใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมเอง จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมแต่กระทงเดียว ตามมาตรา 269/4 วรรคแรก ประกอบมาตรา 269/7, 83 มาตรา 269/4 วรรคสาม รวม 38 กระทง และลงโทษฐานร่วมกันนำเข้าบัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม ตามมาตรา 269/3 ประกอบมาตรา 269/7, 83 อีก 1 กระทง กระเป๋ามีสายสะพาย 1 ใบ ของกลางไม่ริบแต่ให้คืนแก่เจ้าของ ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 และให้ยกฎีกาของจำเลยที่ 1