คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3568/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปจากจำเลยที่ 4 แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นเพียงผู้เช่าซื้อก็สามารถนำรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปยื่นขอใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลได้ การที่จำเลยที่ 4 ยินยอมให้จำเลยที่ 2 นำรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปใช้ในการประกอบการขนส่งและใช้ใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลของจำเลยที่ 4 ในขณะเกิดเหตุโดยจำเลยที่ 4 มิได้ทักท้วงหรือแจ้งถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งของรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว ทั้งรถคันเกิดเหตุมีป้ายวงกลมซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 4 ติดอยู่ที่หน้ากระจกรถด้วย พฤติการณ์ของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 มีผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบการขนส่งโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ เมื่อขณะเกิดเหตุกระทำละเมิด จำเลยที่ 1 ได้กระทำในทางการที่จ้างและในธุรกิจประกอบการขนส่งของจำเลยที่ 2 และที่ 4 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินจำนวน 381,306 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 361,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินจำนวน 301,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 266,000 บาท นับแต่วันที่ 27 มีนาคม 2542 ไปจนกว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 6,000 บาท ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินจำนวน 301,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 266,000 บาท นับแต่วันที่ 27 มีนาคม 2542 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ นอกจากนี้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสี่มิได้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน นค-674 เชียงใหม่ จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการขนส่งโดยมีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 4 มีชื่อเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-0782 ศรีสะเกษ และได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคล จำเลยที่ 4 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองรถและนำรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวไปประกอบกิจการขนส่ง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2542 เวลา 13.40 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-0782 ศรีสะเกษ ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 มาตามถนนสายเอเชียแล่นมุ่งหน้าไปทางจังหวัดนครสวรรค์ด้วยความประมาทเมื่อถึงที่เกิดเหตุบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 92 ถึง 93 ตำบลตานิม อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ล้อหลังด้านซ้ายของรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวหลุดออกจากตัวรถกระเด็นข้ามร่องกลางถนนมายังฝั่งตรงข้ามกระแทกถูกรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน กง-2466 นครสวรรค์ ที่มีนายสุรพงษ์ ขับแล่นสวนทางมาตามถนนสายเอเชียมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพมหานคร ทำให้รถยนต์เก๋งเสียหลักไปทางด้านซ้ายและเฉี่ยวชนกับรถยนต์ของโจทก์เป็นเหตุให้รถยนต์เก๋งและรถยนต์ของโจทก์พลิกคว่ำตกลงไปในร่องกลางถนนได้รับความเสียหาย และมีผู้โดยสารในรถยนต์ของโจทก์ถึงแก่ความตาย 1 คน และได้รับอันตรายสาหัส 2 คน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 3 และที่ 4 ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า รถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-0782 ศรีสะเกษ คันเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ได้เช่าซื้อมาจากจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยที่ 4 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการขนส่ง ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวและนำรถไปประกอบกิจการขนส่ง นายอาคม พยานโจทก์ซึ่งรับราชการตำแหน่งขนส่งจังหวัดศรีสะเกษเบิกความว่า เงื่อนไขในการขอใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลนั้น ผู้ยื่นคำขอจะต้องเป็นผู้ประกอบการและมีรถยนต์เป็นของตนเองหรือเป็นผู้เช่าซื้อก็ได้ จำเลยที่ 2 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ทราบว่าจำเลยที่ 2 ซื้อรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวมาเพื่อใช้ในการประกอบการใช้รถขนส่ง ในการขนส่งนั้นจะต้องมีใบอนุยาตประกอบการจึงจะรับจ้างขนส่งได้ ที่จำเลยที่ 2 ซื้อรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวมาก็เพื่อจะใช้ใบประกอบการของจำเลยที่ 4 เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปจากจำเลยที่ 4 แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นเพียงผู้เช่าซื้อก็ย่อมสามารถนำรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปยื่นขอใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลได้ การที่จำเลยที่ 4 ยังยินยอมให้จำเลยที่ 2 นำรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปใช้ในการประกอบการขนส่งและใช้ใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลของจำเลยที่ 4 อยู่ในขณะเกิดเหตุโดยจำเลยที่ 4 มิได้ทักท้วงหรือแจ้งถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งของรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวอีกทั้งยังได้ความจากจำเลยที่ 3 ตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า รถคันเกิดเหตุมีป้ายวงกลมซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 4 ติดอยู่ที่หน้ากระจกรถด้วย ดังนี้ที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 อ้างว่าไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือรับประโยชน์จากจำเลยที่ 2 นั้น จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พฤติการณ์ของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 มีผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบการขนส่งโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ เมื่อขณะเกิดเหตุกระทำละเมิดจำเลยที่ 1 ได้กระทำในทางการที่จ้างและในธุรกิจประกอบการขนส่งของจำเลยที่ 2 และที่ 4 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 4 ดังนั้น จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อโจทก์ด้วยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาจำเลยที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share