คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3973/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ฯ มาตรา 4 (6) ได้ให้ความหมายคำว่า “มี” ว่า หมายถึงมีกรรมสิทธิ์หรือมีไว้ในครอบครอง จำเลยร้องบอกพวกให้ส่งอาวุธปืนให้ พวกของจำเลยจึงส่งอาวุธปืนให้แก่จำเลย แล้วจำเลยยิง แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้ครอบครองอาวุธปืนมาแต่แรกขณะที่จำเลยยิงนั้นพวกของจำเลยซึ่งส่งอาวุธปืนให้ก็ยังอยู่ด้วยกัน การใช้อาวุธปืนของจำเลยเป็นเพียงชั่วคราวในขณะที่ยิงเท่านั้น อาวุธปืนจึงยังคงอยู่ในครอบครองของพวกจำเลย แม้จำเลยรู้ว่าพวกของจำเลยมีอาวุธปืน ก็จะฟังเป็นผลร้ายแก่จำเลยไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาร่วมในการครอบครองอาวุธปืนดังกล่าวมาแต่ต้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนการพาอาวุธปืนติดตัวไปนั้น ก่อนเกิดเหตุพวกของจำเลยเป็นคนพาอาวุธปืนติดตัวไป จำเลยจึงอาจส่งมอบคืนให้แก่พวกแล้วต่างคนต่างหลบหนีไปก็ได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 288, 371
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 288 จำคุก 12 ปี ยกฟ้องข้อหามีและพาอาวุธปืน
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นรวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 12 ปี ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นบทที่หนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 24 ปี 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อระหว่างวันที่ 16 มีนาคม 2545 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 17 มีนาคม 2545 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ถูกยิง ได้รับบาดเจ็บตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นข้อแรกว่า จำเลยพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสอง และเป็นการกระทำต่างกรรมกันหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีผู้เสียหายทั้งสอง นายอนุรักษ์ นายภูพิงค์ และนายสุมิตร เบิกความเป็นพยานยันยันว่าจำเลยเป็นคนยิง โดยได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ว่า ขณะที่จำเลยยิงผู้เสียหายที่ 1 นั้น จำเลยอยู่ห่างจากผู้เสียหายที่ 1 ประมาณ 2 ถึง 3 เมตร ผู้เสียหายที่ 1 มีโอกาสเห็นหน้าจำเลย 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกตอนท้าแข่งรถจักรยานยนต์ และครั้งที่สองขณะยิง โดยเห็นจากแสงสว่างไฟฟ้าสาธารณะและไฟที่ติดที่บริเวณรั้วของสำนักงานการไฟฟ้า ได้ความจากคำเบิกความของนายอนุรักษ์ว่า จำหน้าจำเลยได้ เนื่องจากมีการชกต่อยกัน ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความว่า ขณะที่จำเลยยิงผู้เสียหายที่ 2 นั้น จำเลยอยู่ห่างจากผู้เสียหายที่ 2 ประมาณ 2 เมตร ส่วนนายภูพิงค์เบิกความว่าขณะที่จำเลยยิงนายภูพิงค์ จำเลยอยู่ห่างจากนายภูพิงค์ประมาณ 3 เมตร สำหรับนายสุมิตรนั้นเบิกความว่า ขณะที่จำเลยยิง นายอนุรักษ์ ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 1 นั้น นายสุมิตรตกใจยืนอยู่กับที่ไม่ได้หลบหนี เช่นนี้มีเหตุผลให้เชื่อตามคำเบิกความพยานโจทก์ทั้งห้าปากดังกล่าวเนื่องจากพยานโจทก์มีโอกาสเห็นหน้าจำเลยได้ เพราะมีการท้าแข่งรถจักรยานยนต์กันขณะที่จำเลยยิงอยู่ห่างกันไม่ไกลเพียง 2 ถึง 3 เมตรเท่านั้น โดยปรากฏว่าที่เกิดเหตุอยู่หน้าสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีแสงสว่างดังปรากฏตามภาพถ่ายสถานที่เกิดเหตุในเอกสารหมาย จ.1 ที่ร้อยตำรวจเอกอดุลย์ พนักงานสอบสวนออกไปตรวจสถานที่เกิดเหตุและถ่ายรูปไว้ในคืนเกิดเหตุนั่นเองตรงตามคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเบิกความว่า ที่เกิดเหตุมีแสงสว่างจากไฟฟ้าสาธารณะและไฟที่ติดไว้บริเวณรั้วของสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดจันทบุรี โดยเฉพาะนายอนุรักษ์มีการชกต่อยกับจำเลยจึงต้องหันหน้าเข้าประชิดกันหลังเกิดเหตุเพียง 2 วัน นายอนุรักษ์ นายภูพิงค์และนายสุมิตรไปชี้ยืนยันให้จ่าสิบตำรวจพงษ์ศักดิ์ จับกุมจำเลย นับว่าเป็นระยะเวลาใกล้เคียงกับวันเกิดเหตุความจำของพยานทั้งสามยังดีอยู่ ซึ่งผู้เสียหายที่ 1 ก็เบิกความยืนยันสนับสนุนว่าหลังเกิดเหตุ 3 วัน เจ้าพนักงานตำรวจนำจำเลยไปให้ดูตัว ผู้เสียหายที่ 1 ยืนยันว่าเป็นคนที่ใช้อาวุธปืนยิง ส่วนผู้เสียหายที่ 2 ไม่ได้ชี้ยืนยันเนื่องจากปวดศีรษะ (จากพิษกระสุนปืน) แม้พยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความไม่ตรงกันทั้งหมดก็เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อย ไม่ถึงกับเป็นพิรุธ การที่พยานโจทก์ดังกล่าวต่างไม่รู้จักจำเลยและไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนเกิดเหตุ จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่า เป็นการใส่ความปรักปรำจำเลย พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ ทางด้านพยานหลักฐานของจำเลยกลับไม่น่าเชื่อถือ กล่าวคือ ไม่มีเหตุผลที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์ให้นางสาวปวีณา ซ้อนท้ายผ่านไปหน้าสำนัหงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดจันทบุรี ตามปกติจะถูกถีบรถจักรยานยนต์ล้มลงแล้วถูกรุมต่อยโดยไม่มีสาเหตุ แม้จำเลยมีนางสาวปวีณาเบิกความเป็นพยานเช่นเดียวกับจำเลย แต่นางสาวปวีณาก็เป็นเพื่อนจำเลยย่อมต้องช่วยเหลือจำเลยเป็นธรรมดา ส่วนที่จำเลยนำสืบว่า วันเกิดเหตุจำเลยขับรถจักรยานยนต์ยี่ห้อคาวาซากิ สีแดง หมายเลขทะเบียน กนน จันทบุรี 951 ไม่ใช่รถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นโซนิค ตามคำเบิกความของนายปรีชาและนายภูพิงค์พยานโจทก์นั้น เห็นว่า แม้จำเลยมีนายบุญเสริม ผู้ใหญ่บ้านเบิกความเป็นพยานว่า ที่บ้านจำเลยประกอบอาชีพรับซื้อของเก่า มีรถจักรยานยนต์ 1 คัน ยี่ห้อคาวาซากิ สีแดง และนายวิชิต บิดาจำเลยเบิกความว่า วันเกิดเหตุจำเลยขับรถยี่ห้อคาวาซากิ สีแดง ซึ่งภรรยานายวิชิตเช่าซื้อมาจากบริษัท ทั้งมีนายชรัตน์ นายวุฒิชัย และนางสาวปวีณาเบิกความเช่นเดียวกันก็ตาม แต่ก็เป็นการเบิกความโดยปราศจากเอกสารยืนยัน ไม่ว่าจะเป็นทะเบียนรถหรือสัญญาเช่าซื้อ จึงไม่อาจรับฟังว่าเป็นจริงดังคำเบิกความ พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักพอหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นคนใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสอง การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสอง ถูกผู้เสียหายที่ 1 ที่ชายโครงด้านซ้าย และถูกผู้เสียหายที่ 2 ที่กะโหลกศีรษะ นับว่าเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย จำเลยย่อมเล็งเห็นผลว่าจะทำให้ผู้เสียหายทั้งสองถึงแก่ความตายได้ย่อมถือว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งสอง เมื่อผู้เสียหายทั้งสองไม่ถึงแก่ความตายจำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสอง ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยยิงผู้เสียหายทั้งสองที่มาด้วยกันในคราวเดียวกันในระยะกระชั้นชิดติดต่อกัน โดยมีเจตนาเดียว จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวไม่ใช่หลายกรรมตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษานั้น เห็นว่า ตามคำเบิกความของนายสุมิตร ซึ่งไม่ได้วิ่งหลบหนีนั้น จำเลยยิงผู้เสียหายที่ 2 แล้วหันไปยิงผู้เสียหายที่ 1 เช่นนี้ ผู้เสียหายทั้งสองไม่ได้ยืนอยู่จุดเดียวกัน จำเลยจึงประสงค์ให้เกิดผลแก่ผู้เสียหายทั้งสองคนละคราวกัน เป็นการกระทำที่ต่างกรรมกัน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยปัญหาข้อนี้มาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยมีความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์ต่างเบิกความตรงกันว่า จำเลยร้องบอกพวกให้พวกของจำเลยจึงส่งอาวุธปืนให้แก่จำเลย แล้วจำเลยยิง แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้ครอบครองอาวุธปืนมาแต่แรก พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4 (6) ได้ให้ความหมายคำว่า “มี” ว่าหมายถึงมีกรรมสิทธิ์หรือมีไว้ในครอบครอง โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกับพวกในการมีกรรมสิทธิ์หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธปืนดังกล่าว ปรากฏว่าขณะที่จำเลยยิงนั้นพวกของจำเลยซึ่งส่งอาวุธปืนให้ก็ยังอยู่ด้วยกัน การใช้อาวุธปืนของจำเลยเป็นเพียงชั่วคราวในขณะที่ยิงเท่านั้น อาวุธปืนจึงยังคงอยู่ในครอบครองของพวกจำเลย แม้จำเลยรู้ว่าพวกของจำเลยมีอาวุธปืน ก็จะฟังเป็นผลร้ายแก่จำเลยไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาร่วมในการครอบครองอาวุธปืนดังกล่าวแต่ต้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โดยไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่า เป็นอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นหรือไม่ ส่วนการพาอาวุธปืนติดตัวไปนั้น เป็นที่แน่ชัดว่าก่อนเกิดเหตุพวกของจำเลยเป็นคนพาอาวุธปืนติดตัวไป สำหรับหลังเกิดเหตุนั้น โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยเป็นคนนำอาวุธปืนติดตัวไป จำเลยจึงอาจส่งมอบคืนให้แก่พวกแล้วต่างคนต่างหลบหนีไปก็ได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และข้อหาพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share