แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยเป็นพนักงานธนาคารย่อมรู้ดีถึงความแตกต่างระหว่างสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาตัวแทน หากโจทก์มอบเงิน 300,000 บาท ให้จำเลยเพื่อให้จำเลยไปปล่อยเงินกู้แทนโจทก์โดยจำเลยเพียงมีหน้าที่เก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้มาส่งให้โจทก์ตามข้อกล่าวอ้างของจำเลย จำเลยก็สามารถทำสัญญาตัวแทนมอบเป็นหลักฐานให้แก่โจทก์ตรงตามข้อเท็จจริงได้ แต่จำเลยกลับทำเป็นสัญญากู้เงินจำนวนดังกล่าวให้ไว้แก่โจทก์เท่านั้น ย่อมชี้ให้เห็นว่าเป็นการกู้ยืมเงินกันจริง แม้จำเลยนำเงินที่ได้จากโจทก์ไปให้บุคคลอื่นกู้ยืมต่อในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า ก็เป็นเรื่องที่จำเลยได้รับประโยชน์จากส่วนต่างของดอกเบี้ย การที่จำเลยไม่ได้รับชำระหนี้จากบุคคลที่กู้ยืมเงินจากจำเลยก็เป็นเรื่องที่จำเลยต้องเสี่ยงภัยเอาเอง แต่จำเลยยังคงต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินที่ทำให้ไว้แก่โจทก์ กรณีไม่ใช่เรื่องที่จำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์แต่อย่างใดข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าสัญญาที่จำเลยทำให้ไว้แก่โจทก์เป็นสัญญากู้ยืมเงินที่แท้จริงไม่ใช่นิติกรรมอำพรางสัญญาตัวแทนระหว่างโจทก์กับจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน 300,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือน โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาชำระต้นเงินคืน หลังจากจำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์แล้วไม่ได้ชำระดอกเบี้ยตามที่ตกลงไว้ให้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระดอกเบี้ยและคืนต้นเงินหลายครั้งแต่จำเลยเพิกเฉย คิดถึงวันฟ้องจำเลยยังค้างชำระดอกเบี้ย 382,500 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 682,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 682,500 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 300,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องเพื่ออำพรางสัญญาตัวแทนที่โจทก์ให้จำเลยนำเงินตามสัญญากู้ยืมเงินไปให้บุคคลภายนอกลงทุนหาผลประโยชน์ โดยคู่กรณีไม่มีเจตนาผูกพันกันตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว ดอกเบี้ยตามคำฟ้องจึงไม่ถูกต้อง การบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้ไม่ชอบ โดยจำเลยไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวทางถามจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 มกราคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์กำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินให้ไว้แก่โจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงข้อเดียวว่าสัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาตัวแทนระหว่างโจทก์กับจำเลยหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยมีหลักฐานภาพถ่ายสำเนาคำพิพากษามาอ้างเป็นพยานระบุว่านางเข็มทอง ได้ออกเช็คให้แก่จำเลยจริง แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยว่า จำเลยให้นางเข็มทองกู้ยืมเงินไปตั้งแต่ขณะที่จำเลยทำงานอยู่ที่ธนาคารออมสิน สาขาราชดำเนิน ก่อนที่จะรู้จักกับโจทก์ แสดงให้เห็นว่าจำเลยรู้ดีถึงวิธีการปล่อยเงินกู้อยู่แล้วว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง หากจำเลยประสงค์จะเป็นตัวแทนของโจทก์ จำเลยก็สามารถที่จะทำสัญญาตัวแทนให้แก่โจทก์ได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องทำเป็นสัญญากู้ยืมเงินแต่อย่างใด ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยต่อไปว่าจำเลยย้ายไปทำงานอยู่ที่ธนาคารออมสิน สาขาบางแค เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2534 และได้รู้จักกับโจทก์ จำเลยจึงเล่าเรื่องการปล่อยเงินกู้ของจำเลยให้โจทก์ฟัง โจทก์ร่วมลงทุน 100,000 บาท ต่อมาประมาณปี 2535 โจทก์ร่วมลงทุนอีก 200,000 บาท เช่นนี้ แสดงว่าจำเลยได้รับเงินจำนวน 300,000 บาท ไปจากโจทก์แล้ว การที่หนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ระบุว่าจำเลยได้รับเงินจำนวน 300,000 บาท ไปจากโจทก์แล้วจึงถูกต้อง แม้นายสัญชัย พยานในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว ไม่เห็นการส่งมอบเงินก็ไม่ทำให้สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวเสื่อมเสียไปจนไม่อาจรับฟังได้แต่อย่างใด จำเลยเป็นพนักงานธนาคารย่อมรู้ดีถึงความแตกต่างระหว่างสัญญากู้ยืมเงิน และสัญญาตัวแทนแต่จำเลยกลับทำสัญญากู้ยืมเงินให้แก่โจทก์ ย่อมชี้ให้เห็นว่าเป็นการกู้ยืมเงินกันจริง แม้จำเลยนำเงินที่ได้จากโจทก์ไปให้บุคคลอื่นกู้ยืมต่อในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า ก็เป็นเรื่องที่จำเลยได้รับประโยชน์จากส่วนต่างของดอกเบี้ย การที่จำเลยไม่ได้รับชำระหนี้จากบุคคลที่กู้ยืมเงินจากจำเลยก็เป็นเรื่องที่จำเลยต้องเสี่ยงภัยเอาเอง แต่จำเลยยังคงต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินที่ทำให้ไว้แก่โจทก์ กรณีไม่ใช่เรื่องที่จำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์แต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าสัญญาที่จำเลยทำให้ไว้แก่โจทก์เป็นสัญญากู้ยืมเงินที่แท้จริงไม่ใช่นิติกรรมอำพรางสัญญาตัวแทนระหว่างโจทก์กับจำเลย ดังนั้น จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 3,000 บาท แทนโจทก์