คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10669/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกเงินจากการที่พนักงานของโจทก์โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากจำเลยที่ 1 เป็นค่าตอบแทนจากการจำหน่ายสินค้า เกินกว่าที่จำเลยที่ 1 ควรจะได้รับ เป็นกรณีฟ้องเรียกคืนทรัพย์ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองได้รับโดยปราศจากมูลจะอ้างตามกฎหมาย เข้าลักษณะลาภมิควรได้ ห้ามฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าจะมีสิทธิเรียกคืน หรือเมื่อพ้นกำหนดเวลาสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น การที่ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 มีการตรวจหนี้สินระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองครั้งสุดท้าย พบว่าโจทก์ส่งเงินมูลค่าสูงกว่าให้จำเลยทั้งสอง วันดังกล่าวจึงก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ ที่จะเรียกคืนฐานลาภมิควรได้ โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 6 ตุลาคม 2549 ยังไม่เกินหนึ่งปีนับแต่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกเงินที่ส่งผิดพลาดคืน คดีจึงไม่ขาดอายุความ
เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนจากการจำหน่ายสินค้าจากโจทก์มากกว่าที่โจทก์ส่งให้จำเลยทั้งสองผิดพลาด หลักลบกลบหนี้แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินคืนจากจำเลยทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 587,853.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 549,571.20 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ฟ้องคดีอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน โจทก์มอบให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าประเภทวัสดุที่ใช้คลุมตู้สินค้าหรือใช้ในการห่อหุ้มสินค้าระหว่างการขนส่งรวมทั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง หากจำเลยที่ 1 ขายสินค้าให้แก่ลูกค้าได้ โจทก์ตกลงให้ค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้าแก่จำเลยทั้งสอง โดยคำนวณจากราคาขายสินค้าในอัตราที่ตกลงกันเป็นคราว ๆ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2548 พนักงานของโจทก์โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 เป็นค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้าเป็นเงิน 29,436 ดอลลาร์สหรัฐ เกินกว่าที่จำเลยที่ 1 ควรจะได้รับเป็นเงิน 16,364 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อหักกับค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้าซึ่งจำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับจากการจำหน่ายสินค้าช่วงเดือนสิงหาคม 2548 ถึงเดือนตุลาคม 2548 จากโจทก์เป็นเงิน 136,400 บาท แล้ว จำเลยทั้งสองต้องคืนเงินให้โจทก์อีก 13,110 ดอลลาร์สหรัฐ แต่จำเลยทั้งสองไม่คืนให้ โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลยทั้งสองเป็นเงินไทยพร้อมดอกเบี้ยอัตราตามกฎหมาย จึงเป็นกรณีซึ่งโจทก์ฟ้องเรียกคืนทรัพย์ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองได้รับโดยปราศจากมูลอันจะอ้างตามกฎหมาย เข้าลักษณะลาภมิควรได้ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 บัญญัติไว้ว่า ห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าจะมีสิทธิเรียกคืน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น ในเบื้องต้นข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2548 พนักงานของโจทก์ส่งโทรสารมายังจำเลยที่ 2 เพื่อแสดงว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้าจากโจทก์ เป็นเงิน 12,370 ดอลลาร์สหรัฐ จำนวนหนึ่งกับเป็นเงิน 29,436 บาท อีกจำนวนหนึ่ง แต่โจทก์โอนเงิน 29,436 ดอลลาร์สหรัฐ ให้จำเลยทั้งสองเข้าบัญชีบริษัทเตียวฮง คอมเมอร์เชี่ยล แอนด์ ไฟแนนซ์ จำกัด ประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2548 ตามทางปฎิบัติการโอนค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง ต่อมาวันที่ 4 ตุลาคม 2548 โจทก์มีหนังสือฉบับลงวันที่ 4 ตุลาคม 2548 ถึงจำเลยที่ 2 บอกเลิกสัญญาที่จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนขายสินค้าให้แก่โจทก์ ซึ่งมิได้กล่าวไว้ชัดแจ้งว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองมีข้อบาดหมางประการใดซึ่งเป็นเหตุในการเลิกสัญญาต่อกัน จึงต้องพิเคราะห์สาเหตุการเลิกสัญญาจากคำเบิกความของพยานบุคคลประกอบด้วย นายคิมพยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า สาเหตุที่โจทก์บอกเลิกสัญญา เนื่องจากยอดขายของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นที่พอใจของโจทก์ รวมทั้งฝ่ายจำเลยไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการติดต่อกับโจทก์ กับนายคิมเบิกความว่า หลังการบอกเลิกสัญญาแล้ว หากมีคำสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ภายในวันที่ 4 ตุลาคม 2548 โจทก์ยังคงจ่ายค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้าให้จำเลยทั้งสอง หากลูกค้าสั่งซื้อหลังจากนั้น โจทก์ก็จะไม่จ่ายเงินให้ ส่วนจำเลยที่ 2 ในฐานะตนเองและในฐานะผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ให้การในบันทึกให้ถ้อยคำต่อศาลว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการจำหน่ายสินค้าให้โจทก์ในประเทศไทย โดยไม่ได้ทำสัญญาตั้งตัวแทนเป็นลายลักษณ์อักษร ในช่วงแรกโจทก์จัดส่งตารางสรุปค่าตอบแทนให้เป็นรายเดือน ในช่วงหลัง ๆ โจทก์ไม่ค่อยส่งมา พยานต้องติดตามทวงถามโจทก์จึงจัดส่งให้ หากมีปัญหาเรื่องการชำระค่าตอบแทน (ค่านายหน้า) พยานจะติดต่อกับกรรมการของโจทก์คือนางแมร์เร็ตเต้ โยเก็นเซ็น หรือนายเดนนิส เท่านั้น ไม่ได้ติดต่อกับผู้อื่น เดิมจำเลยทั้งสองได้ค่าตอบแทนจากโจทก์ในอัตราเดียวคือร้อยละ 28 ของราคาสินค้า ต่อมาโจทก์ขยายกิจการตั้งบริษัทแคร์เท็กซ์ จำกัด ในประเทศไทยและใกล้ชิดลูกค้ามากขึ้น จึงขอปรับค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายแก่จำเลยทั้งสองลงเป็นร้อยละ 25 สุดท้ายขอลดลงเหลือร้อยละ 20 คำเบิกความของจำเลยที่ 2 ในส่วนนี้แสดงให้เห็นว่า โจทก์มีหน้าที่จัดทำตารางสรุปค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้าซึ่งจะจ่ายให้จำเลยทั้งสองเป็นรายเดือน จากนั้นในเดือนถัดมาหรือในเดือนต่อ ๆ มา โจทก์จึงส่งเงินค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้าตามตารางสรุปค่าตอบแทนดังกล่าว คำนวณในช่วงเวลาหนึ่งจัดส่งให้แก่จำเลยทั้งสองตามที่โจทก์แจ้งจำนวนเงินให้จำเลยทั้งสองทราบล่วงหน้าแล้ว ดังจะเห็นได้จากตารางสรุปค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้าเมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคม 2548 แสดงว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับ 12,370 ดอลลาร์สหรัฐ กับ 29,436 บาท จากโจทก์ แต่โจทก์โอนเงิน 29,436 ดอลลาร์สหรัฐให้จำเลยทั้งสอง เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2548 เป็นการโอนเงินที่ผิดพลาดเพราะควรโอนเงิน 29,436 บาท แต่กลับโอนผิดสกุลเงินเป็น 29,436 ดอลลาร์สหรัฐแทน ส่วนเงิน 12,370 ดอลลาร์สหรัฐ นั้นโจทก์ยังไม่ได้โอนให้ไป ปรากฏตามคำแปล ซึ่งเป็นโทรสารจากพนักงานของโจทก์ชื่อ “บริเท็น” ส่งถึงจำเลยที่ 2 อ้างว่าเป็นการส่งตารางคำนวณค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้าประจำเดือนสิงหาคม 2548 มาให้โดยการโอนเข้าบัญชีทันทีเมื่อได้รับการยืนยันว่าไม่มีเงินค้างจากลูกค้าคนไทย ข้อความในตอนนี้จึงสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในคดีที่ว่า การที่โจทก์ยังไม่โอนเงิน 12,370 ดอลลาร์สหรัฐ ในคราวเดียวกับการโอนเงิน 29,436 บาท ซึ่งโจทก์โอนผิดพลาดโดยโอนเงิน 29,436 ดอลลาร์สหรัฐให้จำเลยทั้งสองแทน เป็นเพราะจำเลยทั้งสองจะต้องยืนยันว่าไม่มีเงินค้างจากลูกค้าคนไทย คือจำเลยทั้งสองต้องส่งเงินที่รับชำระจากลูกค้าไว้แทนโจทก์ ส่งให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว จึงจะมีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้าครบทุกจำนวน ทางปฏิบัติเช่นนี้ส่อแสดงว่า โจทก์ต้องตรวจสอบค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้าที่จะโอนให้จำเลยทั้งสองในงวดการโอนต่อ ๆ มา แม้โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสองในวันที่ 4 ตุลาคม 2548 ก็ตาม โจทก์ยังถือปฏิบัติที่จะจ่ายเงินค่าตอบแทนให้จำเลยทั้งสองสำหรับลูกค้ารายที่จำเลยทั้งสองแนะนำจนมีการซื้อสินค้าจากโจทก์จนถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2548 ด้วย การที่โจทก์ตรวจบัญชีแล้วพบการโอนสกุลเงินผิดพลาดหลังจากบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสองแล้วจึงอาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งตรงกับที่จำเลยที่ 2 เบิกความว่าในช่วงหลัง ๆ โจทก์ไม่ค่อยส่งตารางสรุปค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้ามา จำเลยที่ 2 ต้องติดตามทวงถาม โจทก์จึงจัดส่งให้ โจทก์ส่งโทรสาร ถึงจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2548 แจ้งว่าตรวจสอบ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2548 แล้วมีการโอนสกุลเงินให้จำเลยที่ 1 ผิดพลาดไป ซึ่งเมื่อหักกลบลบกับค่าตอบแทนซึ่งจำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับจากโจทก์แล้ว จำเลยทั้งสองต้องโอนเงินคืนโจทก์ 13,110 ดอลลาร์สหรัฐ การส่งโทรสารฉบับนี้นับได้ว่าสอดคล้องกับทางปฏิบัติของโจทก์ คือตรวจสอบยอดหนี้สินต่อกันเมื่อสิ้นเดือนหนึ่ง ๆ จึงพบว่ามีการโอนเงินผิดสกุลเงินแล้วทวงถามในวันที่ 2 ของเดือนถัดมา เช่นเดียวกับการทำตารางสรุปค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้า ประจำเดือนกรกฎาคม 2548 เป็นการทำตารางสรุปค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้าในวันที่ 29 สิงหาคม 2548 และมีการจัดส่งเงินค่าตอบแทนให้แก่จำเลยทั้งสองในวันที่ 2 กันยายน 2548 ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของเดือนถัดมาเช่นกัน การส่งเงินให้แก่จำเลยทั้งสอง นั้นไม่ปรากฏชื่อผู้ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้เป็นผู้โอนเงิน ส่วนโทรสารซึ่งพนักงานโจทก์ชื่อ “บริเท็น” ส่งไปยังจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2548 นั้น ต้นฉบับภาษาอังกฤษกลับระบุเป็นภาษาไทยว่า “วันที่ 8 กันยายน 2548” ซึ่งหมายถึงวันส่งโทรสารดูเป็นเรื่องผิดปกติที่มีภาษาไทยแทรกในเนื้อความภาษาอังกฤษอยู่ตอนเดียว ทั้งคำแปลโทรสาร สรุปความได้ว่า เป็นการแจ้งข้อผิดพลาดของการคำนวณอัตราค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้าจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 10 และมีการจ่ายเงินค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้าให้จำเลยทั้งสองไปตามอัตราที่คำนวณผิดพลาดนั้น โทรสารของฝ่ายโจทก์ฉบับลงวันที่ 12 กันยายน 2548 ฉบับภาษาอังกฤษก็ระบุวันส่งโทรสารเป็นภาษาไทยแทรกอยู่ตอนเดียวในภาษาอังกฤษซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติเช่นเดียวกัน คำแปลโทรสารฉบับนี้เท้าความถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจนต้องส่งโทรสาร ถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งหมายถึงความผิดพลาดในการคำนวณอัตราค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้ามิใช่ความผิดพลาดในการส่งสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งมูลค่าสูงกว่าเงินบาทมาให้แทน การที่โจทก์ส่งโทรสารฉบับลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2548 ให้จำเลยที่ 2 แจ้งว่า ได้ส่งค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้าให้จำเลยทั้งสองผิดพลาดแทนที่จะส่งเงิน 29,436 บาท ให้ กลับส่งเงิน 29,436 ดอลลาร์สหรัฐแทน เมื่อหักกลบลบหนี้กับค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้าซึ่งจำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับแล้ว เป็นการรับเงินเกินไป 13,110 ดอลลาร์สหรัฐ ขอให้ส่งเงินคืนแก่โจทก์ด้วยนั้น เป็นโทรสารซึ่งส่งในวันที่ 2 ของเดือน ถัดไป นับแต่สิ้นเดือนตุลาคม 2548 ซึ่งต้องตัดยอดบัญชีกันจนถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2548 อันเป็นวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญา เชื่อว่าพนักงานโจทก์ชื่อ “คริสต้า เอิร์บส์” เพิ่งตรวจสอบหนี้สินระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองครั้งสุดท้ายเมื่อปิดบัญชีหนี้สินระหว่างกัน ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2548 ซึ่งเป็นวันส่งโทรสาร ตามทางปฏิบัติที่มีต่อกัน จึงพบว่าโจทก์ส่งเงินในสกุลเงินมูลค่าสูงกว่าให้จำเลยทั้งสองไปในวันดังกล่าว ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะเรียกคืนฐานลาภมิควรได้จากจำเลยทั้งสองนับแต่นั้น ที่จำเลยที่ 2 เบิกความว่าโจทก์ทวงถามเงินที่ส่งผิดพลาดนี้คืนจากจำเลยทั้งสองทางโทรศัพท์ก่อนหน้านี้แล้วนั้น เป็นแต่เพียงคำเบิกความลอย ๆ ไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงสนับสนุน โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 6 ตุลาคม 2549 ยังไม่เกินหนึ่งปีนับแต่โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกเงินที่ส่งผิดพลาดคืน คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความแล้วนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประเด็นต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เพราะเงินค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้าซึ่งจำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับจากโจทก์มีจำนวนมากกว่าหนี้ที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ในเบื้องต้นข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การที่โจทก์แต่งตั้งให้จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนขายสินค้าให้โจทก์นั้น กระทำโดยไม่มีลายลักษณ์อักษร โจทก์บรรยายฟ้องว่า อัตราค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้าที่โจทก์จะจ่ายให้จำเลยทั้งสองนั้นมีการตกลงกันเป็นคราว ๆ นายคิม เฮนริคเซ่น พนักงานโจทก์ให้ถ้อยคำในบันทึกยืนยันข้อเท็จจริงต่อศาลว่า อัตราค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้านั้นไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับจำนวนสินค้าที่สั่งซื้อและการตกลงกันเป็นคราว ๆ ไป และพยานเบิกความตอบคำถามค้านว่าผู้มีอำนาจตัดสินใจจ่ายค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้าคือกรรมการโจทก์ จำเลยที่ 2 เบิกความว่า เมื่อโจทก์ตั้งสาขาในประเทศไทยทำให้ใกล้ชิดกับลูกค้าในประเทศไทยมากขึ้น จึงลดอัตราค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้าที่จ่ายให้จำเลยทั้งสองลง โดยฝ่ายจำเลยไม่ได้ตกลงด้วย จึงมีข้อขัดแย้งกันในระยะหลัง ๆ และปรากฏว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาต่อจำเลยทั้งสองในเวลาต่อมา เห็นว่า โจทก์ไม่มีกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์มาเบิกความยืนยันว่าค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้าที่จ่ายให้จำเลยทั้งสองนั้น แต่ละรายการจ่ายให้ในอัตราเท่าใด ว่า พนักงานโจทก์แจ้งจำเลยที่ 2 ว่า มีการจ่ายเงินค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้าผิดพลาดไป แทนที่จะจ่ายในอัตราร้อยละ 5 กลับจ่ายในอัตราร้อยละ 10 คดีจึงมีเค้ามูลว่าโจทก์อาจปรับลดอัตราค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้าลงโดยจำเลยทั้งสองยังมิได้ตกลงยินยอมด้วย ตราบที่สัญญาตั้งตัวแทนยังไม่เลิกต่อกัน คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่จะแก้ไขปลี่ยนแปลงอัตราค่าตอบแทนจำหน่ายสินค้าให้ผิดไปจากที่เคยตกลงกันตามธรรมเนียมปฏิบัติแต่เดิม โดยปราศจากความยินยอมจากคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งหาได้ไม่ เมื่อจำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีว่า เงินค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้ามีอัตราสูงกว่าจำนวนเงินที่โจทก์อ้างว่าส่งให้จำเลยทั้งสองผิดพลาดและขอเรียกคืน โจทก์อ้างประเพณีการหักกลบลบหนี้ระหว่างกันดังที่ได้บรรยายมาในฟ้องและนำสืบมา ซึ่งจำเลยทั้งสองก็ยอมรับประเพณีปฏิบัติเรื่องการหักกลบลบหนี้ด้วย แต่โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้าที่จำเลยทั้งสองนำมาหักกลบลบหนี้กับจำนวนเงินที่โจทก์ส่งให้จำเลยทั้งสองผิดพลาดไปนั้น จำนวนใดเป็นเงินสูงกว่ากัน เพราะฝ่ายโจทก์ไม่มีผู้ใดรู้เห็นอย่างชัดแจ้งในการกำหนดอัตราค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้าซึ่งตกลงกับฝ่ายจำเลยเป็นคราว ๆ ไป ต่างจากฝ่ายจำเลยซึ่งมีจำเลยที่ 2 ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 มาเบิกความว่า การคิดค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้าในอัตราต่ำลงนั้น ฝ่ายจำเลยไม่ได้ตกลงด้วย พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองจึงมีน้ำหนักมากกว่าโจทก์ คดีฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนการจำหน่ายสินค้าจากโจทก์มากกว่าเงินที่โจทก์ส่งผิดพลาดให้จำเลยทั้งสอง ซึ่งเมื่อหักกลบลบหนี้แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินคืนจากจำเลยทั้งสองอีกต่อไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

Share