แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3225 ในวงเงินจำนองเพียง 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเท่านั้น แต่การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่ 1 เป็นเงินถึง 19,143,180.49 บาท พร้อมดอกเบี้ย หากยึดที่ดินจำนองโฉนดเลขที่ 1441 ของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์แล้วไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ จึงไม่เป็นไปตามที่ได้วินิจฉัยไว้ ซึ่งที่ถูกต้องพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ หากยึดที่ดินจำนองของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์แล้วไม่พอ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ เนื่องจากจำเลยที่ 4 ไม่ได้ทำสัญญาผูกพันตนเข้าร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้ดังกล่าว คำพิพากษาของศาลชั้นต้นสำหรับจำเลยที่ 4 ในหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นการผิดหลง ศาลย่อมมีอำนาจที่จะแก้ไขข้อผิดหลงนั้นให้ถูกต้องสอดคล้องกับข้อเท็จจริงและคำวินิจฉัยของศาลได้แม้คดีจะถึงที่สุด
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอเอฟซีที ไฟแนนซ์ จำกัด (มหาชน) ตามสัญญากู้ฉบับที่ 1 และจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 1441 และ 1446 (ที่ดินโฉนดเลขที่ 1466 มีการปลดจำนองไปแล้ว) ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นประกันการชำระหนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากนั้นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอเอฟซีที ไฟแนนซ์ จำกัด (มหาชน) ถูกควบรวมกิจการพร้อมโอนสินทรัพย์และหนี้สินให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 กับโจทก์ทำสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยโจทก์ลดยอดหนี้ให้ ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ตามสัญญากู้ฉบับที่ 2 จำนวน 1,500,000 บาท มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 4 จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3225 ตำบลบางปะกอก อำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร เป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้ฉบับที่ 2 จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 31,241,880.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 20,522,012.87 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ จำนวน 29,338,422.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 19,022,012.87 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ จำนวน 1,949,818.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระ ให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 1441 ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา และที่ดินโฉนดเลขที่ 3225 ตำบลบางปะกอก อำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้ฉบับที่ 1 จำนวน 9,143,180.49 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 19,022,012.87 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 23 กันยายน 2544) จนถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 มีนาคม 2546) รวมต้นเงินและดอกเบี้ยมิให้เกิน 29,292,062.03 บาท และถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 1441 ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้ฉบับที่ 2 บันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ครั้งที่ 1 ฉบับลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2542 จำนวน 1,509,554.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราเดียวกันของต้นเงิน 1,500,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2544 จนถึงวันฟ้อง รวมต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องมิให้เกิน 1,903,454.90 บาท และถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จะร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จ หากไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 3225 ตำบลบางปะกอก อำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นให้ยก คดีถึงที่สุด
ต่อมาระหว่างบังคับคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์
หลังจากคดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ถูก ต้องพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้ฉบับที่ 1 มิใช่ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระ หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โจทก์กับจำเลยที่ 4 ทำสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ฉบับลงวันที่ 25 กันยายน 2550 โดยโจทก์ตกลงลดยอดหนี้ให้จำเลยที่ 4 คงเหลือยอดเงินที่ต้องชำระ จำนวน 1,300,000 บาท ตามหนังสือสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จำเลยที่ 4 จึงขายที่ดินซึ่งจำนองเป็นประกัน นำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์รวมค่าธรรมเนียม จำนวน 1,311,300 บาท จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีกต่อไป แต่โจทก์กลับถือโอกาสเอาข้อคลาดเคลื่อนผิดหลงเล็กน้อยในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่มีข้อผิดพลาดหรือผิดหลงดังกล่าวมาเพิ่มความรับผิดให้จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดในหนี้ตามสัญญากู้ฉบับที่ 1 อีก ด้วยการขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีมาดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 4 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ การกระทำของโจทก์เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ไม่ชอบและฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการบังคับคดี ทำให้จำเลยที่ 4 ได้รับความเสียหาย ขอให้แก้ไขคำพิพากษาซึ่งมีข้อผิดพลาดหรือผิดหลงที่ว่า “ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้ฉบับที่ 1” เป็น “ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้ฉบับที่ 1”
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีมิใช่เป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ดังนั้น จำเลยที่ 4 จึงไม่อาจแก้ไขคำพิพากษาตามคำร้องได้ ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับว่า ให้แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีหมายเลขแดงที่ 1303/2548 หน้าที่ 14 ข้อความที่ว่า “ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้ฉบับที่ 1” เป็น “ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้ฉบับที่ 1” และแก้ไขข้อความที่ว่า “หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนเสร็จ” เป็น “หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนเสร็จ” นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่ให้แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์ระบุในคำฟ้องว่าเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2540 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ 65,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 1441 และ 1466 ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ต่อโจทก์ (ต่อมามีการปลดจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 1466 ไปแล้ว) นอกจากนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวต่อโจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมด้วย ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์ หลังจากนั้น จำเลยที่ 1 ขอกู้ยืมเงินโจทก์เพิ่มเติมอีก 1,500,000 บาท มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน และจำเลยที่ 4 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3225 ตำบลบางปะกอก อำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ไว้เป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวไว้ต่อโจทก์ในวงเงิน 1,500,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ จำเลยที่ 4 ในฐานะของผู้จำนองจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้ยืมเงิน เพิ่มเติมเป็นต้นเงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่ค้างชำระ และโจทก์ระบุคำขอท้ายฟ้องให้บังคับจำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ รวม 1,949,818.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 1441 ของจำเลยที่ 1 และที่ดินโฉนดเลขที่ 3225 ของจำเลยที่ 4 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติเกี่ยวกับนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าว และในการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยทั้งสี่ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใดนั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสี่ผิดนัดชำระหนี้ต่อโจทก์ จำเลยทั้งสี่จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาที่ตนเข้าผูกพัน หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ดังกล่าว โจทก์มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยทั้งสี่ หากไม่พอโจทก์มีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ชำระหนี้แก่โจทก์ตามที่จำเลยทั้งสี่ยอมผูกพันตนตามสัญญาแต่ละฉบับ แต่ศาลชั้นต้นกลับพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่ 1 ก่อนที่จะมีการทำสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นเงิน 19,143,180.49 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 19,022,012.87 บาท หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 1441 ของจำเลยที่ 1 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นการกู้ยืมเงินเพิ่มเติมตามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นเงิน 1,509,554.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันของต้นเงิน 1,500,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไม่ชำระหนี้ ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 3225 ของจำเลยที่ 4 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ เห็นว่า จากข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติตามคำฟ้อง คำวินิจฉัยและคำพิพากษาส่วนที่ให้บังคับจำเลยแต่ละคนดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ไม่เป็นไปตามที่ได้วินิจฉัยไว้โดยศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาที่ตนผูกพัน ซึ่งจำเลยที่ 4 ต้องผูกพันตนร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3225 ในวงเงินจำนองเพียง 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่ 1 เป็นเงินถึง 19,143,180.49 บาท พร้อมดอกเบี้ย หากยึดที่ดินจำนองโฉนดเลขที่ 1441 ของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์แล้วไม่พอ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ ซึ่งที่ถูกต้องพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ หากยึดที่ดินจำนองของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์แล้วไม่พอ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ เนื่องจากจำเลยที่ 4 ไม่ได้ทำสัญญาผูกพันตนเข้าร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้ดังกล่าว คำพิพากษาของศาลชั้นต้นสำหรับจำเลยที่ 4 ในหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นการผิดหลง และเป็นผลให้จำเลยที่ 4 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ในหนี้ที่ตนไม่ได้มีส่วนผูกพัน ศาลย่อมมีอำนาจที่จะแก้ไขข้อผิดหลงนั้นให้ถูกต้องสอดคล้องกับข้อเท็จจริงและคำวินิจฉัยของศาลได้แม้คดีจะถึงที่สุด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นหน้าที่ 14 ข้อความที่ว่า “ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้ฉบับที่ 1” เป็น “ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้ฉบับที่ 1” และแก้ไขข้อความที่ว่า “หากไม่พอ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนเสร็จ” เป็น “หากไม่พอ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนเสร็จ” ซึ่งเป็นข้อที่เกี่ยวเนื่องกับการแก้ไขในส่วนแรกมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ