แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ศาลจะมีคำสั่งรวมการพิจารณาพิพากษาคดีระหว่างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 15 กับโจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 13 และที่ 16 เข้าด้วยกัน ทั้งออกคำบังคับและออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีฉบับเดียวกันก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องของโจทก์แต่ละรายเป็นสิทธิที่เกิดจากสัญญาจ้างแรงงานของโจทก์แต่ละคน จึงเป็นสิทธิเฉพาะตัว โจทก์ทั้งหมดมิได้เป็นเจ้าหนี้ร่วมกัน การที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 15 ขออายัดเงินต่อสิทธิเรียกร้องจากบุคคลภายนอก และแจ้งแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีว่ายินดีรับเงินตามจำนวนที่บุคคลภายนอกแจ้งมา เป็นการบังคับคดีเฉพาะตัว เมื่อโจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 13 และที่ 16 มิได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยหนี้ของตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 13 และที่ 16 จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับส่วนเฉลี่ยจากเงินจำนวนดังกล่าว การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีและจ่ายเงินแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 15 จึงชอบแล้ว
ย่อยาว
คดีทั้งสิบหกสำนวนศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาเข้าด้วยกัน โดยเรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 16
คดีสืบเนื่องมาจากศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าจ้าง ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุดแก่โจทก์ทั้งสิบหกแต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์ทั้งสิบหกขอให้ศาลแรงงานกลางตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและศาลแรงงานกลางออกหมายบังคับคดี ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการยึดอายัดทรัพย์สินของจำเลยตามคำพิพากษา
โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 13 และที่ 16 ยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอเพิกถอนการบังคับคดีที่ผิดระเบียบ ขอให้เพิกถอนการจ่ายเงินทั้งหมดของเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยมีคำสั่งให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 15 คืนเงินที่ได้รับไปทั้งสิ้นให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคำนวณเฉลี่ยเงินทั้งหมดให้แก่โจทก์ทั้งสิบหกตามอัตราส่วนที่โจทก์แต่ละคนจะพึงได้ตามคำพิพากษา หรือให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแก้ไขการจ่ายเงินดังกล่าวโดยเฉลี่ยเงินทั้งหมดให้แก่โจทก์ทั้งสิบหกตามส่วน และให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 15 คืนเงินส่วนที่ได้รับเกินไปเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายให้โจทก์ทั้งสิบหกอย่างเท่าเทียมกันตามคำพิพากษา
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 15 ยื่นคำร้องคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
เจ้าพนักงานบังคับคดียื่นหนังสือรายงานข้อเท็จจริงในการบังคับคดีว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2549 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 15 แถลงขออายัดเงินค้ำประกันตามสัญญาซื้อขายทุกประเภทที่จำเลยเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานต่างๆ ต่อมาวันที่ 21 กันยายน 2549 โจทก์ที่ 3 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 13 และที่ 16 แถลงขออายัดสิทธิเรียกร้องไปยังบริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสือแจ้งอายัดไปแล้วโดยผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 3 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 13 ละที่ 16 ถือหนังสือไปยังผู้ถูกอายัดแต่ไม่ปรากฏผลการส่งหมายแจ้งการอายัด ต่อมาโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขออายัดไปยังบริษัทดังกล่าวตามสัญญาจ้างบริการเป็นเงิน 1,200,000 บาท แต่บริษัทดังกล่าวแจ้งว่ามีค่าบริการคงเหลือเพียง 614,057.48 บาท โจทก์ที่ 1 จึงขอแก้ไขการอายัดให้เหลือเพียง 614,057.48 บาท ซึ่งเป็นเงินตามที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 15 ขออายัด โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 13 และที่ 16 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิในการรับเงิน เพราะการรวมพิจารณาในคดีนี้เป็นไปเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการพิจารณาในชั้นศาลเท่านั้น หนี้ตามคำพิพากษามิได้เป็นหนี้ร่วม การขออายัดครั้งแรกของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 15 กระทำในฐานะส่วนตัวมิได้แสดงให้เห็นว่ากระทำการแทนโจทก์ที่เหลือ ซึ่งโจทก์ที่ 7 ที่ 8 ที่ 13 และที่ 16 ได้ขอบังคับคดีส่วนตัวเช่นกัน ในชั้นบังคับคดีโจทก์แต่ละคนจะต้องแถลงให้ชัดเจนว่าจะบังคับคดีส่วนตัวหรือแทนใคร โจทก์คนใดไม่ใช้สิทธิในการบังคับคดีถือว่ายังไม่ประสงค์จะบังคับคดี เงินที่ส่งเข้ามาจึงสามารถจ่ายได้เฉพาะโจทก์ที่ขออายัด เฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 3 และที่ 4 เท่านั้นที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีรายรับ – จ่ายเงินไปโดยผิดหลง ซึ่งจะต้องกันส่วนของโจทก์ที่ 3 และที่ 4 ไว้
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนการจ่ายเงินให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 15 ผู้คัดค้านทั้งห้ารวม 6 ครั้ง ทั้งหมดและให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีรายการรับและจ่ายเงินใหม่ โดยให้คำนวณจ่ายให้โจทก์ทั้งสิบหกเฉลี่ยตามส่วนที่โจทก์แต่ละคนจะได้รับตามคำพิพากษา ให้ดำเนินการบังคับให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 15 คืนเงินในส่วนที่ได้รับเกินไปมาจ่ายให้โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 7 ถึงที่ 14 และที่ 16 ต่อไป
โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ว่า การจ่ายเงินของเจ้าพนักงานบังคับคดีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การที่บริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ส่งเงินมาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีก็เนื่องจากโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 15 ได้ขออายัดเงิน ต่อสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างสแกนข้อมูลเอกสารและค่าจ้างบริการที่บริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ต้องชำระแก่จำเลย จำนวน 1,200,000 บาท ซึ่งต่อมาบริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) แจ้งว่าจำเลยมีสิทธิเรียกร้องเพียง 614,057.48 บาท โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 15 แจ้งแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีว่ายินดีรับเงินจำนวนดังกล่าว ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 15 นั้น การอายัดเงินดังกล่าวจึงเป็นการขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดอายัดไว้ตามคำพิพากษาเฉพาะส่วนการบังคับตามคำพิพากษาของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 15 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 แม้คดีนี้ศาลแรงงานกลางจะได้มีคำสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาคดีระหว่างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 15 กับโจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 13 และที่ 16 ทั้งศาลออกคำบังคับและออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีฉบับเดียวกันก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องของโจทก์แต่ละรายเป็นสิทธิที่เกิดจากสัญญาจ้างแรงงานของโจทก์แต่ละคน จึงเป็นสิทธิเฉพาะตัว โจทก์ทั้งหมดมิได้เป็นเจ้าหนี้ร่วมกัน การกระทำของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 15 จึงเป็นการบังคับคดีเฉพาะตัว เมื่อโจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 13 และที่ 16 มิได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยหนี้ของตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 13 และที่ 16 จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับส่วนเฉลี่ยจากเงินจำนวนดังกล่าว การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำบัญชีและจ่ายเงินแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 15 นั้นจึงชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องโจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 13 และที่ 16