คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4504/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำให้การของจำเลยที่ว่า โจทก์จะเป็นนิติบุคคลหรือไม่และ อ. จะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์หรือไม่จำเลยไม่รับรอง เพราะหนังสือรับรองออกมาก่อนฟ้องถึง 7 เดือนนั้นจำเลยไม่ได้ให้เหตุแห่งการปฏิเสธ โดยชัดแจ้งว่าหนังสือรับรองออกมาก่อนฟ้อง 7 เดือน เหตุใดจึงทำให้โจทก์ไม่เป็นนิติบุคคลและ อ. ไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง ถือว่าจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ในประเด็นดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยในประเด็นนี้มาก็ตาม ก็เป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากข้อต่อสู้ของจำเลย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่งที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องนั้นชอบแล้ว
เดิมจำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี มีสิทธิเพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่กลับฎีกาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยเพราะเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ แม้ปัญหานี้จะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่จำเลยก็มิได้อ้างเหตุผลว่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ขัดต่อกฎหมายดังกล่าวอย่างไร ทั้งโจทก์เป็นสถาบันการเงิน การกำหนดอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ตกอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติดอกเบี้ยให้กู้ยืมของสถาบันการเงินฯ ไม่ใช่ พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ แต่จำเลยก็มิได้แสดงเหตุผลเช่นกันว่าโจทก์ปฏิบัติผิดต่อกฎหมายดังกล่าวนี้อย่างไร ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน6,074,813.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปีในต้นเงิน 5,495,014.59 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากบังคับจำนองได้เงินมาไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนกว่าจะครบ

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 5,201,558.50 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี แบบไม่ทบต้นตั้งแต่วันที่ 1ธันวาคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองโฉนดเลขที่ 203 และ 33742 ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพงจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จนกว่าจะครบ

จำเลยอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นลูกค้าของโจทก์ สาขาท่าแพ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2533 จำเลยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน 4,000,000 บาท มีกำหนด 12 เดือนดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี และยินยอมให้โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้ตามประกาศของโจทก์ แต่ไม่เกินกว่าอัตราสูงสุดของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีต่อมาเมื่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีครบกำหนดแล้วมีการตกลงต่อสัญญาออกไปอีก 12 เดือน และมีข้อตกลงอีกด้วยว่าเมื่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่ต่อครบกำหนดแล้ว ถ้าจำเลยไม่ชำระเงินทั้งหมดและโจทก์ยินยอมให้จำเลยเบิกเงินต่อไปอีกให้ถือว่าทั้งสองฝ่ายตกลงต่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีออกไปอีกครั้งละ 12 เดือน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะบอกเลิกสัญญา ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของจำเลยมีว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดกับโจทก์เมื่อใด ตลอดจนมีจำนวนเงินที่จำเลยขอเบิกเงินเกินบัญชี ข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาในการหักทอนบัญชีแต่ละครั้ง และวันครบกำหนดแห่งสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี นอกจากนี้โจทก์ยังแนบสำเนาสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีมีรายละเอียดต่าง ๆ ของข้อตกลงชัดเจน และแนบสำเนาบัญชีกระแสรายวันแสดงหลักฐานการเดินสะพัดทางบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยมาในท้ายคำฟ้องอีกด้วยเห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม ที่จำเลยฎีกาว่าคำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์ไม่บรรยายให้แจ้งชัดว่าจำเลยเบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์เมื่อใด เป็นจำนวนเท่าใดและคิดดอกเบี้ยทบต้นกันอย่างไรจำเลยจึงไม่อาจต่อสู้คดีได้ นั้น ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า ตามคำให้การของจำเลยก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทเรื่องอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าที่จำเลยให้การว่าโจทก์จะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ และนายอมร จันทรสมบูรณ์จะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์หรือไม่จำเลยไม่รับรอง เพราะหนังสือรับรองเอกสารท้ายคำฟ้องออกมาก่อนฟ้องถึง 7 เดือน เป็นคำให้การที่แจ้งชัดแล้ว เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง บัญญัติว่าให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น คำให้การของจำเลยดังกล่าวไม่ได้ให้เหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าที่หนังสือรับรองออกมาก่อนฟ้อง 7 เดือน เหตุใดจึงทำให้โจทก์ไม่เป็นนิติบุคคลและนายอมร จันทรสมบูรณ์ ไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น ถือว่าจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ในประเด็นดังกล่าวแม้ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยในประเด็นนี้มาก็ตาม ก็เป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากข้อต่อสู้ของจำเลยต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่งที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องให้จำเลยนั้นชอบแล้ว

ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ในวันสิ้นสุดแห่งสัญญาบัญชีเดินสะพัดจำนวน 5,201,558.50 บาทหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวโดยไม่ทบต้นได้หรือไม่ เห็นว่าโจทก์มีนายสุกฤษฎิ์ เมฆประภามงคลหัวหน้าหน่วยสินเชื่อของโจทก์เบิกความประกอบบัญชีกระแสรายวันว่าเมื่อมีสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยแล้วได้มีการเดินสะพัดทางบัญชีมาโดยตลอด จำเลยเองเบิกความรับว่าได้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์หลายครั้ง ทางธนาคารโจทก์ได้แจ้งรายการบัญชีให้ทราบด้วยเจือสมกับพยานโจทก์ นอกจากนี้ยังได้ความจากทางนำสืบโจทก์ว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้ว มีการต่ออายุสัญญาออกไปอีกและจำเลยยอมรับว่า ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2534 จำเลยเป็นหนี้โจทก์4,738,227.27 การที่จำเลยยอมรับยอดหนี้ดังกล่าวเป็นข้อยืนยันอีกประการหนึ่งว่าจำเลยยอมรับว่าการนำเงินเข้าและการเบิกเงินจากบัญชีกระแสรายวันรวมตลอดถึงรายการหักทอนบัญชีและการคิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นไปโดยถูกต้อง มิฉะนั้นผู้ประกอบการค้าเช่นจำเลยคงไม่ลงลายมือชื่อไว้ ที่จำเลยอ้างว่าไม่รู้ไม่เข้าใจนั้น เป็นเพียงคำกล่าวลอย ๆ และง่ายต่อการที่จะยกขึ้นอ้าง พยานโจทก์มีน้ำหนักกว่าพยานจำเลย จึงฟังว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ในวันที่สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดจำนวน 5,201,558.50 บาท จริงส่วนที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12ต่อปีนับแต่วันสิ้นสุดสัญญานั้น เห็นว่า เดิมจำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี มีสิทธิเพียงร้อยละ7.5 ต่อปี แต่ในชั้นฎีกากลับฎีกาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยเพราะเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 แม้ปัญหานี้จะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่จำเลยก็มิได้อ้างเหตุผลว่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ12 ต่อปี ขัดต่อกฎหมายดังกล่าวอย่างไร ทั้งโจทก์เป็นสถาบันการเงินการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ตกอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติดอกเบี้ยให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523ไม่ใช่พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 แต่จำเลยก็มิได้แสดงเหตุผลเช่นกันว่าโจทก์ปฏิบัติผิดต่อกฎหมายดังกล่าวนี้อย่างไร ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ สรุปแล้วฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นชอบแล้ว”

พิพากษายืน

Share