คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1698/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การกำหนดราคาค่าเช่าซื้อรถโดยรวมค่าเช่ากับราคารถที่เช่าซื้อเข้าไว้ด้วยกัน ไม่มีกฎหมายห้ามทำและไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งการกำหนดราคาค่าเช่าซื้อโดยวิธีหักเงินชำระล่วงหน้าออกไปก่อนแล้วนำส่วนที่เหลือไปคิดดอกเบี้ย คำนวณเป็นดอกเบี้ยได้เท่าใดบวกเข้ากับเงินที่ค้างชำระ จึงกำหนดเป็นค่างวด ซึ่งดอกเบี้ยดังกล่าวมากกว่าอัตราร้อยละ 24 ต่อปี ก็มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475สัญญาเช่าซื้อจึงใช้บังคับได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2533 จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถแทรกเตอร์จำนวน 1 คัน ไปจากโจทก์ในราคา 1,422,500 บาทชำระเงินในวันทำสัญญา 350,000 บาท ที่เหลือตกลงผ่อนชำระ15 งวด งวดละเดือน เดือนละ 71,500 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 20 มิถุนายน 2533 และงวดต่อไปทุกวันที่ 4 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดแรกเป็นต้นมา โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถแทรกเตอร์คืนโจทก์ โจทก์ยึดรถแทรกเตอร์กลับคืนมาได้เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2536ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดประโยชน์จากการนำรถออกให้เช่าเดือนละ 20,000 บาท เป็นเวลา 32 เดือน เป็นเงิน 640,000 บาทแต่ขอคิดเพียง 600,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปีนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์เรียกค่าเสียหายสูงเกินความจริงและโจทก์เรียกดอกเบี้ยได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 300,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของจำเลยที่ 1 จำนวน 180,000 บาท และผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะข้อกฎหมายว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้และเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพ.ศ. 2475 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า รถพิพาทซื้อขายกันในท้องตลาดราคา 1,000,000 บาท โจทก์ให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อเป็นเงิน1,422,500 บาท คิดเป็นดอกเบี้ย 422,500 บาท เกินกว่าอัตราร้อยละ 24 ต่อปี ขัดต่อกฎหมายนั้น เห็นว่า ราคาค่าเช่าซื้อรถแทรกเตอร์ตามสัญญาเช่าซื้อนั้นได้รวมค่าเช่ากับราคารถแทรกเตอร์ที่เช่าซื้อเข้าไว้ด้วยกัน การกำหนดราคาค่าเช่าซื้อดังกล่าวไม่มีกฎหมายห้ามไว้และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้ราคาค่าเช่าซื้อรถแทรกเตอร์ดังกล่าวโจทก์จะกำหนดโดยวิธีหักเงินชำระล่วงหน้าออกไปก่อน แล้วนำส่วนที่เหลือไปคิดดอกเบี้ย คำนวณเป็นดอกเบี้ยเท่าใด บวกเข้ากับเงินที่ค้างชำระจากนั้นจึงกำหนดเป็นค่างวด ซึ่งเป็นวิธีการกำหนดราคาค่าเช่าซื้อรถแทรกเตอร์ของโจทก์โดยชอบ มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้และไม่เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share