คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15020/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้หนังสือมอบอำนาจไม่ได้เขียนชัดแจ้งให้ผู้รับมอบอำนาจอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า แต่ก็มีข้อความระบุให้มีอำนาจฟ้องคดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการอุทธรณ์และมีอำนาจปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาให้ปลอดจากการคัดค้านหรือโต้แย้ง และยื่นฟ้องเกี่ยวกับข้อเรียกร้องทั้งปวงของโจทก์เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า เมื่อข้อเรียกร้องโจทก์ในคดีนี้คือให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ การฟ้องคดีนี้จึงเป็นการกระทำภายในขอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจ
ในการพิจารณาว่าคำใดเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่าคำดังกล่าวสามารถสื่อให้สาธารณชนทราบหรือเข้าใจได้ในทันทีว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้นมีคุณสมบัติอย่างไร หากคำดังกล่าวเป็นเพียงคำที่อาจสื่อให้สาธารณชนผู้ใช้สินค้าคิดหรือจินตนาการและยังต้องใช้วิจารณญาณพอสมควรจึงจะเข้าใจว่าคำดังกล่าวสื่อให้ทราบถึงลักษณะของตัวสินค้าหรือคุณสมบัติของสินค้านั้น ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง เมื่อคำว่า “Superdry” เกิดจากการนำคำว่า “Super” และ “dry” มารวมกันได้ความหมายว่า “ทำให้แห้งอย่างมาก” ซึ่งตรงกับคำแปลของอักษรญี่ปุ่นในเครื่องหมายการค้า สำหรับสินค้าจำพวกเครื่องแต่งกายประเภทเข็มขัด รองเท้า หมวก เสื้อ กางเกง ชุดลำลอง ผ้าพันคอ ถุงมือ และชุดชั้นใน ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้น คุณสมบัติความแห้งมากของสินค้ามิใช่คุณสมบัติพิเศษที่ผู้ซื้อสินค้าดังกล่าวทั่วไปต้องการ เครื่องหมายการค้าอักษรญี่ปุ่นและอักษรโรมันคำว่า ของโจทก์จึงไม่ถือเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า เครื่องหมายการค้าอักษรญี่ปุ่นและอักษรโรมัน คำว่า “” ของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 742742 มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ ให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ พณ 0704/18091 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2553 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 558/2554 และให้จำเลยดำเนินการเพื่อรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 742742 ตามขั้นตอนต่อไป
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า เครื่องหมายการค้าอักษรญี่ปุ่นและอักษรโรมันคำว่า “” ของโจทก์ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 742742 มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ ให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ พณ 0704/18091 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2553 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 558/2554 และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า “” ของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 742742 ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้โดยชอบหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์มีหนังสือมอบอำนาจโจทก์ที่ลงลายมือชื่อโดยนายชอน ไซมอน วิลล์ (Shaun Simon Wills) ซึ่งตามหนังสือการจัดตั้งบริษัทโจทก์ระบุว่าเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ (Company Driector) และมีนายพอล นิเกล เอนเจล เบรชด์ (Paul Nigel Engelbrecht) โนตารีปับลิกแห่งเมืองเกลาส์เตอร์ไซร์ สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือลงลายมือชื่อรับรองหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวอีกชั้นหนึ่งว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือและลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อของนายชอน ไซมอน วิลล์ กรรมการซึ่งมีอำนาจในการลงลายมือชื่อในนามบริษัทโจทก์โดยอาศัยอำนาจของคณะกรรมการและนายชอน ไซมอน วิลล์ ได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าตนจริงตามคำรับรองของโนตารีปับลิก หน้าที่ 3 และเอกสารดังกล่าวยังมีนายอาร์. ซิมมอนส์ แห่งสำนักงานกระทรวงการต่างประเทศและกิจการในเครือจักรภพสหราชอาณาจักรรับรองฐานะของโนตารีปับลิกอีกชั้นหนึ่งว่าถูกต้องตามกฎหมาย และมีนายณัฐวุฒิ เลขานุการเอกสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอนรับรองลงลายมือชื่อของนายอาร์. ซิมมอนส์ และตราประทับของกระทรวงการต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอนอีกชั้นหนึ่งว่าเป็นลายมือชื่อและตราประทับที่ถูกต้องแท้จริง เมื่อจำเลยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมานำสืบหักล้างให้เห็นได้ว่า นายชอน ไซมอน วิลล์ ไม่ใช่กรรมการบริษัทผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ และไม่มีเหตุอันสมควรสงสัยในความถูกต้องแท้จริงของหนังสือมอบอำนาจและหนังสือรับรองของโนตารีปับลิก พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านายชอน ไซมอน วิลล์ เป็นกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อกระทำการแทนโจทก์และเป็นผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ มอบอำนาจให้นายนันทน ฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ ส่วนข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่าตามหนังสือมอบอำนาจไม่มีข้อความระบุว่าโจทก์มอบอำนาจให้ผู้รับอำนาจยื่นอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้นั้น เห็นว่า เมื่อหนังสือมอบอำนาจมีข้อความระบุไว้ชัดเจนในหัวข้อเรื่องการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาข้อ 1 ว่า ให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจในการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตลอดจนฟ้องและต่อสู้คดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ ทั้งในหัวข้อเรื่องการบังคับใช้สิทธิก็ระบุให้อำนาจผู้รับมอบอำนาจในการปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของโจทก์ให้ปลอดจากการคัดค้านหรือโต้แย้ง ไม่ว่าจะโดยการดำเนินคดีทางแพ่งหรือทางอาญาหรือโดยประการอื่น และยื่นฟ้อง ฟ้องร้อง และดำเนินการไปจนเสร็จในศาลยุติธรรมในประเทศไทยซึ่งข้อเรียกร้องทั้งปวงของโจทก์ หรือดำเนินกระบวนพิจารณาทางกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญาเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า ดังนั้น หนังสือมอบอำนาจจึงมีการระบุในเรื่องการมอบอำนาจให้ฟ้องร้องคดีต่อจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ดูแลเกี่ยวกับการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้ว แม้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไม่ได้เขียนไว้โดยชัดแจ้งว่าให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจในการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าก็ตาม แต่ก็มีข้อความระบุให้มีอำนาจฟ้องคดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ และให้มีอำนาจปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาให้ปลอดจากการคัดค้านหรือโต้แย้ง และยื่นฟ้องเกี่ยวกับข้อเรียกร้องทั้งปวงของโจทก์เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า เมื่อข้อเรียกร้องของโจทก์ในคดีนี้คือให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้รับโอนมาจากบุคคลอื่น การฟ้องคดีนี้จึงเป็นการฟ้องเกี่ยวกับข้อเรียกร้องทั้งปวงของโจทก์เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า ทั้งยังเป็นการบังคับใช้สิทธิปกป้องเครื่องหมายการค้าอันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาให้ปลอดจากคัดค้านหรือโต้แย้งจากคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า การฟ้องคดีนี้จึงเป็นการกระทำภายในขอบอำนาจตามที่โจทก์กำหนดไว้ในหนังสือมอบอำนาจ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อสุดท้ายว่า ที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรญี่ปุ่นและอักษรโรมันคำว่า “” เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 25 รายการสินค้า เข็มขัด รองเท้าใส่เดินชายหาด ชุดใส่เดินชายหาด หมวกแก๊ป หมวก หมวกใส่เล่นกีฬาเบสบอล หมวกใส่กันแดด ชุดลำลอง เสื้อสเวตเชิ้ตแบบมีหมวก กางเกงยีน เสื้อยืดพิมพ์ลาย เสื้อแจกเกต เสื้อเชิ้ตแขนสั้น เสื้อเชิ้ตแขนยาว กางเกงขาบานสั้น เสื้อยืดปักลาย เสื้อสเวตเชิ้ต กางเกง (ยกเว้นกางเกงใน กางเกงกีฬา) เสื้อสวมหัวทำจากขนแกะ ถุงเท้า กางเกงขาสั้น ผ้าพันคอ ถุงมือ ชุดชั้นใน รองเท้าบูต รองเท้า (ยกเว้นรองเท้ากีฬา) รองเท้ากีฬา รองเท้าแตะ กระโปรง เสื้อโคต เสื้อคอโปโล เสื้อไม่มีปก เสื้อทีเชิ้ต และเสื้อกั๊ก ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 742742 ของโจทก์ซึ่งโจทก์ได้รับโอนจากลอนดรี แอธเลทิกส์ แอลแอลพี เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าตามรายการสินค้าดังกล่าวโดยตรงหรือไม่ เห็นว่า ในการพิจารณาว่าคำใดเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาว่าคำดังกล่าวสามารถสื่อให้สาธารณชนทราบหรือเข้าใจได้ในทันทีว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้นมีคุณสมบัติอย่างไร เนื่องจากคำดังกล่าวเป็นคำสามัญที่มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้า หรืออาจเป็นคำที่สาธารณชนใช้วิจารณญาณเพียงเล็กน้อยก็สามารถทราบหรือเข้าใจได้ทันทีว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้นเป็นสินค้าประเภทใดหรือมีลักษณะอย่างไร เนื่องจากคำดังกล่าวเป็นคำที่บรรยายหรือพรรณนาถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นๆ ที่ประชาชนทั่วไปทราบความหมายกันดีอยู่แล้ว จึงจะถือว่าคำดังกล่าวเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง แต่หากคำดังกล่าวเป็นเพียงคำที่อาจสื่อให้สาธารณชนผู้ใช้สินค้าคิดหรือจินตนาการและยังต้องใช้วิจารณญาณพอสมควรจึงจะเข้าใจว่าคำดังกล่าวสื่อให้ทราบถึงลักษณะของตัวสินค้าหรือคุณสมบัติของสินค้านั้น คำดังกล่าวก็ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรงจึงเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองตามมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 สำหรับเครื่องหมายการค้าอักษรญี่ปุ่นและอักษรโรมัน คำว่า “” ของโจทก์นั้นไม่ปรากฏความหมายในพจนานุกรมเนื่องจากเป็นคำที่เขียนติดกัน แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้ปฏิเสธว่า คำว่า “Superdry” เป็นคำที่เกิดจากการนำคำในภาษาอังกฤษคำว่า “Super” และคำว่า “dry” มารวมกัน โดยคำว่า “Super” แปลว่า ดีเยี่ยม วิเศษ ยอดเยี่ยม ส่วนคำว่า “dry” แปลว่า ทำให้แห้งหรือฝืด เมื่อนำมาแปลรวมความกัน จึงได้ความหมายว่า “ทำให้แห้งอย่างมาก” ซึ่งตรงกับคำแปลของอักษรญี่ปุ่นในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวคำว่า “เคียวคุโดะ คังไซ” หรือ “คันไซ” ซึ่งแปลได้ว่า “แห้งมาก” และคำว่า “ชิ” ซึ่งแปลว่า “ทำ” ส่วนคำว่า “นาไซ” แปลว่า “เถอะ” ซึ่งคำว่า แห้งมาก นั้นหากนำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้ากับสินค้าที่ต้องการความแห้งเป็นคุณสมบัติพิเศษที่ผู้ใช้สินค้าประเภทนั้นต้องการ คำดังกล่าวก็อาจเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงได้ แต่สำหรับสินค้าจำพวกเครื่องแต่งกายประเภทเข็มขัด รองเท้า หมวก เสื้อ กางเกง ชุดลำลอง ผ้าพันคอ ถุงมือ และชุดชั้นใน ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 742742 ของโจทก์นั้นคุณสมบัติความแห้งมากของสินค้ามิใช่คุณสมบัติพิเศษที่ผู้ซื้อสินค้าดังกล่าวทั่วไปต้องการ เนื่องจากสินค้าดังกล่าวมักเน้นในเรื่องความสวยงามและความทันสมัยของการออกแบบเป็นหลัก ส่วนความแห้งมากของตัวสินค้าประเภทเสื้อผ้านั้น โดยปกติสาธารณทั่วไปไม่ได้มองเห็นว่าเป็นคุณสมบัติพิเศษ เครื่องหมายการค้าอักษรญี่ปุ่นและอักษรโรมันคำว่า “” ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 742742 ของโจทก์จึงเป็นคำที่ไม่ได้สื่อความหมายให้เห็นถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าจำพวกเครื่องแต่งกายประเภทเข็มขัด รองเท้า หมวก เสื้อ กางเกง ชุดลำลอง ผ้าพันคอ ถุงมือ และชุดชั้นใน ตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์ดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ว่าเมื่อนำคำว่า “Superdry” มาใช้กับสินค้าประเภทเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์ดังกล่าวแล้วทำให้เข้าใจได้ว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อผ้าที่มีคุณสมบัติแห้งได้เร็วนั้นเป็นการแปลความหมายที่ไม่ตรงกับคำว่า “Superdry” ที่แปลว่า “แห้งมาก” ไม่ใช่ “แห้งได้เร็ว” และแม้จะมีความหมายว่า “แห้งได้เร็ว” ก็ไม่ใช่คุณสมบัติพิเศษที่ผู้ซื้อสินค้าเข้าใจได้ทันทีว่าสินค้าจำพวกเครื่องแต่งกายดังกล่าวมีคุณสมบัติพิเศษเช่นนั้น ดังนั้น คำว่า “Superdry” จึงไม่ใช่คำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าจำพวกเครื่องแต่งกายประเภทเข็มขัด รองเท้า หมวก เสื้อ กางเกง ชุดลำลอง ผ้าพันคอ ถุงมือ และชุดชั้นใน โดยตรงดังที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยแต่อย่างใด และหากจะพิจารณาต่อไปว่า คำว่า “Superdry” เป็นคำบรรยายหรือพรรณนาซึ่งสื่อให้สาธารณชนทราบว่า สินค้าจำพวกเครื่องแต่งกายตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์ดังกล่าวเป็นสินค้าที่แห้งได้เร็วหากใช้วิจารณญาณเพียงเล็กน้อยได้หรือไม่ ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าหากสาธารณชนผู้ใช้สินค้าของโจทก์เห็นเครื่องหมายการค้าคำว่า “Superdry” แล้วจะทราบได้ทันทีว่าคำดังกล่าวสื่อให้เห็นถึงคุณสมบัติของสินค้าจำพวกเครื่องแต่งกายของโจทก์ว่ามีคุณสมบัติแห้งได้เร็วหรือไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาคำดังกล่าวทั้งภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นซึ่งแปลความได้ว่าทำให้แห้งมากแล้ว เห็นได้ว่าแม้สาธารณชนทั่วไปเข้าใจความหมายของคำภาษาอังกฤษว่า “Superdry” และคำภาษาญี่ปุ่น เครื่องหมายการค้าดังกล่าวก็เป็นเรื่องยากที่สาธารณชนจะเข้าใจได้ทันทีว่าสินค้าจำพวกเครื่องแต่งกายตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 742742 ของโจทก์เป็นสินค้าที่มีคุณสมบัติแห้งได้เร็ว ดังนั้น ถึงแม้จะแยกพิจารณาคำว่า “Super” และคำว่า “dry” แล้วแปลความหมายได้ว่า “แห้งมาก” หรือ “แห้งได้เร็ว” คำดังกล่าวก็ไม่อาจสื่อให้เห็นถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าจำพวกเครื่องแต่งกายตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์ดังกล่าวได้ เครื่องหมายการค้าอักษรญี่ปุ่นและอักษรโรมันคำว่า “” ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 742742 ของโจทก์จึงไม่ถือว่าเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง คำดังกล่าวย่อมเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองเมื่อนำไปใช้กับสินค้าจำพวกเครื่องแต่งกายประเภทเข็มขัด รองเท้า หมวก เสื้อ กางเกง ชุดลำลอง ผ้าพันคอ ถุงมือ และชุดชั้นในตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 742742 ชอบที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอนั้นได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (1) มาตรา 7 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง (2) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามาจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share