แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งสำหรับคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้น ศาลจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 และเมื่อคดีอาญารับฟังได้ว่าโจทก์ที่ 2 มีความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ ตาม ปอ. มาตรา 390 คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ที่ 2 ว่าเหตุรถยนต์เฉี่ยวชนกันเกิดจากโจทก์ที่ 2 มีส่วนประมาทด้วยเมื่อความประมาทเกิดจากโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 2 จะได้รับจึงต้องตกเป็นพับ
เมื่อโจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลและเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นคู่ความในคดี โจทก์ที่ 1 ยังคงกล่าวอ้างได้ว่าโจทก์ที่ 2 มิได้มีส่วนประมาทในเหตุรถยนต์เฉี่ยวชนกัน แต่กรณีรถยนต์เฉี่ยวชนกันเป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ต่างฝ่ายต่างทำละเมิดโดยไม่ได้ร่วมกัน โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดแก่โจทก์ที่ 1 ทั้งนี้ ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใด เพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438
ย่อยาว
คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันมากับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5777/2544 และหมายเลขแดงที่ 5778/2554 ของศาลชั้นต้น แต่คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,039,287 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เรียกให้บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าทนายความ 3,000 บาท แทนจำเลยทั้งสอง ส่วนจำเลยร่วมไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้คืนค่าขึ้นศาลที่เสียเกินมา 400 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองข้อแรกว่า เหตุที่รถยนต์เฉี่ยวชนกันเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียวหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา และฟังว่าโจทก์ที่ 2 มีความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ที่ 2 ว่า เหตุรถยนต์เฉี่ยวชนกันเกิดจากโจทก์ที่ 2 มีส่วนประมาทด้วย แต่คำพิพากษาในส่วนอาญาดังกล่าวหามีผลผูกพันโจทก์ที่ 1 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาไม่ เพราะโจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลและเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นคู่ความในคดีนั้น โจทก์ที่ 1 ยังคงกล่าวอ้างได้ว่าโจทก์ที่ 2 มิได้มีส่วนประมาทในเหตุรถยนต์เฉี่ยวชนกันดังกล่าว หากแต่เกิดจากจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายขับรถยนต์โดยประมาทฝ่ายเดียว ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในสำนวนแล้ว เหตุที่รถยนต์ทั้งสองเฉี่ยวชนกันเกิดจากจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ขับรถยนต์ตัดหน้าซึ่งกันและกัน จนเกิดอาการไม่พอใจขับรถยนต์ไล่ตามและพยายามปาดหน้ากันไปมา เกิดการเฉี่ยวชนกันหลายครั้ง จนครั้งสุดท้ายเกิดการเฉี่ยวชนกันอย่างแรง พฤติการณ์ดังกล่าวจึงฟังว่า เหตุที่รถยนต์เฉี่ยวชนกันหาใช่เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 แต่ฝ่ายเดียวไม่ ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เหตุที่รถยนต์ทั้งสองคันเฉี่ยวชนกันเกิดจากความประมาทของโจทก์ที่ 2 ด้วย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาอีกว่า เหตุละเมิดเกิดจากจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาทมากกว่านั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ตรงกันโดยละเอียดและชอบด้วยเหตุผลแล้วว่าเหตุที่รถยนต์ทั้งสองคันเฉี่ยวชนกันเกิดจากทั้งสองฝ่ายประมาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยดังกล่าว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า โจทก์มีหลักฐานการซ่อมรถเป็นพยานสนับสนุน และเมื่อพิจารณาสภาพรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่ถูกชนแล้ว น่าเชื่อว่าโจทก์ที่ 1 จะต้องเสียค่าซ่อมไปจริง สำหรับปัญหาเรื่องค่าเสื่อมสภาพของรถนั้น เห็นว่า รถยนต์คันเกิดเหตุมีอายุการใช้งานเพียงปีเศษ ตามรายการจดทะเบียนเมื่อรถยนต์ถูกชนจนกระแทกกับราวสะพานอย่างแรงจนมีสภาพเป็นตามภาพถ่าย แม้จะได้รับการซ่อมแซมเป็นอย่างดี มีการเปลี่ยนอะไหล่ใหม่ รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ย่อมจะใช้การไม่ได้ดีดังเดิม ค่าเสียหายในส่วนนี้จึงมีอยู่ แต่ที่โจทก์ที่ 1 ขอมาถึง 100,000 บาท นั้นก็สูงเกินไป จึงเห็นสมควรกำหนดให้ 50,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 ได้รับ 339,287 บาท แต่ตามข้อเท็จจริงในกรณีรถยนต์เฉี่ยวชนกันเป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ต่างฝ่ายต่างทำละเมิดโดยไม่ได้ร่วมกัน โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 แต่ละฝ่ายจึงไม่ต้องร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดแก่โจทก์ที่ 1 ทั้งนี้ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใด เพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 ซึ่งเมื่อฟังว่าโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ต่างประมาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และโจทก์ที่ 1 มิได้ฟ้องโจทก์ที่ 2 ให้ร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายด้วย จำเลยที่ 1 ก็ควรจะรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 เพียงกึ่งหนึ่ง เป็นเงิน 169,643.50 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 โจทก์ที่ 1 อ้างว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะเป็นเจ้าของรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรชายเป็นผู้ขับในลักษณะตัวการตัวแทนนั้น เห็นว่า เมื่อได้พิเคราะห์บทบัญญัติลักษณะตัวแทนในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 820 ซึ่งบัญญัติให้ตัวการมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการที่ตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบเขตอำนาจแห่งตัวแทนแล้ว จะเห็นได้ว่า ตัวแทนตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 นั้น เป็นเรื่องตั้งตัวแทนให้ทำการติดต่อหรือมีความสัมพันธ์กับบุคคลที่ 3 แต่ในเรื่องนี้โจทก์ที่ 1 มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ไปทำการติดต่อหรือมีความสัมพันธ์กับบุคคลที่ 3 อันจะเข้าลักษณะเป็นตัวแทนตามบทบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 2 ก็มิได้นั่งมาในรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับในขณะเกิดเหตุอีกด้วย จึงฟังไม่ได้ว่าการที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ไปเกิดอุบัติเหตุเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 ตามที่โจทก์ที่ 1 อ้าง จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 169,643.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 13 พฤษภาคม 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ที่ 1 เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ที่ 1 ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 10,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ และค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยทั้งสองทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากนี้แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.