แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ให้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทสองบริษัทไปเป็นของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นการกระทำความผิดในคราวเดียวกัน แต่ ป.อ. มาตรา 91 มิได้บัญญัติว่าการกระทำความผิดหลายกรรมนั้นจะเกิดขึ้นในคราวเดียวกันไม่ได้ การกระทำในวันเดียวกันหรือต่อเนื่องในคราวเดียวกันก็อาจเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันได้ คดีนี้ โดยสภาพของการกระทำจำเลยต้องแจ้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ให้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นทีละบริษัท การที่จำเลยแจ้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครครั้งหนึ่งก็เป็นความผิดสำเร็จกระทงหนึ่งแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสองกรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267, 91 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (ที่ถูก มาตรา 42 (2)) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ฐานเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท ลงข้อความเท็จในเอกสารของบริษัทเพื่อให้ผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ จำคุก 2 ปี และปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดสองกรรมหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสี่ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นของโจทก์ทั้งสี่ไปเป็นของบริษัทไทยเอ็นจิเนียริ่ง ดีไซน์ จำกัด และบริษัท ดัสคอนโทรล จำกัด แม้จะกระทำในวาระเดียวกัน แต่ก็มีเจตนาเป็นสองการกระทำมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงในสองบริษัทนั้น เห็นว่า แม้จำเลยจะกระทำความผิดในคราวเดียวกัน แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มิได้บัญญัติว่าการกระทำความผิดหลายกรรมนั้นจะเกิดขึ้นในคราวเดียวกันไม่ได้ การกระทำในวันเดียวกันหรือต่อเนื่องในคราวเดียวกันก็อาจเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันได้ คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ให้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทดัสคอนโทรล จำกัด และบริษัทไทยเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ในแบบ บอจ 5 ของบริษัททั้งสองไปเป็นของบุคคลอื่น โดยปราศจากความยินยอมของโจทก์ทั้งสี่ และมิได้จัดให้มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นตามที่จำเลยแจ้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท โดยสภาพของการกระทำจำเลยต้องแจ้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ให้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นทีละบริษัท ซึ่งการที่จำเลยแจ้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครครั้งหนึ่งก็เป็นความผิดสำเร็จกระทงหนึ่งแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสองกรรม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ลงโทษฐานเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทลงข้อความเท็จในเอกสารของบริษัทเพื่อให้ผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 2 ปี และปรับกระทงละ 20,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 4 ปี และปรับ 40,000 บาท เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 2 ปี และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์