คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12163/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์กับจำเลยตกลงทำสัญญาซื้อขายราคาคงที่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมน้ำมันเตาจำนวน 6,030,000 ลิตร ภายในช่วงเวลาที่กำหนด วันเดียวกัน โจทก์ทำสัญญาสั่งซื้อน้ำมันชนิดดังกล่าวจากบริษัท ช. เพื่อสำรองส่งมอบให้จำเลยภายในกำหนดระยะเวลาตามสัญญา โดยทำเป็นสัญญาซื้อขายเพื่อความแตกต่างซึ่งเป็นประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน หลังจากจำเลยทำสัญญากับโจทก์แล้ว จำเลยซื้อน้ำมันจากโจทก์ไม่ครบจำนวนตามสัญญา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ตามสัญญาซื้อขายราคาคงที่ฯ ข้อ 4.1 ระบุว่า ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่อาจสั่งซื้อสินค้าได้ครบตาม ข้อ 1.4 ของสัญญานี้…ผู้ขายมีสิทธิเลือกที่จะปรับผู้ซื้อตามข้อ 4.3 และสัญญาดังกล่าว ข้อ 4.3 ระบุว่า ค่าเสียหายจะเท่ากับค่าปรับดังต่อไปนี้ของจำนวนสินค้าที่ผู้ซื้อยังซื้อไม่ครบ (แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า) 4.3.1 ร้อยละ 10 (สิบ) ของจำนวนราคาสินค้าที่ผู้ซื้อยังซื้อไม่ครบตามสัญญาข้อ 1.4 ของสัญญานี้ 4.3.2 หรือเท่ากับมูลค่าที่แตกต่างระหว่างราคาสินค้าตามสัญญากับราคาเฉลี่ยของสินค้าของผู้ค้ารายอื่น ๆ ภายในประเทศที่ต่ำกว่าในประเภทสินค้าเดียวกันอย่างน้อย 2 ราย และเอกสารแนบท้าย ก. ข้อ 7 ระบุว่า ในกรณีที่ไม่สามารถรับสินค้าปริมาณการสั่งซื้อนั้นไว้ได้…ผู้ซื้อจะถูกปรับ (และอาจถูกปรับสูงขึ้น) โดยจะต้องชำระราคาเพิ่มอีก 10% จากราคาตามข้อ 5 หรือชำระมูลค่าที่แตกต่างระหว่างราคาสินค้าที่ตกลงกันตามข้อ 5 กับราคาตลาด (เฉพาะกรณีที่ราคานั้นต่ำกว่าราคาตามข้อ 5) ของผู้ค้าน้ำมันหลักรายอื่น ๆ อย่างน้อย 2 ราย คูณจำนวนที่ยังสั่งซื้อไม่ครบ เมื่อพิจารณาประกอบกับใบกำกับสินค้า (Invoice) หรือใบแจ้งหนี้ ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าค่าเสียหาย คือ ส่วนต่างระหว่างราคาคงที่ตามสัญญากับราคาน้ำมันในตลาดขณะนั้นซึ่งต่ำกว่า เมื่อโจทก์จ่ายค่าเสียหายนี้ให้แก่บริษัท ช. ตามสัญญาเพื่อความแตกต่างที่โจทก์ทำไว้กับบริษัทดังกล่าว โจทก์ย่อมเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ได้ตามสัญญาซื้อขายราคาคงที่ฯ ข้อ 4.3.2 แม้โจทก์จะไม่ได้คิดคำนวณค่าเสียหายจากมูลค่าที่แตกต่างระหว่างราคาสินค้าตามสัญญากับราคาเฉลี่ยของสินค้าของผู้ค้ารายอื่น ๆ ภายในประเทศที่ต่ำกว่าในประเภทสินค้าเดียวกันอย่างน้อย 2 ราย ตามข้อสัญญา ก็ตาม แต่การคิดค่าเสียหายตามที่โจทก์เรียกร้องไม่ได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบเพราะค่าเสียหายที่โจทก์จ่ายให้แก่บริษัท ช. เป็นผู้ค้ารายใหญ่ ต้นทุนการดำเนินการย่อมต่ำกว่าผู้ค้ารายย่อยอื่น ๆ ในประเทศอยู่แล้ว โจทก์นำสืบค่าเสียหายว่าต้องจ่ายเงินที่เป็นส่วนต่างของราคาน้ำมันให้แก่บริษัท ช. เป็นเงิน 42,587,757 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ และเนื่องจากเป็นหนี้เงิน จึงให้จำเลยชำระดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมายในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 45,813,965 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.9 ต่อปี ของต้นเงิน 42,587,757 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 8,428,908.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่9 กันยายน 2552) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยโจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งในชั้นฎีกาว่า โจทก์กับจำเลยตกลงทำสัญญาซื้อขายราคาคงที่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมน้ำมันเตา ซี 2 % ฉบับลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 โดยจำเลยตกลงซื้อผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมน้ำมันเตา ซี 2 % จำนวน 6,030,000 ลิตร ตั้งแต่วันที่1 มิถุนายน 2551 ถึงวันที่ 31 มิถุนายน 2552 ในวันเดียวกัน โจทก์ทำสัญญาสั่งซื้อน้ำมันชนิดเดียวกันจากบริษัทเชลล์ เทรดดิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล แอนด์ ชิปปิ้ง จำกัด (ประเทศอังกฤษ) เพื่อสำรองส่งมอบให้จำเลยภายในกำหนดระยะเวลาตามสัญญา โดยทำเป็นสัญญาซื้อขายเพื่อความแตกต่างซึ่งเป็นประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน หลังจากจำเลยทำสัญญากับโจทก์แล้ว จำเลยซื้อน้ำมันจากโจทก์ไม่ครบจำนวนตามสัญญา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เพียงใด โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์นำสืบแล้วว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นต้นเงิน 42,587,757 บาท ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง 3,226,208 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 45,813,965 บาท จำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้ง จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนเงินดังกล่าว เห็นว่า ตามสัญญาซื้อขายราคาคงที่ฯ ข้อ 4.1 ระบุว่า ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่อาจสั่งซื้อสินค้าได้ครบตาม ข้อ 1.4 ของสัญญานี้…ผู้ขายมีสิทธิเลือกที่จะปรับผู้ซื้อตามข้อ 4.3 และสัญญาดังกล่าว ข้อ 4.3 ระบุว่า ค่าเสียหายจะเท่ากับค่าปรับดังต่อไปนี้ของจำนวนสินค้าที่ผู้ซื้อยังซื้อไม่ครบ (แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า) 4.3.1 ร้อยละ 10 (สิบ) ของจำนวนราคาสินค้าที่ผู้ซื้อยังซื้อไม่ครบตามสัญญาข้อ 1.4 ของสัญญานี้ 4.3.2 หรือเท่ากับมูลค่าที่แตกต่างระหว่างราคาสินค้าตามสัญญากับราคาเฉลี่ยของสินค้าของผู้ค้ารายอื่นๆ ภายในประเทศที่ต่ำกว่าในประเภทสินค้าเดียวกันอย่างน้อย 2 ราย และเอกสารแนบท้าย ก. ข้อ 7 ระบุว่า ในกรณีที่ไม่สามารถรับสินค้าปริมาณการสั่งซื้อนั้นไว้ได้…ผู้ซื้อจะถูกปรับ (และอาจถูกปรับสูงขึ้น) โดยจะต้องชำระราคาเพิ่มอีก 10% จากราคาตามข้อ 5 หรือชำระมูลค่าที่แตกต่างระหว่างราคาสินค้าที่ตกลงกันตามข้อ 5 กับราคาตลาด (เฉพาะกรณีที่ราคานั้นต่ำกว่าราคาตามข้อ 5) ของผู้ค้าน้ำมันหลักรายอื่นๆ อย่างน้อย 2 ราย คูณจำนวนที่ยังสั่งซื้อไม่ครบ แม้นายดำริ พยานโจทก์จะเบิกความตอบทนายโจทก์ไม่ชัดแจ้งถึงที่มาและวิธีการคำนวณค่าเสียหายก็ตาม แต่นายดำริเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านและตอบทนายโจทก์ถามติงว่า ค่าเสียหายคือส่วนต่างที่จ่ายให้บริษัทต่างประเทศ เมื่อพิจารณาประกอบกับใบกำกับสินค้า(Invoice) หรือใบแจ้งหนี้ ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าค่าเสียหายคือส่วนต่างระหว่างราคาคงที่ตามสัญญากับราคาน้ำมันในตลาดขณะนั้นซึ่งต่ำกว่า เมื่อโจทก์จ่ายค่าเสียหายนี้ให้แก่บริษัทเชลล์ เทรดดิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล แอนด์ ชิปปิ้ง จำกัด (ประเทศอังกฤษ) ตามสัญญาเพื่อความแตกต่างที่โจทก์ทำไว้กับบริษัทดังกล่าว โจทก์ย่อมเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ได้ตามสัญญาซื้อขายราคาคงที่ฯ ข้อ 4.3.2 แม้โจทก์จะไม่ได้คิดคำนวณค่าเสียหายจากมูลค่าที่แตกต่างระหว่างราคาสินค้าตามสัญญากับราคาเฉลี่ยของสินค้าของผู้ค้ารายอื่น ๆ ภายใน ประเทศที่ต่ำกว่าในประเภทสินค้าเดียวกันอย่างน้อย 2 ราย ตามข้อสัญญา ก็ตาม แต่การคิดค่าเสียหายตามที่โจทก์เรียกร้องไม่ได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบเพราะค่าเสียหายที่โจทก์จ่ายให้แก่บริษัทเชลล์ เทรดดิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล แอนด์ ชิปปิ้ง จำกัด (ประเทศอังกฤษ) เป็นผู้ค้ารายใหญ่ ต้นทุนการดำเนินการย่อมต่ำกว่าผู้ค้ารายย่อยอื่น ๆ ในประเทศอยู่แล้ว โจทก์นำสืบค่าเสียหายว่าต้องจ่ายเงินที่เป็นส่วนต่างของราคาน้ำมันให้แก่บริษัทเชลล์ เทรดดิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล แอนด์ ชิปปิ้ง จำกัด (ประเทศอังกฤษ) เป็นเงิน 42,587,757 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์และเนื่องจากเป็นหนี้เงิน จึงให้จำเลยชำระดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมายในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยผิดนัดวันใด แต่โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระค่าเสียหายสำหรับการผิดสัญญาของเดือนพฤศจิกายน 2551 ถึงเดือนมีนาคม 2552 ซึ่งถึงกำหนดชำระแล้วโดยให้ชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ จำเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2552 จึงให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2552 เป็นต้นไป ส่วนค่าเสียหายสำหรับการผิดสัญญาของเดือนเมษายน 2552 ถึงเดือนมิถุนายน 2552 ให้คิดนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 42,587,757 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 29,575,137 บาท นับแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2552 และของต้นเงิน 13,012,620 บาท นับแต่วันที่ 9 กันยายน 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share