คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10605/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ในฐานะผู้โอนกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับโอน ตกลงทำสัญญาโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของผู้โอนรวมตลอดถึงสิทธิอื่นใดเหนือทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันการชำระหนี้สำหรับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพนั้นตามข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 และสัญญานี้ และสิทธิหรือภาระผูกพันอื่นใดที่ผู้โอนมีต่อลูกหนี้ โจทก์โอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรายบริษัท อ. มีหลักประกันเป็นสิทธิการเช่าอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยโฉนดอันเป็นที่ตั้งอาคารพาณิชย์ที่เช่าไม่ปรากฏชื่อบริษัท อ. ในฐานะผู้เช่า แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า สิทธิการเช่าอาคารซึ่งเป็นหลักประกันสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรายนี้ บริษัท อ. ซึ่งเป็นลูกหนี้สินทรัพย์ด้อยคุณภาพเช่าอาคารจาก ส. มีการทำหนังสือสัญญาเช่าช่วงและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่ง ส. ทำหนังสือยินยอมอนุญาตให้มอบสิทธิการเช่าอาคารเป็นหลักประกันการชำระหนี้แก่โจทก์ โดยตกลงยินยอมโอนสิทธิการเช่าให้แก่โจทก์หรือบุคคลที่โจทก์กำหนด และจะไม่โอนสิทธิการเช่าให้แก่บุคคลอื่นเว้นแต่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ โดย ส. เช่าอาคารดังกล่าวจาก ช. โดยมีข้อตกลงให้เช่าช่วงได้ มีการทำหนังสือสัญญาเช่าและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ส่วน ช. เช่าที่ดินที่ตั้งอาคารดังกล่าวเพื่อสร้างอาคารจาก ศ. โดยผู้ให้เช่าที่ดินตกลงให้เช่าช่วงอาคารได้แต่ไม่ให้เช่าช่วงที่ดิน มีการทำหนังสือสัญญาเช่าและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จากสัญญาเช่าและข้อตกลงต่าง ๆ ข้างต้น สิทธิการเช่ารายนี้อาจจำหน่ายหรือโอนได้ แต่ต้องเป็นไปเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ ดังนั้น สิทธิการเช่ารายนี้เมื่ออาจจำหน่ายหรือโอนได้ย่อมมีราคา จึงเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่อาจนำไปจำหน่ายหรือโอนได้ ซึ่งลูกหนี้ให้ไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของตนตามสัญญาให้สินเชื่อตามคำจำกัดความ “ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน” แล้ว สินทรัพย์ด้อยคุณภาพรายนี้จึงมีลักษณะตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 31 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 6,166,973.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงิน 5,400,000 บาท ในอัตราเฉลี่ยของดอกเบี้ยเงินฝากถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักตามเงินฝากทุกประเภทเฉพาะที่เป็นเงินบาทของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) โดยคำนวณเป็นรายไตรมาสตามปีปฏิทินนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 6,166,973.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงิน 5,400,000 บาท ในอัตราเฉลี่ยของดอกเบี้ยเงินฝากถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักตามเงินฝากทุกประเภทเฉพาะที่เป็นเงินบาทของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) โดยคำนวณเป็นรายไตรมาสตามปีปฏิทินนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 ธันวาคม 2554) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 150,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความให้ 90,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ระหว่างพิจารณา กระทรวงการคลังยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิแทนจำเลยที่ 1 ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ เดิมใช้ชื่อว่า ธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) ต่อมามีการรวมและโอนกิจการกับธนาคารยูโอบีรัตนสิน จำกัด (มหาชน) และเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ (ไทย) จำกัด ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 เป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น มีวัตถุประสงค์ในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินและบริษัทสินทรัพย์ ปรับโครงสร้างหนี้ และปรับโครงสร้างกิจการ ทั้งนี้โดยการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์รวมตลอดทั้งสิทธิอื่นใดเหนือทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันการชำระหนี้สำหรับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพนั้น หรือโดยการใช้มาตรการอื่นใดเพื่อประโยชน์แก่การฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือความมั่นคงของประเทศ มีอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ภายในขอบวัตถุประสงค์ดังกล่าว และให้รวมถึงถือกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิรอบครองหรือมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ สร้าง ซื้อ จัดหา ขาย จำหน่าย เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม รับจำนำ รับจำนอง แลกเปลี่ยน โอน รับโอน หรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งในและนอกราชอาณาจักร ตลอดจนรับเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้ และอื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 แห่งพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 จำเลยที่ 2 จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 เป็นนิติบุคคล และตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 46 วรรคสอง บัญญัติให้จำเลยที่ 2 ค้ำประกันตราสารหนี้ที่จำเลยที่ 1 ออกเพื่อชำระราคาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้แก่สถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ วันที่ 12 ตุลาคม 2544 โจทก์ในฐานะผู้โอนกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับโอน ตกลงทำสัญญาโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของผู้โอนรวมตลอดถึงสิทธิอื่นใดเหนือทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันการชำระหนี้สำหรับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพนั้นตามข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ระบุไว้ในพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 และสัญญานี้ และสิทธิหรือภาระผูกพันอื่นใดที่ผู้โอนมีต่อลูกหนี้ นอกจากนี้ คู่สัญญาตกลงที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ระบุไว้ในพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 และสัญญานี้ หากสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรายการใดเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ไม่พึงโอน จำเลยที่ 1 จะไม่รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพดังกล่าว หากจำเลยที่ 1 ได้รับโอนมาแล้วก็ให้ถือว่า การโอนรายการนั้นไม่มีผลทางกฎหมาย และถือว่าสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรายการดังกล่าวไม่เคยโอนมายังจำเลยที่ 1 เลยในกรณีดังกล่าวนี้คู่สัญญาจะปรับราคาสินทรัพย์ให้ถูกต้องต่อไป สินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ไม่พึงโอนนั้นกำหนดไว้ในสัญญาข้อ 5.1 ซึ่งในลำดับ 7 ได้แก่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จำเลยที่ 1 จะรับโอนได้ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ตามมติคณะกรรมการจำเลยที่ 1 หรือตามสัญญานี้ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 โจทก์โอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพหลายรายรวมทั้งรายบริษัทเอดิสันสรรพสินค้ากรุ๊ป จำกัด มีหลักประกันเป็นสิทธิการเช่าอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น เลขที่ 44/14-15 ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 531 และ 4104 ให้แก่จำเลยที่ 1 วันที่ 21 มกราคม 2545 จำเลยที่ 1 ออกหนังสือหลักฐานการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามวันที่ 6 มิถุนายน 2545 จำเลยที่ 1 ออกหนังสือยืนยันราคารับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้แก่โจทก์ โดยรายบริษัทเอดิสันสรรพสินค้ากรุ๊ป จำกัด เป็นเงิน 5,400,000 บาท วันที่ 31 ตุลาคม 2545 จำเลยที่ 1 ส่งตั๋วสัญญาใช้เงินชำระราคาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรวมทั้งรายบริษัทเอดิสันสรรพสินค้ากรุ๊ป จำกัด ด้วย ต่อมาวันที่ 10 กรกฎาคม 2549 จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ตรวจสอบและปรับปรุงมูลค่าหลักประกันกรณีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีสิทธิการเช่าเป็นประกันว่าไม่ถือเป็นหลักประกันในรายบริษัทเอดิสันสรรพสินค้ากรุ๊ป จำกัด ตามคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายของจำเลยที่ 1 วันที่ 9 สิงหาคม 2549 โจทก์มีหนังสือโต้แย้งไปยังจำเลยที่ 1 แผ่นแรก วันที่ 13 มีนาคม 2550 จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงโจทก์แจ้งโอนคืนและปรับลดราคารับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรายบริษัทเอดิสันสรรพสินค้ากรุ๊ป จำกัด จำนวน 5,400,000 บาท หลังจากนั้นโจทก์มีหนังสือโต้แย้งและปฏิเสธรับโอนคืน แผ่นที่ 2 และที่ 3 เมื่อมีข้อโต้แย้งจำเลยที่ 1 จึงขอแยกการชำระราคารับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรายบริษัทเอดิสันสรรพสินค้ากรุ๊ป จำกัด ออกจากตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกให้เพื่อชำระราคารับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรายนี้รวมกับรายอื่นโดยจำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินวันที่ 30 ตุลาคม 2552 จำนวน 5,400,000 บาท ถึงกำหนดใช้เงินวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้อาวัล ให้โจทก์ เมื่อถึงกำหนดใช้เงินโจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินแล้ว จำเลยทั้งสองปฏิเสธ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ จำเลยทั้งสองอ้างว่า จำเลยทั้งสองรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรายที่พิพาทจากโจทก์ โดยสำคัญผิดในเรื่องหลักประกันเพราะเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ไม่สามารถตรวจสอบเอกสารการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแต่ละรายได้ รวมทั้งไม่สามารถตรวจสอบรายละเอียดของทรัพย์หลักประกันได้และเป็นความไม่สุจริตของโจทก์ เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิและหน้าที่ในการตรวจสอบสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่โจทก์ส่งมาว่าจำเลยที่ 1 จะรับโอนหรือไม่ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่ของตนที่จะตรวจสอบ เมื่อจำเลยที่ 1 รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่โจทก์ส่งมาให้ตรวจสอบแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างว่าตนมีข้อจำกัดในการตรวจสอบทำให้รับโอนโดยสำคัญผิดได้ และการที่โจทก์ส่งสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่จะโอนให้จำเลยที่ 1 ตรวจสอบก็เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญา จำเลยที่ 1 เป็นผู้พิจารณาว่าจะรับโอนหรือไม่ ทั้งในเรื่องสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรายที่พิพาทจำเลยที่ 1 จะรับโอนได้หรือไม่ ก็ยังเป็นปัญหาโต้เถียงกันในคดีนี้ โจทก์จึงไม่ได้ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต สำหรับที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า สิทธิการเช่าอาคารซึ่งเป็นหลักประกันสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรายที่พิพาทไม่เป็นทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน ตามสัญญาโอนสินทรัพย์ ข้อ 1.1 นั้น เห็นว่า ตามสัญญาโอนสินทรัพย์ ข้อ 1.1 กำหนดคำจำกัดความ “ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน” หมายถึงทรัพย์สินทั้งที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง ซึ่งลูกหนี้สินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้ให้ไว้แก่ผู้โอนเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของตนตามสัญญาให้สินเชื่อและต้องเป็นทรัพย์สินที่อาจนำไปจำหน่ายหรือโอนได้ ทรัพย์สินใดที่ไม่อาจนำไปจำหน่ายหรือโอนได้จำเลยที่ 1 จะไม่คิดราคาให้ สิทธิการเช่าอาคารซึ่งเป็นหลักประกันสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรายที่พิพาทนั้น บริษัทเอดิสันสรรพสินค้ากรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นลูกหนี้สินทรัพย์ด้อยคุณภาพเช่าอาคารจากนายสว่าง มีการทำหนังสือสัญญาเช่าช่วงและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาธนบุรี บริษัทเอดิสันสรรพสินค้ากรุ๊ป จำกัด มอบสิทธิการเช่าอาคารดังกล่าวเป็นประกันการชำระหนี้ของตนต่อโจทก์ โดยมีข้อตกลงว่าหากบริษัทเอดิสันสรรพสินค้ากรุ๊ป จำกัด ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ หรือผิดสัญญาเช่า บริษัทเอดิสันสรรพสินค้ากรุ๊ป จำกัด ยอมให้ผู้ให้เช่าโอนสิทธิการเช่าให้โจทก์ หรือโอนให้บุคคลใดตามที่โจทก์เห็นสมควรเป็นผู้เช่าแทนได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบริษัทเอดิสันสรรพสินค้ากรุ๊ป จำกัด และบริษัทเอดิสันสรรพสินค้ากรุ๊ป จำกัด ยินยอมให้โจทก์นำเงินค่าตอบแทนการโอนสิทธิการเช่าอาคารไปชำระหนี้โจทก์ นายสว่างทำหนังสือยินยอมอนุญาตให้มอบสิทธิการเช่าอาคารเป็นประกันการชำระหนี้แก่โจทก์ โดยตกลงยินยอมโอนสิทธิการเช่าให้แก่โจทก์ หรือบุคคลที่โจทก์กำหนด และจะไม่โอนสิทธิการเช่าให้แก่บุคคลอื่นเว้นแต่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ในกรณีหากมีการแจ้งการยึดหรืออายัดสิทธิการเช่าโดยศาล เจ้าพนักงานบังคับคดี หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามประมวลรัษฎากรในกรณีที่บริษัทเอดิสันสรรพสินค้ากรุ๊ป จำกัด ค้างชำระภาษีสรรพากร นายสว่างตกลงจะแจ้งให้ผู้ที่แจ้งการยึดหรืออายัดสิทธิการเช่าดังกล่าวว่า ได้มอบสิทธิการเช่าให้ไว้แก่โจทก์เป็นการประกันการชำระหนี้ไปก่อนแล้ว ไม่อาจยินยอมให้นำสิทธิการเช่าออกขายทอดตลาดได้ นายสว่างเช่าอาคารดังกล่าวจากนายสุชาติ โดยมีข้อตกลงให้เช่าช่วงได้ มีการทำหนังสือสัญญาเช่าและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาธนบุรี นายสุชาติเช่าที่ดินที่ตั้งอาคารดังกล่าวเพื่อสร้างอาคารจากนางสาวศรีศักดิ์ โดยผู้ให้เช่าที่ดินตกลงให้เช่าช่วงอาคารได้ แต่ไม่ให้เช่าช่วงที่ดิน มีการทำหนังสือสัญญาเช่าและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาธนบุรี และมีการบันทึกการเช่าที่ดินลงในสารบัญท้ายโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับ จากสัญญาเช่าและข้อตกลงต่าง ๆ ข้างต้น สิทธิการเช่ารายนี้อาจจำหน่ายหรือโอนได้ แต่ต้องเป็นไปเพื่อชำระหนี้โจทก์ ดังนั้นสิทธิการเช่ารายนี้เมื่ออาจจำหน่ายหรือโอนได้ย่อมมีราคา จึงเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่อาจนำไปจำหน่ายหรือโอนได้ ซึ่งลูกหนี้ให้ไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของตนตามสัญญาให้สินเชื่อ ตามคำจำกัดความ “ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน” แล้ว สินทรัพย์ด้อยคุณภาพรายที่พิพาทจึงมีลักษณะตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย จำกัด พ.ศ.2544 มาตรา 31 (1) และเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ต้องโอนตามสัญญา การโอนจึงมีผล จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 90,000 บาท แทนโจทก์

Share