แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยในข้อหาละเมิดโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยขายทอดตลาดรถบรรทุกและพ่วงบรรทุก 209 คัน ที่คณะกรรมการธุรกรรมของจำเลยมีคำสั่งยึดไว้ชั่วคราวโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 57 ซึ่งบัญญัติหลักเกณฑ์การเก็บรักษาและจัดการทรัพย์สินที่คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งยึดหรืออายัดไว้ในวรรคสอง ส่วนการชดใช้เยียวยาความเสียหายให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่ถูกยึด หากภายหลังความปรากฏว่าทรัพย์สินนั้นมิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ซึ่งบัญญัติไว้ใน มาตรา 57 วรรคสี่ นั้นแม้ถ้อยคำในมาตรา 57 วรรคสี่ บัญญัติว่า ถ้าความปรากฏในภายหลังนั้น กฎหมายจะมิได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าความปรากฏในภายหลังโดยคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดก็ตาม แต่มาตรา 57 เป็นบทบัญญัติที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่คณะกรรมการธุรกรรมของจำเลยมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้นไว้ชั่วคราวตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง เพื่อเลขาธิการจะได้ดำเนินการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินต่อไปตามมาตรา 49 ซึ่งหากศาลไต่สวนแล้วเชื่อว่าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดก็ให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 วรรคหนึ่ง แต่หากศาลเห็นว่าไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดก็ให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินนั้นตามมาตรา 51/1 วรรคหนึ่ง แล้วแต่กรณีย่อมมีนัยแสดงให้เห็นได้อยู่ในตัวว่า คำว่า “ถ้าความปรากฏในภายหลัง” ตามมาตรา 57 วรรคสี่ นั้น ต้องเป็นกรณีที่ความปรากฏในภายหลังตามคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดตามมาตรา 51/1 วรรคหนึ่ง ที่ว่า ทรัพย์สินตามคำร้องนั้นไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ดังนั้น หากตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดตามมาตราดังกล่าวว่าทรัพย์สินตามคำร้องไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด กรณีย่อมไม่เข้าองค์ประกอบตามความในมาตรา 57 วรรคสี่ ที่จะก่อให้เกิดหนี้แก่จำเลยที่จะต้องคืนหรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าขณะที่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดว่า ทรัพย์สินตามคำร้องไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ตามมาตรา 51/1 วรรคหนึ่ง กรณีย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยมีหนี้ที่จะต้องคืนหรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองตามฟ้อง จำเลยจึงยังมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้
ในกรณีที่ทรัพย์สินที่คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งยึดไว้ชั่วคราวไม่เหมาะสมที่จะเก็บรักษาไว้ หรือหากเก็บรักษาไว้จะเป็นภาระแก่ทางราชการมากกว่าการนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นนั้น มาตรา 57 วรรคสอง บัญญัติถึงวิธีการจัดการทรัพย์สินที่ถูกยึดไว้ว่า เลขาธิการอาจสั่งให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทรัพย์สินนั้นไปดูแลและใช้ประโยชน์โดยมีประกันหรือหลักประกันหรือให้นำทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดหรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางราชการแล้วรายงานให้คณะกรรมการทราบก็ได้ ดังนั้นการที่เลขาธิการของจำเลยนำรถบรรทุกและพ่วงบรรทุกทั้ง 209 คัน ของโจทก์ทั้งสองออกขายทอดตลาดในขณะที่คดีร้องขอให้ทรัพย์สินตามคำร้องตกเป็นของแผ่นดินยังอยู่ในระหว่างการพิจารณานั้น เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำนาจหน้าที่ของเลขธิการของจำเลยเกี่ยวกับการเก็บรักษาและจัดการทรัพย์สินที่คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งยึดไว้ชั่วคราวตามกระบวนการและขั้นตอนของกฎหมายที่มาตรา 48 และมาตรา 57 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 บัญญัติให้มีอำนาจกระทำได้ อีกทั้งเป็นการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดไว้ชั่วคราวในระหว่างที่คดีร้องขอให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินอยู่ในระหว่างการพิจารณา การดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายเช่นว่านี้จึงมิใช่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนรถบรรทุกและพ่วงบรรทุก 209 คัน ที่ยึดไว้ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคารถบรรทุกและพ่วงบรรทุกตามราคาที่ประเมินได้ในวันที่ยึดหรืออายัดหรือราคาที่ได้จากการขายทอดตลาด แล้วแต่ราคาใดที่มีราคาสูงกว่าแก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยชำระเงิน 120,000,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง และค่าเสียหายเดือนละ 10,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะคืนรถบรรทุกและพ่วงบรรทุกหรือใช้ราคา
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์ทั้งสองและจำเลย แล้ววินิจฉัยว่า เมื่อยังไม่ได้ความว่าทรัพย์สินที่จำเลยนำออกขายทอดตลาดไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 57 วรรคสี่ จึงยังไม่เกิดสิทธิที่โจทก์ทั้งสองจะโต้แย้งได้ และฟ้องของโจทก์ทั้งสองไม่บรรยายฟ้องว่า การใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยในการดำเนินการจัดการทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองตามที่กฎหมายให้อำนาจนั้นเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือฝ่าฝืนบทกฎหมายใด และเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อโจทก์ทั้งสองอย่างไร จึงไม่เป็นการละเมิดและโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยในข้อหาละเมิด โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยขายทอดตลาดรถบรรทุกและพ่วงบรรทุก 209 คัน ที่คณะกรรมการธุรกรรมของจำเลยมีคำสั่งยึดไว้ชั่วคราวโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 57 ซึ่งบัญญัติหลักเกณฑ์การเก็บรักษาและจัดการทรัพย์สินที่คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งยึดหรืออายัดไว้ในวรรคสอง ดังนี้ “ในกรณีที่ทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งไม่เหมาะสมที่จะเก็บรักษาไว้ หรือหากเก็บรักษาไว้จะเป็นภาระแก่ทางราชการมากกว่าการนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เลขาธิการอาจสั่งให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทรัพย์สินนั้นไปดูแลและใช้ประโยชน์โดยมีประกันหรือหลักประกันหรือให้นำทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดหรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการแล้วรายงานให้คณะกรรมการทราบก็ได้”
ส่วนการชดใช้เยียวยาความเสียหายให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่ถูกยึด หากภายหลังความปรากฏว่าทรัพย์สินนั้นมิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้น ความในวรรคสี่ของมาตรา 57 บัญญัติไว้ดังนี้
“ถ้าความปรากฏในภายหลังว่า ทรัพย์สินที่นำออกขายทอดตลาดหรือที่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการตามวรรคสอง มิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ให้คืนทรัพย์สินนั้นพร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายและค่าเสื่อมสภาพตามจำนวนที่คณะกรรมการกำหนด ให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครอง ถ้าไม่อาจคืนทรัพย์สินได้ ให้ชดใช้ราคาทรัพย์สินนั้นตามราคาที่ประเมินไว้ในวันที่ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน หรือตามราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่ได้รับคืนหรือชดใช้ราคา แล้วแต่กรณี”
แม้ถ้อยคำในมาตรา 57 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า ถ้าความปรากฏในภายหลังนั้น กฎหมายมิได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าความปรากฏในภายหลังโดยคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดก็ตาม แต่มาตรา 57 เป็นบทบัญญัติที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่คณะกรรมการธุรกรรมของจำเลยมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้นไว้ชั่วคราวตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง เพื่อเลขาธิการจะได้ดำเนินการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินต่อไปตามมาตรา 49 ซึ่งหากศาลไต่สวนแล้วเชื่อว่าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ก็ให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 วรรคหนึ่ง แต่หากศาลเห็นว่าไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดก็ให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินนั้นตามมาตรา 51/1 วรรคหนึ่ง แล้วแต่กรณี ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวย่อมมีนัยแสดงให้เห็นได้อยู่ในตัวว่า คำว่า “ถ้าความปรากฏในภายหลัง” ตามมาตรา 57 วรรคสี่ นั้น ต้องเป็นกรณีที่ความปรากฏในภายหลังตามคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดตามมาตรา 51/1 วรรคหนึ่ง ที่ว่า ทรัพย์สินตามคำร้องนั้นไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ดังนั้น หากตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดตามมาตราดังกล่าวว่าทรัพย์สินตามคำร้องไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด กรณีย่อมไม่เข้าองค์ประกอบตามความในมาตรา 57 วรรคสี่ ที่จะก่อให้เกิดหนี้แก่จำเลยที่จะต้องคืนหรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขณะที่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดว่า ทรัพย์สินตามคำร้องไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามมาตรา 51/1 วรรคหนึ่ง กรณีย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยมีหนี้ที่จะต้องคืนหรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองตามฟ้อง จำเลยจึงยังมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ ที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์โต้แย้งว่า เลขาธิการของจำเลยนำรถบรรทุกและพ่วงบรรทุก 209 คัน ของโจทก์ทั้งสองออกขายทอดตลาดเสียทั้งหมด ทั้งที่คดีอาญาที่โจทก์ทั้งสองถูกฟ้อง ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง ส่วนคดีแพ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณา ศาลยังมิได้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่ยึดตกเป็นของแผ่นดิน และก่อนขายทอดตลาดโจทก์ทั้งสองก็มีหนังสือถึงจำเลยเพื่อขอรับรถบรรทุกและพ่วงบรรทุกที่ถูกยึดไปดูแลและใช้ประโยชน์ระหว่างการดำเนินคดี กับขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดโดยโจทก์ทั้งสองยอมวางหลักประกันค่าเสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการจงใจไม่ให้โจทก์ทั้งสองนำทรัพย์สินไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองแล้วนั้น เห็นว่า ในกรณีที่ทรัพย์สินที่คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งยึดไว้ชั่วคราวไม่เหมาะสมที่จะเก็บรักษาไว้ หรือหากเก็บรักษาไว้จะเป็นภาระแก่ทางราชการมากกว่าการนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นนั้น มาตรา 57 วรรคสอง บัญญัติถึงวิธีการจัดการทรัพย์สินที่ถูกยึดไว้ว่า “…เลขาธิการอาจสั่งให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทรัพย์สินนั้นไปดูแลและใช้ประโยชน์โดยมีประกันหรือหลักประกันหรือให้นำทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดหรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการแล้วรายงานให้คณะกรรมการทราบก็ได้” ซึ่งจะเห็นได้ว่า การที่เลขาธิการของจำเลยนำรถบรรทุกและพ่วงบรรทุกทั้ง 209 คัน ของโจทก์ทั้งสองออกขายทอดตลาดในขณะที่คดีร้องขอให้ทรัพย์สินตามคำร้องตกเป็นของแผ่นดินยังอยู่ในระหว่างการพิจารณานั้น เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำนาจหน้าที่ของเลขาธิการของจำเลยเกี่ยวกับการเก็บรักษาและจัดการทรัพย์สินที่คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งยึดไว้ชั่วคราวตามกระบวนการและขั้นตอนของกฎหมายที่มาตรา 48 และมาตรา 57 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 บัญญัติให้มีอำนาจกระทำได้ อีกทั้งเป็นการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดไว้ชั่วคราวในระหว่างที่คดีร้องขอให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินอยู่ในระหว่างการพิจารณา ดังนั้น การดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายเช่นว่านี้ จึงมิใช่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นศาลฎีกาให้เป็นพับ.