แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่2และที่3เป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ของจำเลยที่1ต่อโจทก์สัญญาค้ำประกันดังกล่าวทำขึ้นเป็นฉบับเดียวเมื่อบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากรหมวด6ข้อ17เรื่องค้ำประกันมิได้กำหนดไว้ว่าจะต้องปิดอากรแสตมป์คนละ10บาทแม้ตามสัญญาค้ำประกันจะมีจำเลยที่2และที่3เป็นผู้ลงลายมือชื่อค้ำประกัน2คนแต่ก็เป็นการค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันสัญญาฉบับเดียวกันการที่ปิดอากรแสตมป์ไว้ในสัญญาค้ำประกันดังกล่าว10บาทเป็นการถูกต้องครบถ้วนจึงรับฟังสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2534 จำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุไปจากโจทก์ในราคา215,604 บาท ตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ 36 งวด งวดละ5,989 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์เลย โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสามเพิกเฉยสัญญาเช่าจึงสิ้นสุดลง จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์พร้อมชำระค่าเสียหาย แต่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถคืน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ พร้อมชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 60,500 บาท และค่าขาดประโยชน์เดือนละ 5,500 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาหากส่งมอบไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระราคาเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 1 และที่ 3ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์หมายเลขทะเบียน2ห-6124 กรุงเทพมหานคร คืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าขาดประโยชน์เดือนละ 3,000 บาท แก่โจทก์นับแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์หรือใช้ราคาจนครบ หากส่งมอบไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน150,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้จากพยานหลักฐานโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5สัญญาค้ำประกันดังกล่าวทำขึ้นเป็นฉบับเดียวโดยมีจำเลยที่ 2และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน 2 คน และสัญญาค้ำประกันดังกล่าวปิดอากรแสตมป์ไว้ 10 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจะรับฟังสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้หรือไม่ในข้อนี้เห็นว่า บัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากรหมวด 6ข้อ 17 เรื่อง ค้ำประกัน กำหนดไว้ว่า “สัญญาค้ำประกันสำหรับจำนวนเงินเกิน 10,000 บาท ผู้ค้ำประกันต้องปิดอากรแสตมป์ 10 บาท”บทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดไว้ว่าจะต้องปิดอากรแสตมป์คนละ 10 บาทแม้ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 จะมีจำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นผู้ลงลายมือชื่อค้ำประกัน 2 คน แต่ก็เป็นการค้ำประกันในหนี้รายเดียวกัน สัญญาฉบับเดียวกัน การที่ปิดอากรแสตมป์ไว้ในสัญญาค้ำประกันดังกล่าว 10 บาท เป็นการถูกต้องครบถ้วนแล้วจึงรับฟังสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ในส่วนนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3จะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ในข้อนี้ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้โดยไม่จำต้องย้อนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยก่อนซึ่งเมื่อพิเคราะห์ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 ประกอบคำเบิกความของนายนพดล ธรรมบุตรแล้ว ฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ค้ำประกันหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1จริง จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์