คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7995/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่2ขับรถยนต์ลากจูงและรถพ่วงของจำเลยที่1แล่นมาตามถนนพอแล่นเข้าโค้งซึ่งอยู่เชิงเขาถนนเป็นทางโค้งลาดลงเขารถแล่นเข้ามาในช่องขวาซึ่งเป็นช่องเดินรถสวนจำเลยที่2จึงห้ามล้อครั้งแรกและหักรถเข้ามาในช่องเดินรถของตนแต่ไม่สามารถลดความเร็วของรถลงได้จึงได้ห้ามล้ออย่างแรงรถแล่นเข้ามาในช่องเดินรถของตนด้านซ้ายและเสียหลักเพราะรถยาวและมีน้ำหนักมากจึงพุ่งเข้าชนราวเหล็กกั้นขอบถนนด้านซ้ายจนพลิกคว่ำหงายท้องไปดังนี้เหตุที่รถพลิกคว่ำสินค้าที่บรรทุกมาเสียหายจึงมิได้เกิดแต่เหตุสุดวิสัยจำเลยที่1ผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดในความเสียหายหรือบุบสลายของสินค้าที่อยู่ในระหว่างการขนส่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา616 จำเลยที่1ฎีกาว่าต้นทุนของสินค้าที่ราคาเพียงกล่องละ444.88บาทราคาที่เกินจากนี้เป็นกำไรค่าขนส่งและค่าภาษีอากรเมื่อรวมกันแล้วทำให้สินค้ามีราคากล่องละ516บาทโจทก์มีสิทธิรับประกันภัยเพียงราคาต้นทุนของสินค้าเท่านั้นจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกราคาส่วนที่เกินจากจำเลยที่1ปัญหาข้อนี้จำเลยที่1มิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การและศาลชั้นต้นมิได้ยกขึ้นวินิจฉัยแม้ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยในปัญหาข้อนี้ก็ต้องถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคแรกศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย จำเลยที่1ฎีกาว่าตามแบบพิมพ์ยพ.6ก.เลขที่465217ลงวันที่4ธันวาคม2529ในสำนวนการสอบสวนได้จำกัดความรับผิดของจำเลยที่1ไว้ไม่เกิน100,000บาทจำเลยที่1จึงไม่ต้องรับผิดเกินกว่าเงินจำนวนดังกล่าวในชั้นพิจารณาจำเลยที่1ให้การต่อสู้ในปัญหาข้อนี้เพียงว่าหากโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยจริงค่าเสียหายที่จะต้องชดใช้แก่บริษัทอ.ก็ไม่ควรเกินกว่า100,000บาทส่วนจำเลยที่2ให้การต่อสู้ว่าตามข้อตกลงของจำเลยที่1ในการรับส่งสินค้าจำเลยที่1จะรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าที่ขนส่งไม่เกิน300,000บาทหากสินค้ามีราคาเกินกว่านี้ผู้ว่าจ้างจะต้องแจ้งให้จำเลยที่1ทราบแต่ในการรับจ้างขนส่งสินค้าในครั้งนี้ผู้ว่าจ้างไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวคือไม่แจ้งให้จำเลยที่1ทราบว่าสินค้าที่ขนส่งมีราคาเกินกว่า300,000บาทหากฟังว่าจำเลยที่2ต้องรับผิดก็ไม่ควรเกิน300,000บาทดังนี้จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่1ได้ยกขึ้นต่อสู้ในเรื่องมีข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งในเอกสารที่ผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา625ไว้ในคำให้การโดยชัดแจ้งฎีกาของจำเลยที่1ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องนอกประเด็นข้อต่อสู้ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา616หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงว่าไม่ต้องรับผิดตกแก่จำเลยผู้ขนส่งจะต้องนำสืบก่อนการที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบให้โจทก์นำสืบก่อนในครั้งแรกจึงเป็นกรณีที่ไม่ได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบซึ่งหากศาลที่พิจารณาคดีทราบในภายหลังไม่ว่าจะเป็นโจทก์แถลงให้ศาลทราบหรือศาลทราบเองศาลก็มีอำนาจที่จะเพิกถอนหรือสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมเมื่อใดก็ได้โดยไม่อยู่ในบังคับของมาตรา27วรรคสองดังนั้นการที่โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นช้ากว่า8วันนับแต่วันทราบคำสั่งศาลจึงหาลบล้างอำนาจของศาลในเรื่องนี้ไม่คำสั่งศาลชั้นต้นที่กำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่และให้จำเลยนำสืบก่อนในครั้งหลังจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์ลากจูงหมายเลขทะเบียน 70-2223 กรุงเทพมหานคร และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 70-0207 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ขับรถยนต์ลากจูงและรถพ่วงคันดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2529 บริษัทอิตัลไทยอุตสาหกรรม จำกัดได้เอาประกันภัยในการรับขนสินค้าสุราต่างประเทศ จำนวน 3,752 กล่องเป็นเงิน 1,936,032 บาท ที่ส่งจากกรุงเทพมหานคร ไปยังจังหวัดภูเก็ตไว้กับโจทก์ โดยบริษัทอิตัลไทยอุตสาหกรรม จำกัด ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ทำการขนส่ง จำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นลูกจ้างขับรถยนต์ลากจูงและรถพ่วงคันดังกล่าวของจำเลยที่ 1ไปทำการขนส่งเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2529 ขณะจำเลยที่ 2ขับรถยนต์ลากจูงและรถพ่วงคันดังกล่าวบรรทุกสินค้าที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไปถึงถนนสายที่ 401 สุราษฎร์ธานี-ตะกั่วป่าระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 118 ถึง 119 ตำบลรมณีย์ อำเภอกะปงจังหวัดพังงา ซึ่งเป็นบริเวณทางโค้งลงจากภูเขาในลักษณะลาดชันจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ด้วยความประมาทโดยขับรถด้วยความเร็วสูงเป็นเหตุให้รถยนต์ลากจูงและรถพ่วงบรรทุกสินค้าดังกล่าว แฉลบออกนอกทางพุ่งชนเสาราวสะพานข้ามคลองหินลับนอกขอบทางด้านซ้ายและพลิกคว่ำทำให้สินค้าสุราต่างประเทศของบริษัทอิตัลไทยอุตสาหกรรมจำกัด เสียหาย เป็นเงิน 1,685,772 บาท บริษัทอิตัลไทยอุตสาหกรรมจำกัด เรียกร้องให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทอิตัลไทยอุตสาหกรรมจำกัด ตามสัญญาประกันภัยไปแล้ว เป็นเงิน 1,685,772 บาทโจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยที่จะเรียกเอาเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยทั้งสอง โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวน 1,685,772 บาท แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,685,772 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า บริษัทอิตัลไทยอุตสาหกรรม จำกัดไม่ได้เอาประกันภัยในการขนส่งสินค้ากับโจทก์ สินค้าของบริษัทดังกล่าวที่ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ขนส่งมีราคาไม่ถึงจำนวนที่โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 2 มิได้ประมาทขับรถด้วยความเร็วสูงเหตุเกิดเพราะมีกระบือวิ่งตัดหน้ารถในระยะกระชั้นชิดเป็นเหตุสุดวิสัย พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา จำเลยที่ 2จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งจึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง หลังเกิดเหตุแล้วสินค้าเสียหายเพียงบางส่วน คิดเป็นเงินไม่เกิน 100,000 บาท
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังขับรถด้วยความเร็วต่ำ แต่มีสัตว์วิ่งตัดหน้ารถอย่างกระทันหันจำเลยจึงห้ามล้อรถให้ความเร็วต่ำลงอีก ทำให้รถพ่วงที่มีความยาวและน้ำหนักมากเหวี่ยงตัวไปข้างหน้ารถยนต์ลากจูง รถยนต์ลากจูงเสียหลักพุ่งชนราวสะพานข้ามคลองทันที เป็นเหตุสุดวิสัยพนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดตะกั่วป่ามีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยที่ 2ด้วยเหตุผลว่าเป็นเหตุสุดวิสัย มิใช่เป็นความประมาทของจำเลยที่ 2จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้น จำเลยที่ 1มีข้อตกลงกับบริษัทอิตัลไทยอุตสาหกรรม จำกัด ผู้ว่าจ้างจะรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายของสินค้าที่บรรทุกมาไม่เกิน 300,000 บาทหากสินค้ามีราคาเกินกว่าจำนวนดังกล่าว ผู้ว่าจ้างจะต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ แต่ผู้ว่าจ้างไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวหากจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดด้วยก็ไม่เกิน 300,000 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,685,772บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าที่จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อแรกว่า เหตุที่จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ลากจูงและรถพ่วงพลิกคว่ำเป็นเหตุสุดวิสัยนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์ลากจูงและรถพ่วงของจำเลยที่ 1 แล่นมาตามถนน พอแล่นเข้าโค้งซึ่งอยู่เชิงเขาสด ถนนเป็นทางโค้งลาดลงเขารถได้แล่นเข้ามาในช่องขวามือซึ่งเป็นช่องเดินรถสวน จำเลยที่ 2 จึงห้ามล้อครั้งแรกและหักรถเข้ามาในช่องเดินรถของตนด้านซ้ายมือ แต่ไม่สามารถลดความเร็วของรถลงได้จึงได้ห้ามล้อซ้ำอย่างแรง รถจึงแล่นเข้ามาในช่องเดินรถของตนด้านซ้ายมือและเสียหลักเพราะเป็นรถยาวและมีน้ำหนักมาก จึงพุ่งเข้าชนราวเหล็กกั้นขอบถนนด้านซ้ายมือจนพลิกคว่ำหงายท้องไป เหตุที่รถพลิกคว่ำสินค้าที่บรรทุกมาเสียหายจึงมิได้เกิดแต่เหตุสุดวิสัย จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดในความเสียหายหรือบุบสลายของสินค้าที่อยู่ในระหว่างการขนส่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616
จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อสองว่า ต้นทุนของสินค้ามีราคาเพียงกล่องละ 444.88 บาท ราคาที่เกินจากนี้เป็นกำไร ค่าขนส่งและค่าภาษีอากร เมื่อรวมกันแล้วทำให้สินค้ามีราคากล่องละ 516 บาทโจทก์มีสิทธิประกันภัยเพียงราคาต้นทุนของสินค้าเท่านั้นจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกราคาส่วนที่เกินจากจำเลยที่ 1 ปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 1 มิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การและศาลชั้นต้นมิได้ยกขึ้นวินิจฉัย แม้ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยในปัญหาข้อนี้ก็ต้องถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อสามว่า ตามแบบพิมพ์ ยพ.6 ก. เลขที่ 465217ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2529 ในสำนวนการสอบสวนได้จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ไว้ไม่เกิน 100,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดเกินกว่าเงินจำนวนดังกล่าว ในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ในปัญหาข้อนี้เพียงว่าหากโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยจริง ค่าเสียหายที่จะต้องชดใช้แก่บริษัทอิตัลไทยอุตสาหกรรม จำกัด ก็ไม่ควรเกินกว่า 100,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า ตามข้อตกลงของจำเลยที่ 1 ในการรับส่งสินค้า จำเลยที่ 1 จะรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสินค้าที่ขนส่งไม่เกิน 300,000 บาท หากสินค้ามีราคาเกินกว่านี้ ผู้ว่าจ้างจะต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบแต่ในการรับจ้างขนส่งสินค้าในครั้งนี้ ผู้ว่าจ้างไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว คือไม่แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบว่าสินค้าที่ขนส่งมีราคาเกินกว่า 300,000 บาท หากฟังว่าจำเลยที่ 2ต้องรับผิดก็ไม่ควรเกิน 300,000 บาท ดังนี้จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ยกข้อต่อสู้ในเรื่องมีข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งในเอกสารที่ผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625 ไว้ในคำให้การโดยชัดแจ้ง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องนอกประเด็นข้อต่อสู้ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อ 4 ว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องลงวันที่8 มีนาคม 2531 คัดค้านการกำหนดประเด็นและหน้าที่นำสืบที่ศาลชั้นต้นได้สั่งให้โจทก์นำสืบก่อนเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2531ซึ่งต่อมาศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นและหน้าที่นำสืบใหม่โดยให้จำเลยนำสืบก่อน เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2531 โดยโจทก์ได้ยื่นคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสองขอให้ศาลฎีกาเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งเมื่อวันที่14 มีนาคม 2531 ซึ่งจำเลยได้ยื่นคำแถลงคัดค้านคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นไว้แล้ว เห็นว่า ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การต่อสู้ว่าสินค้าที่ขนส่งได้เสียหายหรือบุบสลาย เพราะเกิดแต่เหตุสุดวิสัยจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616บัญญัติให้ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในความเสียหายหรือบุบสลายในสินค้าที่ให้ส่งเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายหรือบุบสลายเกิดแต่เหตุสุดวิสัย ผู้ขนส่งจึงไม่ต้องรับผิด ดังนั้น หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงว่าไม่ต้องรับผิดจึงตกแก่จำเลยผู้ขนส่งจะต้องนำสืบก่อน การที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบให้โจทก์นำสืบก่อนในครั้งแรก จึงเป็นกรณีที่ไม่ได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ซึ่งหากศาลที่พิจารณาคดีทราบในภายหลังไม่ว่าจะเป็นโจทก์แถลงให้ศาลทราบหรือศาลทราบเอง ศาลก็มีอำนาจที่จะเพิกถอนหรือสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมเมื่อใดก็ได้โดยไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 27 วรรคสอง ดังนั้นการที่โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งศาล จึงหาลบล้างอำนาจของศาลในเรื่องนี้ไม่ คำสั่งศาลชั้นต้นที่กำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่และให้จำเลยนำสืบก่อนจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share