คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นสมาชิกเทศบาล ทำหนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเกี่ยวกับเรื่องที่ภริยาของโจทก์ (โจทก์เป็นปลัดเทศบาล) ตั้งเบิกจ่ายค่าพาหนะเดินทางย้ายว่า’การเบิกจ่ายที่ผ่านไปได้ทั้งๆ ที่ไม่เป็นความจริง หรือการทุจริตนี้วิญญูชนก็ต้องเข้าใจว่าคงกระทำไปด้วยความแนะนำรู้เห็นเป็นใจของโจทก์ผู้เป็นสามีอย่างแน่นอน เพราะต่างก็ทำงานร่วมกันและอยู่ในบ้านพักเดียวกันการกระทำดังกล่าวนี้เป็นการผิดกฎหมายและวินัยของราชการอย่างร้ายแรง’ และ’แทนที่โจทก์จะปฏิบัติหน้าที่และวางตนให้สมกับตำแหน่งโจทก์กลับจะกลายมาเป็นผู้แสวงหาประโยชน์จากเทศบาลโดยวิธีที่ไม่ชอบทั้งมีความประพฤติส่วนตัวที่ไม่สมควรมากมายหลายอย่าง จนพนักงานเทศบาลและประชาชนขาดความเคารพนับถือสำหรับความประพฤติส่วนตัวที่เลวร้ายของโจทก์นั้น จำเลยจะยังไม่ขอกล่าวในโอกาสนี้’ ดังนี้ข้อความที่กล่าวว่าโจทก์มีความประพฤติเลวร้ายแต่มิได้กล่าวว่าเลวร้ายอย่างใดนั้นก็น่าจะเข้าใจได้ว่า การกระทำที่เป็นทุจริตอย่างจำเลยกล่าวหาโจทก์เป็นความประพฤติที่เลวร้ายได้และเมื่อปรากฏว่าคำร้องเรียนของจำเลยเป็นความจริงจำเลยก็ไม่ต้องรับโทษเพราะได้รับความยกเว้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับราชการตำแหน่งปลัดเทศบาลเมืองภูเก็ตจำเลยเป็นสมาชิกเทศบาลเมืองภูเก็ต เมื่อ 30 พฤศจิกายน 2503 จำเลยได้ทำหนังสือร้องเรียนเท็จยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตโดยกล่าวใส่ความนางนพคุณ รัชทินพันธ์ ภรรยาโจทก์ซึ่งเดิมรับราชการเป็นพนักงานเทศบาลเมืองสุรินทร์ ได้ย้ายมารับราชการทางเทศบาลเมืองภูเก็ต นางนพคุณได้เดินทางมาคนเดียว ได้ทราบว่าตั้งเบิกจ่ายค่าพาหนะถึง 5 คนทำให้เทศบาลสิ้นเปลืองเงินไปอีกเป็นจำนวนมากและบังอาจใช้ถ้อยคำหมิ่นประมาทโจทก์ว่า “การเบิกจ่ายที่ผ่านไปได้ทั้ง ๆ ที่ไม่เป็นความจริง หรือการทุจริตนี้วิญญูชนก็ต้องเข้าใจว่าคงกระทำไปด้วยความแนะนำรู้เห็นเป็นใจของนายแสวงผู้สามีอย่างแน่นอนเพราะต่างก็ทำงานร่วมกันอยู่ และอยู่ในบ้านพักเดียวกัน การกระทำดังกล่าวนี้เป็นการผิดกฎหมายและวินัยของราชการอย่างร้ายแรง”หนังสือคำร้องเรียนของจำเลยหามีความจริงไม่

นอกจากนี้ จำเลยยังบังอาจกล่าวเท็จใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ต่อไปว่า”แทนที่นายแสวงจะปฏิบัติหน้าที่และวางตนให้สมกับตำแหน่งนายแสวงกลับจะกลายมาเป็นผู้แสวงหาประโยชน์จากเทศบาลโดยวิธีที่ไม่ชอบ ทั้งมีความประพฤติส่วนตัวที่ไม่สมควรมากมายหลายอย่างจนพนักงานเทศบาลและประชาชนขาดความเคารพนับถือ สำหรับความประพฤติส่วนตัวที่เลวร้ายของนายแสวงนั้น ข้าพเจ้าจะยังไม่ขอกล่าวในโอกาสนี้” โจทก์ได้รับความเสียหายโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง เหตุเกิดตำบลตลาดใหญ่อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และ 332(2)

จำเลยให้การว่า ได้ทำหนังสือร้องเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดจริงแต่ข้อความที่ร้องเรียนเป็นความจริง ไม่ใช่ความเท็จ และทำในฐานะสมาชิกเทศบาลและประชาชน เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตด้วยความเป็นธรรม ไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329, 330 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ตามที่จำเลยนำสืบเชื่อได้ว่าที่จำเลยร้องเรียนตามเอกสารหมาย จ.1 นั้น เป็นความจริงสมข้อต่อสู้ จำเลยจึงไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ และได้รับยกเว้นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330 พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยควรมีความผิด

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ข้อที่จำเลยกล่าวหานางนพคุณและโจทก์เรื่องเบิกเงินค่าพาหนะเดินทางเกินความจริงโดยทุจริตนั้น ตามรูปคดีมีเหตุผลที่จะให้จำเลยเชื่อว่าการเบิกจ่ายไม่สุจริต ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีเจตนาร้ายแกล้งใส่ความโจทก์ จำเลยจึงไม่ผิดในข้อนี้ ศาลชั้นต้นชี้ขาดข้อนี้ชอบแล้ว

ส่วนข้อความในคำร้องเรียนกล่าวถึงความประพฤติส่วนตัวของโจทก์นั้น จำเลยไม่ระบุลงไปว่าโจทก์มีความประพฤติส่วนตัวไม่สมควรเลวร้ายอย่างใดพอที่จะให้ผู้อื่นทราบได้ว่าจะเท็จจริงอย่างไรและไม่มีความจำเป็นอย่างใดที่จะต้องกล่าวเช่นนั้น ทั้งไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะกล่าว จึงเห็นชัดว่าเป็นการกล่าวโดยไม่สุจริตจำเลยต้องมีผิด พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ปรับ 200 บาท

จำเลยฎีกาว่า ข้อความที่จำเลยร้องเรียนเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรมป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนผู้เป็นสมาชิกและราษฎรในเขตเทศบาลเมืองภูเก็ตตามครองธรรมชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 และ 330 จำเลยจึงไม่มีความผิดขอให้ยกฟ้อง

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว โจทก์สืบฟังได้ว่า จำเลยได้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ให้ปลัดจังหวัดอ่านด้วย จึงฟังได้ว่าบุคคลที่สามได้ทราบข้อความในเอกสาร จ.1 แล้ว ข้อวินิจฉัยต่อไปมีว่า ข้อความใน จ.1 มิเป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า จุดประสงค์ที่จำเลยมุ่งเป็นสารสำคัญในการทำหนังสือร้องเรียนนี้ขึ้นก็เพื่อจะกล่าวหาว่าโจทก์สมคบกับนางนพคุณ เบิกเงินค่าพาหนะเดินทางเกินจากความเป็นจริง เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ส่วนข้อความในตอนต้นที่กล่าวว่าโจทก์มีความประพฤติเลวร้ายก็มิได้กล่าวว่าเลวร้ายอย่างใด แต่ก็น่าจะเข้าใจได้ว่าการกระทำที่เป็นทุจริตอย่างจำเลยกล่าวหาโจทก์มานี้ก็เป็นความประพฤติที่เลวร้ายได้เหมือนกัน ซึ่งถ้าข้อกล่าวหาเช่นนี้เป็นการกล่าวเท็จ ก็ไม่มีปัญหาย่อมฟังได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่ปลัดเทศบาล เพราะจะทำให้คนทั้งหลายดูหมิ่นเกลียดชังโจทก์ได้ ในทางตรงกันข้าม หากการกระทำของโจทก์เป็นความจริงดังจำเลยร้องเรียน จำเลยก็มีสิทธิที่จะร้องเรียนกล่าวโทษโจทก์ได้ ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า จำเลยแกล้งร้องเรียนเท็จหรือไม่ ซึ่งเมื่อพิเคราะห์คำพยานโจทก์จำเลยแล้ว น่าเชื่อเป็นความจริงว่านางนพคุณได้เดินทางไปภูเก็ตคนเดียว ไม่ใช่ 5 คน ดังที่นางนพคุณตั้งฎีกาเบิกเงินค่าพาหนะ คำร้องเรียนของจำเลยตามเอกสาร จ.1 จึงฟังได้เป็นความจริงดังจำเลยต่อสู้ จำเลยจึงไม่มีความผิดดังโจทก์ฟ้อง เพราะได้รับยกเว้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share