คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12506/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อตกลงในกรมธรรม์ประกันภัยกรณีความเสียหายต่อทรัพย์สินที่ว่า จำเลยร่วมตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัยสำหรับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดตามกฎหมายที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายสำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลใด ๆ นั้น มีลักษณะเป็นสัญญาประกันภัยค้ำจุนตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง ซึ่งจำเลยร่วมตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 3 เมื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินเกิดแก่บุคคลอีกคนหนึ่งและซึ่งจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดชอบ ดังนั้น การที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 กระทำด้วยความประมาทเลินเล่อทำให้สินค้าพิพาทตกลงจากรถยกสินค้า และสินค้าพิพาทได้รับความเสียหาย ซึ่งจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดชอบในความเสียหายดังกล่าว จำเลยร่วมย่อมต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 3 เพื่อความวินาศภัยอันเกิดแก่สินค้าพิพาทตามข้อตกลงในกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว
ส่วนข้อยกเว้นตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ไม่คุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลใดๆ ตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 1.2.1 หมายถึง ทรัพย์สินที่เสียหายเป็นทรัพย์สินที่ผู้เอาประกันภัยเป็นเจ้าของ หรือทรัพย์สินที่ผู้เอาประกันภัยนำมาใช้ปฏิบัติงานของผู้เอาประกันภัย ข้อ 1.2.2 หมายถึง ทรัพย์สินที่ลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้เอาประกันภัยนำมาใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อผู้เอาประกันภัยในระหว่างทางการที่จ้าง หาใช่ว่าเมื่อสินค้าพิพาทได้รับความเสียหายจากการขนถ่ายโดยลูกจ้างของจำเลยที่ 3 จะเป็นกรณีที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยเพราะสินค้าพิพาทได้รับความเสียหายขณะอยู่ในครอบครองของจำเลยที่ 3 หรือลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ไม่ ดังนั้น จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ในฐานะนายจ้างของลูกจ้างที่กระทำละเมิดในทางการที่จ้างให้รับผิดต่อโจทก์ผู้รับช่วงสิทธิมาจากผู้ถูกทำละเมิด ส่วนจำเลยที่ 3 ขอให้เรียกจำเลยร่วมในฐานะที่เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนความรับผิดของจำเลยที่ 3 เข้ามาเพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยหากจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ ดังนั้น จำเลยร่วมจึงต้องเข้ามาร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ในลักษณะลูกหนี้ร่วม โดยโจทก์สามารถบังคับชำระหนี้ละเมิดได้ทั้งจากจำเลยที่ 3 และจำเลยร่วม และหากจำเลยที่ 3 ถูกบังคับชำระหนี้ไปก่อน ก็ต้องใช้สิทธิไล่เบี้ยตามกฎหมายต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 217,368.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องเป็นเวลา 8 เดือนเศษ แต่โจทก์ขอคิดเพียง 8 เดือน เป็นเงิน 10,868.43 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 217,368.72 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทสามัคคีประกันภัย จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต และให้เรียกบริษัทสามัคคีประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยร่วม
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตและให้จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 217,368.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 3 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วม คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา บริษัทเอซ ไอเอ็นเอ โอเวอร์ซีส์ อินชัวรันซ์ จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาต
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดของประเทศออสเตรเลีย ประกอบกิจการรับประกันวินาศภัย โจทก์ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยในประเทศไทย โจทก์รับประกันภัยสินค้าเครื่องถอนเงินอัตโนมัติ 13 เครื่อง ซึ่งบริษัทเอ็นซีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เอาประกันภัยสั่งซื้อจากประเทศอังกฤษ ต่อมาตัวแทนของผู้ขายในประเทศอังกฤษว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าพิพาททางเครื่องบินจากประเทศอังกฤษมาประเทศไทย จำเลยที่ 1 ส่งสินค้าพิพาทให้จำเลยที่ 2 เก็บรักษาไว้ในฐานะนายคลังสินค้าเพื่อส่งมอบให้บริษัทเอ็นซีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด และจำเลยที่ 2 มอบสินค้าพิพาทให้จำเลยที่ 3 เก็บรักษาไว้อีกทอดหนึ่ง ต่อมาวันที่ 19 กรกฎาคม 2542 ระหว่างที่จำเลยที่ 3 ยกขนสินค้าพิพาทเพื่อจะส่งมอบให้บริษัทเอ็นซีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 กระทำด้วยความประมาทเลินเล่อทำให้สินค้าพิพาทตกลงมาจากรถยกสินค้าและได้รับความเสียหาย 1 เครื่อง จำเลยที่ 2 รายงานความเสียหายดังกล่าว โจทก์จ้างผู้เชี่ยวชาญทำการสำรวจความเสียหาย ปรากฏว่ามีความเสียหายมากจนไม่สามารถซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิมได้ หลังจากหักค่าเสียหายส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบและหักราคาขายซากสินค้าแล้ว เหลือค่าเสียหายที่โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยต้องรับผิดเป็นเงิน 217,368.72 บาท ตามหนังสือเรียกร้องของบริษัทเอ็นซีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด ต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน 2542 โจทก์ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่บริษัทเอ็นซีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยร่วมมีวัตถุประสงค์และประกอบกิจการรับประกันวินาศภัยความเสียหายของสินค้าในกิจการบริการขนถ่ายสินค้าได้รับประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายของจำเลยที่ 3 ตามกรมธรรมม์ประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก โดยการให้บริการขนถ่ายสินค้านั้น จำเลยที่ 3 ใช้ลูกจ้างในการประกอบกิจการ
คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ว่า เหตุแห่งความเสียหายที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ยกขนสินค้าพิพาทด้วยความประมาทเลินเล่อทำให้สินค้าพิพาทตกลงมาจากรถยกสินค้าและได้รับความเสียหาย 1 เครื่อง อยู่ในความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกหรือไม่ เห็นว่า จำเลยร่วมมีวัตถุประสงค์และประกอบธุรกิจรับประกันวินาศภัยในความเสียหายของสินค้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของกิจการให้บริการขนถ่ายสินค้า ส่วนจำเลยที่ 3 มีวัตถุประสงค์และประกอบธุรกิจให้บริการรับขนถ่ายสินค้า การที่จำเลยที่ 3 ยอมเสียเบี้ยประกันภัยก็เพื่อคุ้มครองความรับผิดของตนต่อความเสียหายของสินค้าของลูกค้าหรือบุคคลภายนอกที่เกิดจากการให้บริการขนถ่ายสินค้าโดยพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ตามกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกได้ระบุถึงลักษณะกิจการหรือธุรกิจที่เอาประกันภัยไว้ว่า ให้บริการเครื่องจักร (Forklift & Rapid Lift) สถานที่ประกอบการและอาณาเขตการคุ้มครอง คือ ภายในการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย โดยคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายซึ่งเกิดขึ้นภายในสถานที่ประกอบการหรือเกิดขึ้นจากการใช้สถานที่ประกอบการ กับระบุหมายเหตุไว้ว่า “คุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายจากการปฏิบัติงานของเครื่องจักร” และระบุเงื่อนไขความรับผิดของจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยว่า “…บริษัท (จำเลยร่วม) จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยสำหรับ
1. จำนวนเงินที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดตามกฎหมายที่จะชดใช้เป็นค่าเสียหายสำหรับ
1.1 การเสียชีวิตหรือความบาดเจ็บ…
1.2 ความสูญเสียหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลใดๆ นอกจาก
1.2.1 ทรัพย์สินที่ผู้เอาประกันภัยเป็นเจ้าของหรือครอบครอง หรืออยู่ในความดูแล หรือควบคุมหรือกำลังใช้หรือกำลังปฏิบัติงานโดยผู้เอาประกันภัย
1.2.2 ทรัพย์สินที่ลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้เอาประกันภัยดูแล ควบคุม กำลังใช้ หรือกำลังปฏิบัติงาน เพื่อผู้เอาประกันภัยในระหว่างทางการที่จ้าง ความรับผิดตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้นต้องเกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุอันเกี่ยวกับกิจการหรือธุรกิจของผู้เอาประกันภัยภายใต้ขอบเขตของการเสี่ยงภัยที่เอาประกันภัยไว้…” เห็นว่า ข้อตกลงในกรมธรรม์ประกันภัยกรณีความเสียหายต่อทรัพย์สินที่ว่า จำเลยร่วมตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัยสำหรับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดตามกฎหมายที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายสำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลใดๆ นั้น มีลักษณะเป็นสัญญาประกันภัยค้ำจุน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรคหนึ่ง ซึ่งจำเลยร่วมตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 3 เมื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินเกิดแก่บุคคลอีกคนหนึ่งและซึ่งจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดชอบ ดังนั้น การที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 กระทำด้วยความประมาทเลินเล่อทำให้สินค้าพิพาทตกลงจากรถยกสินค้า และสินค้าพิพาทได้รับความเสียหาย ซึ่งจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดชอบในความเสียหายดังกล่าว จำเลยร่วมย่อมต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 3 เพื่อความวินาศภัยอันเกิดแก่สินค้าพิพาทตามข้อตกลงในกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว
ส่วนข้อยกเว้นตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ไม่คุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลใดๆ ตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 1.2.1 หมายถึง ทรัพย์สินที่เสียหายเป็นทรัพย์สินที่ผู้เอาประกันภัยเป็นเจ้าของ หรือทรัพย์สินที่ผู้เอาประกันภัยนำมาใช้ปฏิบัติงานของผู้เอาประกันภัย ข้อ 1.2.2 หมายถึง ทรัพย์สินที่ลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้เอาประกันภัยนำมาใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อผู้เอาประกันภัยในระหว่างทางการที่จ้าง หาใช่ว่าเมื่อสินค้าพิพาทได้รับความเสียหายจากการขนถ่ายโดยลูกจ้างของจำเลยที่ 3 จะเป็นกรณีที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย เพราะสินค้าพิพาทได้รับความเสียหายขณะอยู่ในครอบครองของจำเลยที่ 3 หรือลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ไม่ ดังนั้น จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องจำเลยร่วมนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย แต่ที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 นั้น ก็ไม่ถูกต้อง เพราะคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ในฐานะนายจ้างของลูกจ้างที่กระทำละเมิดในทางการที่จ้างให้รับผิดต่อโจทก์ผู้รับช่วงสิทธิมาจากผู้ถูกทำละเมิด ส่วนจำเลยที่ 3 ขอให้เรียกจำเลยร่วมในฐานะที่เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนความรับผิดของจำเลยที่ 3 เข้ามาเพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยหากจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ ดังนั้น จำเลยร่วมจึงต้องเข้ามาร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ในลักษณะลูกหนี้ร่วม โดยโจทก์สามารถบังคับชำระหนี้ละเมิดได้ทั้งจากจำเลยที่ 3 และจำเลยร่วม และหากจำเลยที่ 3 ถูกบังคับชำระหนี้ไปก่อน ก็ต้องใช้สิทธิไล่เบี้ยตามกฎหมายต่อไป กรณีไม่อาจยกฟ้องจำเลยที่ 3 ตามคำขอของจำเลยที่ 3 ได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยร่วมและจำเลยที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 217,368.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวเป็นเวลา 8 เดือน แต่ไม่เกิน 10,868.43 บาท กับดอกเบี้ยในต้นเงินและอัตราดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วม และค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share