คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13999/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ วรรคหนึ่ง กำหนดให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ได้มาก็เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มิได้มุ่งหมายให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีกรรมสิทธิ์เช่นเดียวกับเจ้าของทรัพย์สินทั่วไปที่มีสิทธิใช้สอย จำหน่ายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ดังนั้น เมื่อที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน แม้ถูกเพิกถอนสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอันเนื่องจากการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 (4) ก็ตาม ก็ยังคงเป็นที่ดินของรัฐอยู่เพียงแต่เปลี่ยนประเภทของที่ดินวัตถุประสงค์และการใช้ประโยชน์ในที่ดินและเปลี่ยนหน่วยงานของรัฐที่จะเป็นผู้จัดให้ใช้ประโยชน์เท่านั้น
เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน และเป็นที่ดินของรัฐแล้วย่อมต้องห้ามมิให้บุคคลทั่วไปยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1306 หากการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเป็นการออกทับที่ดินที่บิดาจำเลยและจำเลยมีสิทธิครอบครองจริง ก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปดำเนินการขอเพิกถอนหรือแก้ไขตามระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง พ.ศ.2529 และฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเท่านั้น หาใช่ฝ่าฝืนที่จะอยู่ในที่ดินของรัฐต่อไปได้ไม่
การที่จำเลยบุกรุกเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินของรัฐแต่ไม่ใช่ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันหรือที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดตามมาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่ง เท่านั้น ทั้งการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก็เป็นการครอบครองต่อเนื่องจากบิดาของจำเลยที่ครอบครองทำประโยชน์มาก่อนนานแล้ว จึงมีสาเหตุที่ทำให้จำเลยอาจเข้าใจไปได้ว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมาก่อน และการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเมื่อปี 2535 เป็นการออกทับที่ดินของจำเลย พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยจึงไม่ร้ายแรงนัก กรณีจึงมีเหตุสมควรรอการลงโทษให้จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙, ๑๐๘ ทวิ ให้จำเลย
และบริวารออกไปจากที่ดินที่ยึดถือครอบครองดังกล่าว
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๙, ๑๐๘ ทวิ วรรคสอง ลงโทษจำคุก ๑ ปี แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่การที่จำเลยได้รับการแจ้งเตือนเป็นหนังสือจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงมะไฟให้หยุดกระทำการบุกรุกแผ้วถางแต่จำเลยไม่ยอมหยุดทั้งที่ทราบว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์พฤติการณ์ไม่สมควรรอการลงโทษให้ ให้จำเลยหรือบริวารออกไปจากที่ดินที่เข้าไปยึดถือครอบครอง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งฟังได้ว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณสมบัติแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน ตั้งอยู่ที่บ้านดงมะไฟ (หมู่ที่ ๘) ตำบลดงมะไฟ กิ่งอำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร ซึ่งมีเนื้อที่รวม ๗๐๐ ไร่ ๒ งาน ๓๓ ตารางวา และในที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังกล่าวมีราษฎรเข้าไปทำกินหลายรายรวมทั้งจำเลย ต่อมาได้มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่ตำบลดงมะไฟ ตำบลคู่ลาด ตำบลทรายมูล อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๒๖ (๑) อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่ตำบลดงมะไฟ ตำบลคู่ลาด ตำบลทรายมูล อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินบังคับใช้ บัญญัติให้ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินนั้น ถูกเพิกถอนสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันโดยมิต้องดำเนินการถอนสภาพตามประมวลกฎหมายที่ดิน และให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มีอำนาจนำที่ดินนั้นมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้โดยมาตรา ๓๖ ทวิ วรรคหนึ่ง กำหนดให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ได้มาดังกล่าว ซึ่งต่อมาสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก็ได้ออกเอกสารสิทธิ (ส.ป.ก. ๔ – ๐๑) ให้แก่ราษฎรบางรายที่เข้าไปทำกินในที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังกล่าวแล้ว
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทซึ่งถูกเพิกถอนสภาพจากการเป็น
สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน ยังเป็นที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๒ อันจะทำให้ผู้บุกรุกมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙, ๑๐๘ ทวิ อยู่หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา ๓๖ ทวิ วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ได้มาก็เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มิได้มุ่งหมายให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีกรรมสิทธิ์เช่นเดียวกับเจ้าของทรัพย์สินทั่วไปที่มีสิทธิใช้สอย จำหน่ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๖ ดังนั้น เมื่อที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน แม้ถูกเพิกถอนสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอันเนื่องจากการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา ๒๖ (๔) ก็ตาม ก็ยังคงเป็นที่ดินของรัฐอยู่เพียงแต่เปลี่ยนประเภทของที่ดินวัตถุประสงค์และการใช้ประโยชน์ในที่ดินและเปลี่ยนหน่วยงานของรัฐที่จะเป็นผู้จัดให้ใช้ประโยชน์เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของรัฐ การกระทำของจำเลยไม่อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙, ๑๐๘ ทวิ ดังที่โจทก์ฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
เมื่อศาลฎีกาฟังว่าที่ดินพิพาทยังคงเป็นที่ดินของรัฐ คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐอันเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายกฟ้อง จึงไม่ได้วินิจฉัยในส่วนของปัญหานี้ แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่า ที่ดินพิพาทยังเป็นที่ดินของรัฐและเห็นว่า โจทก์จำเลยสืบพยานมาจนสิ้นกระแสความแล้ว ไม่ควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ วินิจฉัยโดยเห็นควรวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นไปเสียเอง พยานโจทก์ทุกปากเบิกความสอดคล้องต้องกัน และพยานโจทก์ส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งน่าจะต้องเบิกความไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ประกอบกับบริเวณที่ดินพิพาทมีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง แสดงยืนยันว่าเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน จากพฤติการณ์ที่จำเลยยอมรับว่า ได้ยึดถือครอบครองที่สาธารณประโยชน์จริง แต่เมื่อมีหนังสือแจ้งเตือนให้จำเลยหยุดกระทำจำเลยก็ยังบุกรุกเข้าไปแผ้วถางที่ดินสาธารณประโยชน์เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกย่อมมีเหตุผลบ่งชี้ว่าจำเลยมีเจตนาบุกรุกที่สาธารณประโยชน์หรือที่ดินของรัฐเพื่อยึดถือครอบครองอันเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องแล้ว ที่จำเลยนำสืบต่อสู้และอุทธรณ์ว่า บิดาจำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยสงบเปิดเผยมีเจตนาเป็นเจ้าของมาเกินกว่า ๑ ปี ก่อนที่ทางราชการจะออกเอกสารสำคัญสำหรับที่หลวงและเมื่อบิดาจำเลยถึงแก่ความตาย จำเลยก็ได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ต่อเนื่องจากบิดา บิดาจำเลยย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทและตกทอดแก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทแล้ว การประกาศเป็นที่หลวงจึงเป็นการประกาศทับที่ดินที่บิดาจำเลยและจำเลยมีสิทธิครอบครองทั้งแปลงนั้น เห็นว่า เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน และเป็นที่ดินของรัฐแล้วย่อมต้องห้ามมิให้บุคคลทั่วไปยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๖ หากการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเป็นการออกทับที่ดินที่บิดาจำเลยและจำเลยมีสิทธิครอบครองจริง ก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปดำเนินการขอเพิกถอนหรือแก้ไขตามระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง พ.ศ.๒๕๒๙ และฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเท่านั้น หาใช่ฝ่าฝืนที่จะอยู่ในที่ดินของรัฐต่อไปได้ดังที่จำเลยกระทำไม่ ข้อต่อสู้และอุทธรณ์ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น
อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยบุกรุกเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินของรัฐแต่ไม่ใช่ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันหรือที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดตามมาตรา ๑๐๘ ทวิ วรรคหนึ่ง เท่านั้น ทั้งการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก็เป็นการครอบครองต่อเนื่องจากบิดาของจำเลยที่ครอบครองทำประโยชน์มาก่อนนานแล้ว จึงมีสาเหตุที่ทำให้จำเลยอาจเข้าใจไปได้ว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมาก่อน
และการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเมื่อปี ๒๕๓๕ เป็นการออกทับที่ดินของจำเลย พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยจึงไม่ร้ายแรงนัก ประกอบกับจำเลยเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพเป็นกิจจะลักษณะ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน กรณีจึงมีเหตุสมควรรอการลงโทษให้จำเลยดังที่จำเลยกล่าวแก้ฎีกา และที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย ๑ ปีนั้น ก็ยังหนักเกินไป จึงเห็นควรลดโทษจำคุกให้จำเลยลงและรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยด้วย แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำและเป็นการป้องกันมิให้จำเลยกลับมากระทำผิดอีกให้ลงโทษปรับและคุมความประพฤติจำเลยไว้ด้วย
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙, ๑๐๘ ทวิ วรรคหนึ่ง ให้จำคุก ๘ เดือน และปรับ ๔,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยมีกำหนด ๑ ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ๓ เดือนต่อครั้ง และให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเวลา ๒๔ ชั่วโมง ตามที่พนักงาน
คุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินที่ยึดถือครอบครอง

Share