คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3113/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ เมื่อพนักงานโจทก์ปฏิบัติงานผิดพลาดโดยนำเงินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยตามเช็คที่จำเลยนำเข้าฝากในบัญชี โดยเข้าใจผิดว่าจำเลยมีสิทธิรับเงินตามเช็ค และจำเลยได้ถอนเงินจำนวนตามเช็คไปจากบัญชีเงินฝากของจำเลย จึงเป็นการที่จำเลยได้เงินนั้นไปโดยไม่ชอบ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินจำนวนดังกล่าว ย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนจากจำเลยซึ่งไม่มีสิทธิที่จะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 โดยไม่มีกำหนดอายุความ
แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้รับช่วงสิทธิจากสหกรณ์ ฯ ในการเรียกร้องเงินคืนจากจำเลย แต่คำฟ้องของโจทก์ก็บรรยายข้อเท็จจริงพอเข้าใจได้ว่าโจทก์ได้ชดใช้เงินคืนแก่สหกรณ์ ฯ แล้ว และประสงค์จะเรียกเงินคืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิโดยชอบที่จะได้เงินจำนวนนั้น ซึ่งในการฟ้องคดีแพ่งโจทก์เพียงแต่บรรยายข้อเท็จจริงและมีคำขอบังคับก็เป็นการเพียงพอแล้วโจทก์ไม่จำเป็นต้องยกบทกฎหมายขึ้นกล่าวอ้าง การยกบทขึ้นปรับใช้แก่คดีเป็นหน้าที่ของศาลเมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามทางพิจารณาว่า กรณีเป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 และโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินใช้สิทธิติดตามและเอาคืนจากจำเลยซึ่งไม่มีสิทธิโดยชอบที่จะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยได้ว่ากรณีเป็นเรื่องดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 473,136.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้น 303,866.57 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์รับช่วงสิทธิจากสหกรณ์ ฯ เรียกเงินคืนจากจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่า สัญญาฝากเงินและเบิกถอนเงินระหว่างโจทก์กับสหกรณ์ ฯ เป็นสัญญาฝากทรัพย์ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 672 บัญญัติว่า “ถ้าฝากเงิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝาก แต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวน อนึ่ง ผู้รับฝากจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้ แต่หากจำต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น……” ดังนั้นเงินฝากของสหกรณ์ ฯ ที่ฝากไว้กับโจทก์ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตั้งแต่ที่มีการฝากเงิน สหกรณ์ฯมีสิทธิที่จะเบิกถอนเงินได้ โจทก์เพียงแต่มีหน้าที่ต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น การที่พนักงานของโจทก์ปฏิบัติงานผิดพลาดและนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยตามเช็คที่จำเลยนำเข้าฝากในบัญชี จึงเป็นการเอาเงินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เองเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย ไม่ใช่เป็นการเอาเงินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของสหกรณ์ฯเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย แม้บัญชีเงินฝากของสหกรณ์ ฯ จะมียอดแสดงการหักเงินจากบัญชี แต่บัญชีเงินฝากของสหกรณ์ฯเป็นเพียงหลักฐานและการตรวจสอบการรับฝากและถอนเงินระหว่างโจทก์กับสหกรณ์ ฯ เท่านั้น เมื่อสหกรณ์ฯไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินที่จำเลยเบิกถอนไปจากโจทก์ สหกรณ์ฯจึงย่อมไม่มีสิทธิติดตามและเอาเงินคืนจากจำเลยตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1336 การที่โจทก์ชดใช้เงินคืนให้แก่สหกรณ์ ฯ เป็นความรับผิดตามสัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับสหกรณ์ ฯ ไม่มีสิทธิใดที่โจทก์จะรับช่วงจากสหกรณ์ ฯ ในการฟ้องร้องเรียกให้จำเลยชดใช้เงินคืนแก่โจทก์ตามบทบัญญัติว่าด้วยรับช่วงสิทธิตามมาตรา 226, 227 และ 229 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงได้ความจากทางพิจารณาของศาลชั้นต้นและคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยก็เป็นลูกค้าของโจทก์ สาขาบุรีรัมย์ โดยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ การที่พนักงานโจทก์ปฏิบัติงานผิดพลาดโดยนำเงินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยตามเช็คที่จำเลยนำเข้าฝากในบัญชีโดยเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิรับเงินตามเช็คและจำเลยได้เบิกถอนเงินจำนวนตามเช็คไปจากบัญชีเงินฝากของจำเลย จึงเป็นการที่จำเลยได้เงินนั้นไปโดยไม่ชอบ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินจำนวนดังกล่าวย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนจากจำเลยซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 โดยไม่มีกำหนดอายุความ โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยได้ คดีนี้แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้รับช่วงสิทธิจากสหกรณ์ฯ ในการเรียกร้องเงินคืนจากจำเลย แต่คำฟ้องของโจทก์ก็บรรยายข้อเท็จจริงพอเข้าใจได้ว่าโจทก์ได้ชดใช้เงินคืนให้แก่สหกรณ์ฯแล้ว และประสงค์จะเรียกเงินคืนจากจำเลยซึ่งไม่มีสิทธิโดยชอบที่จะได้เงินจำนวนนั้น ซึ่งในการฟ้องคดีแพ่งโจทก์เพียงแต่บรรยายข้อเท็จจริงและมีคำขอบังคับก็เป็นการเพียงพอแล้ว โจทก์ไม่จำเป็นต้องยกบทกฎหมายขึ้นกล่าวอ้าง การยกบทกฎหมายขึ้นปรับใช้บังคับแก่คดีเป็นหน้าที่ของศาล เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามทางพิจารณาว่า กรณีเป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 672 และโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินใช้สิทธิติดตามและเอาคืนจากจำเลยซึ่งไม่มีสิทธิโดยชอบที่จะยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยได้ว่ากรณีเป็นเรื่องดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้เบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลย ซึ่งมีจำนวนเงินตามเช็ค 4 ฉบับ รวมเป็นเงินทั้งหมด 219,600 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ และเนื่องจากหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงิน จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 วรรคหนึ่ง โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระเงินคืนภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2546 ครบกำหนดชำระเงินตามหนังสือทวงถามในวันที่ 6 เมษายน 2546 เมื่อจำเลยไม่ชำระเงินดังกล่าวจึงถือว่าจำเลยผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าโจทก์ไม่ได้รับช่วงสิทธิจากสหกรณ์ฯแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 219,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share