คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9534/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฟังเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2547 และอ่านให้โจทก์ฟังเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2547 โจทก์ขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา ศาลอนุญาตถึงวันที่ 24 กันยายน 2547 จำเลยที่ 1 และที่ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นแก้ไขหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดโดยให้ระบุว่าให้ถึงที่สุดในวันที่ 9 สิงหาคม 2547 เห็นว่า แม้คดีต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่โจทก์ก็อาจดำเนินการให้มีการอนุญาตหรือรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 และไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย โจทก์จึงอาจฎีกาได้ภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาต คดีจึงเป็นที่สุดเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของวันสุดท้ายที่โจทก์อาจยื่นฎีกาได้คือวันที่ 24 กันยายน 2547 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดในวันที่ 24 กันยายน 2547

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 4 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม), 66 วรรคสอง (เดิม) จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 4 ตลอดชีวิต ลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 4 คนละ 25 ปี โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฟังวันที่ 9 กรกฎาคม 2547 และอ่านให้โจทก์ฟังวันที่ 3 สิงหาคม 2547
เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 จำเลยที่ 1 และที่ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นแก้ไขหมายจำคุกคดีถึงที่สุดให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 โดยให้ระบุคดีถึงที่สุดวันที่ 9 สิงหาคม 2547
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลจังหวัดสีคิ้วอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฟังวันที่ 9 กรกฎาคม 2547 และอ่านให้โจทก์ฟังวันที่ 3 สิงหาคม 2547 คดีถึงที่สุดวันที่ 3 กันยายน 2547 หมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดออกถูกต้องแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลง ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ว่า คดีของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่สุดตั้งแต่วันใด เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 บัญญัติว่า ” วิธีพิจารณาข้อใด ซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้ ” ซึ่งตามมาตรา 147 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง บัญญัติว่า ” คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ ฎีกาหรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง ….” คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฟังเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2547 และอ่านให้โจทก์ฟังเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2547 ซึ่งต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีการวม 2 ครั้ง และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ถึงวันที่ 10 กันยายน 2547 กับถึงวันที่ 24 กันยายน 2547 ตามลำดับ แม้คดีต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฎีกาก็ตาม แต่โจทก์ก็อาจดำเนินการให้มีการอนุญาตหรือรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ได้ ทั้งไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย โจทก์จึงอาจฎีกาได้ภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาไว้ ดังนั้น คดีจึงถือว่าเป็นที่สุดเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของวันสุดท้ายที่โจทก์อาจฎีกาได้ คือวันที่ 24 กันยายน 2547 ที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ขอให้ออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุดย้อนหลังไปในวันที่ 9 สิงหาคม 2547 ซึ่งเป็นวันที่ครบกำหนดยื่นฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ซึ่งไม่ถือว่าคดีเป็นที่สุด จึงไม่อาจกระทำได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าคดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2547 การที่ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 โดยระบุว่าคดีถึงที่สุดวันที่ 3 กันยายน 2547 จึงขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาย่อมมีคำสั่งแก้ไขหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดใหม่ให้ถูกต้องได้เพราะเป็นเรื่องการบังคับคดีที่ศาลจะต้องออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้ถูกต้องตามกฎหมาย
พิพากษายืน แต่ให้ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ใหม่ โดยระบุว่าคดีถึงที่สุดวันที่ 24 กันยายน 2547

Share