คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2841/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

หากผู้รับประเมินไม่พอใจการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินต้องยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ด้วยตนเองหรือมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรตามมาตรา 25 และมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ แต่ตามคำฟ้องของโจทก์กลับไม่ปรากฏว่าผู้รับประเมินได้มอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์ผู้เช่าอาคารและชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนผู้รับประเมินยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่กรณีย่อมต้องถือว่าจำนวนค่ารายปีและค่าภาษียุติตามการประเมินแล้วเมื่อผู้รับประเมินมิได้มีการคัดค้านหรืออุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยต่อเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามมาตรา 7 (1) และมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ ผู้รับประเมินจึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ไปด้วย
ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งยกฟ้องโจทก์โดยมิได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไว้เป็นการไม่ชอบ เพราะคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมแม้จะไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใด ก็เป็นหน้าที่ของศาลจะต้องสั่งลงในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 17 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยทั้งสองตามหนังสือชี้แจงการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ที่ ปท 52202/2006 ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2551 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันจ่ายเงินให้แก่โจทก์ที่โจทก์มีภาระหนี้ภาษีเพิ่มขึ้นจากการกระทำของจำเลยทั้งสองจำนวน 91,350 บาท พร้อมเงินเพิ่มและดอกเบี้ยที่โจทก์มีภาระเพิ่มขึ้น กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลภาษีอากรกลางตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้วมีคำสั่งว่า ตามคำฟ้องและเอกสารท้ายคำฟ้องนั้น กรมธนารักษ์ขอให้โจทก์ไปชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินที่สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ ซึ่งโจทก์มีหนังสือคัดค้านว่าไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินไปยังจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ชี้แจงการประเมินแก่โจทก์ โดยยังไม่ปรากฏว่ามีหนังสือฉบับใดเป็นหนังสือแจ้งการประเมิน และโจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินตามมาตรา 25 และ 30 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 จึงเป็นกรณีที่โจทก์ยังมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ว่า โจทก์เป็นผู้เช่าอาคารราชพัสดุเลขที่ 300/91 ถึง 93 แปลงโฉนดที่ 1527 ทะเบียนที่ราชพัสดุ ปท 343 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี จำนวน 3 ห้อง กับกรมธนารักษ์ ซึ่งสัญญาเช่าอาคารราชพัสดุดังกล่าวกำหนดให้โจทก์ต้องเสียค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่หรือภาษีอื่นใด ตลอดจนค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเช่าตามสัญญา ไม่ว่าจะที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น หรือหากมีบังคับต่อไปในภายหน้าแทนผู้ให้เช่าทั้งสิ้น โดยต้องชำระให้แก่เจ้าหน้าที่ของผู้ให้เช่าภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของผู้ให้เช่าตามสัญญาเช่าอาคารราชพัสดุ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ปทุมธานีมีหนังสือที่ กค 0307.02/432 ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2551 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ให้โจทก์นำค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2550 จำนวน 12,000 บาท ไปชำระที่สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ปทุมธานีภายในวันที่ 23 พฤษภาคม 2551 ต่อมาโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2551 เรื่อง ขอคัดค้านการเก็บภาษีโรงเรือนถึงจำเลยที่ 2 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 มีใจความว่า โจทก์ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน แต่โจทก์ยินยอมจ่ายค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนกรมธนารักษ์ตามอัตราค่าเช่าที่เจ้าของทรัพย์สินได้รับจริง ในอัตราเดือนละ 2,960 บาท ต่อ 3 คูหา แต่สำหรับค่าเช่าในปีภาษี 2550 อยู่ในอัตราเดือนละ 2,710 บาท ต่อ 3 คูหา ขอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ จากนั้นจำเลยที่ 2 มีหนังสือที่ ปท 52202/1006 ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2551 เรื่อง ชี้แจงการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ถึงโจทก์ เพื่อแจ้งรายละเอียดการคำนวณค่ารายปีและค่าภาษีให้โจทก์ทราบ และให้โจทก์นำค่าภาษีที่ค้างชำระตั้งแต่ปีภาษี 2541 ถึงปีภาษี 2551 จำนวน 132,000 บาท พร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 10 ไปชำระให้เป็นการเสร็จสิ้นด้วย ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5 กำหนดคำนิยามคำว่า “ผู้รับประเมิน” หมายความว่า บุคคลผู้พึงชำระค่าภาษี และมาตรา 40 วางหลักไว้ว่า ค่าภาษีนั้นให้เจ้าของทรัพย์สินเป็นผู้เสีย ด้วยเหตุนี้ เจ้าของทรัพย์สินจึงเป็นผู้รับประเมินที่ต้องรับภาระภาษีโรงเรือนและที่ดินโดยตรงเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งตามคำฟ้องของโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดว่า กรมธนารักษ์เป็นเจ้าของทรัพย์สินอาคารราชพัสดุที่ถูกประเมินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามคดีนี้ และยอมรับว่าตนมิใช่ผู้รับประเมิน จึงรับฟังได้ว่า กรมธนารักษ์เป็นผู้รับประเมินตามกฎหมาย โจทก์มิใช่เป็นผู้มีหน้าที่ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแต่อย่างใด การที่โจทก์ต้องชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามข้อ 5 แห่งสัญญาเช่าอาคารราชพัสดุ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 ก็เป็นเพียงการชำระค่าภาษีแทนกรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นผู้รับประเมินตามกฎหมายเท่านั้น และหากกรมธนารักษ์ในฐานะผู้รับประเมินไม่พอใจในการประเมินก็จะต้อง
ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ด้วยตนเองหรือมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรตามมาตรา 25 และมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 แต่ตามคำฟ้องของโจทก์กลับไม่ปรากฏว่ากรมธนารักษ์ได้มอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ กรณีย่อมต้องถือว่าจำนวนค่ารายปีและค่าภาษียุติตามการประเมินแล้ว และกรมธนารักษ์มิได้มีการคัดค้านหรืออุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยต่อเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรนั้นบัญญัติไว้ อันจะทำให้กรมธนารักษ์มีสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรได้ตามมาตรา 7 (1) และมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 เมื่อกรมธนารักษ์ในฐานะผู้รับประเมินมิได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าวกรมธนารักษ์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลาง โจทก์ซึ่งเป็นเพียงผู้เช่าอาคารราชพัสดุและชำระค่าภาษีแทนกรมธนารักษ์จึงย่อมไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ไปด้วย ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งยกฟ้องโจทก์โดยมิได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไว้ เป็นการไม่ชอบ เพราะคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแม้จะไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใด ก็เป็นหน้าที่ของศาลจะต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share