คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3420/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจขยายระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ ได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ โดยไม่ต้องมีองค์ประกอบของพฤติการณ์พิเศษหรือกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยอันเป็นการแตกต่างจาก ป.วิ.พ. มาตรา 23
มติคณะรัฐมนตรีในเรื่องการยุติการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ใช่กฎหมายที่จะตัดอำนาจฟ้องคดีของผู้ถูกโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 เมื่อตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าถูกโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องได้ และเมื่อตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ไม่ใช่กรณีที่โจทก์เห็นว่าจำนวนเงินที่ประเมินและตามคำชี้ขาดสูงเกินสมควรโจทก์จึงไม่ต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาลดหน่อยค่ารายปีตาม พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 31 วรรคท้าย
ตามคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของโจทก์ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2548 มี ส. ลงลายมือชื่อเป็นผู้ยื่นคำร้องแทนโจทก์โดยระบุว่าเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านสื่อสารสาธารณะทำการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ท. และโจทก์อ้างในคำฟ้องว่าเป็นการกระทำในนามของโจทก์ตามที่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ตามสำเนาคำสั่งของโจทก์ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 แต่ปรากฏว่าสำเนาคำสั่งดังกล่าวระบุชื่อโจทก์ว่าบริษัทที. ซึ่งตามหนังสือรับรองโจทก์จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นบริษัทที. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 การยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่จึงกระทำก่อนที่โจทก์จะมอบอำนาจตามคำสั่งดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่ได้มอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรให้ ส. ลงนามแทนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ ทั้งเป็นกรณีที่โจทก์ไม่อาจให้สัตยาบันในภายหลังได้กรณีจึงต้องถือว่าโจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 7 (1) และมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ฎีกามีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เดิมชื่อว่าองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ต่อมาแปลงสภาพตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 เป็นบริษัทมหาชนจำกัด ชื่อว่าบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และมีการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตู้โทรศัพท์สาธารณะและเครื่องโทรศัพท์สาธารณะที่ติดตั้งอยู่ในสถานที่ต่างๆ ในเขตปกครองของจำเลย โดยโจทก์ได้ติดตั้งเพื่อให้บริการแก่ประชาชนทั้งในอาคารและนอกอาคาร เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 พนักงานเก็บภาษีของจำเลยได้แจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ตั้งอยู่ในเขตปกครองของจำเลย โดยประเมินค่ารายปี 36,697,200 บาท ค่าภาษี 4,587,150 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินดังกล่าว จึงได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ต่อมาวันที่ 6 มกราคม 2549 โจทก์ได้รับใบแจ้งคำชี้ขาดจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งชี้ขาดยืนตามการประเมิน โจทก์เห็นว่าเป็นการประเมินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตู้โทรศัพท์ของโจทก์ไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีลักษณะเป็นโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นอันเป็นทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 5 และ 6 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 หากเป็นโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นก็เป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือสาธารณะ ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 9 (2) แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินและคำชี้ขาดของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มอบอำนาจและให้สัตยาบันแก่การกระทำของนายสายัณห์ ถิ่นสำราญ ในการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ซึ่งจำเลยก็รับวินิจฉัยให้ อีกทั้งโจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2540 และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 ที่กำหนดแนวทางในการยุติการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมิใช่กฎหมายที่ทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้สิทธิทางศาลได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ขอให้เพิกถอนการประเมินตามใบแจ้งรายการประเมินประจำปีภาษี 2548 เล่มที่ 11 ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2548 และใบแจ้งคำชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เล่มที่ 8 เลขที่ 26 ลงวันที่ 4 มกราคม 2549 ให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีจำนวน 4,587,150 บาท แก่โจทก์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดเพียงผู้เดียวตามมาตรา 25 และ 26 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 โจทก์จึงมีฐานเป็นหน่วยงานของรัฐและถือเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 จำเลยเป็นราชการส่วนท้องถิ่น มีฐานะเป็นนิติบุคคล ในกรณีที่มีข้อพิพาททางแพ่งระหว่างหน่ายงานของรัฐนั้นมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2540 และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 กำหนดแนวทางปฏิบัติให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องส่งเรื่องที่พิพาทแก่สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการส่งให้คณะกรรมการชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาตัดสินชี้ขาดแล้วเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจจึงเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องผูกพันปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว นอกจากนี้มาตรา 31 วรรคท้ายแห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ได้บัญญัติกรณีผู้รับประเมินซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ไม่พอใจในคำชี้ขาดต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาด มติของคณะรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด ดังนั้น การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาล โดยไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และในการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ โจทก์มิได้มอบอำนาจให้นายสายัณห์รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านสื่อสารสาธารณะเป็นผู้ยื่นคำร้องโดยถูกต้อง ถือว่าโจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ตามมาตรา 25 และ 27 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 การประเมินของเจ้าพนักงานจึงเป็นที่สุด โจทก์ไม่มีสิทธินำคดีฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางตามมาตรา 7 และ 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และไม่ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือสาธารณะที่จะได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 9 (2) แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 การประเมินและคำชี้ขาดของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยตามใบแจ้งรายการประเมินประจำปีภาษี 2548 เล่มที่ 1 เลขที่ 11 ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2548 และใบแจ้งคำชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เล่มที่ 8 เลขที่ 26 ลงวันที่ 4 มกราคม 2549 ให้จำเลยคืนเงินค่าภาษี 4,587,150 บาท แก่โจทก์ภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบ 3 เดือน จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “….ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์คำสั่งและคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์มีว่า ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยในครั้งที่ 2 และมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยชอบหรือไม่…เห็นว่า มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 บัญญัติว่า กระบวนพิจารณาในศาลภาษีอากรให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้และข้อกำหนดตามมาตรา 20 ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าวให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมและมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่ศาลภาษีอากรกำหนด ศาลภาษีอากรมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม โดยที่คดีภาษีอากรเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากคดีแพ่งโดยทั่วไป จึงมีการตราพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อพิจารณาคดีภาษีอากรโดยมีวิธีพิจารณาคดีเป็นพิเศษ ยกเว้นขั้นตอนและวิธีการตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบางอย่างเพื่อให้เกิดความคล่องตัวยิ่งขึ้น และคดีภาษีอากรเป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนอันเนื่องมาจากการประเมินหรือการจัดเก็บภาษีอากร มีความยุ่งยากซับซ้อนแตกต่างไปจากคดีแพ่งทั่วไปศาลภาษีอากรกลางย่อมีอำนาจขยายระยะเวลาให้จำเลยได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ตามที่มาตรา 19 บัญญัติไว้เป็นพิเศษ โดยไม่ต้องมีองค์ประกอบของพฤติการณ์พิเศษหรือกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย อันเป็นการแตกต่างจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 เมื่อศาลภาษีอากรกลางเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมก็ย่อมมีอำนาจขยายระยะเวลาตามบทบัญญัติดังกล่าวได้กรณีไม่ปรากฏว่าจำเลยประสงค์จะเอาเปรียบในทางคดี ทั้งไปปรากฏว่าศาลภาษีอากรกลางใช้ดุลพินิจดังกล่าวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นเรื่องที่ศาลภาษีอากรกลางใช้ดุลพินิจเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ดังนั้น ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยและรับอุทธรณ์ของจำเลยจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยประการแรกว่า คำสั่งศาลภาษีอากรกลางที่ให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยนั้นชอบหรือไม่… ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร เห็นว่า แม้ศาลภาษีอากร เห็นว่า แม้ศาลภาษีอากรกลางจะมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยแต่เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง คำให้การ คำแถลงของคู่ความ และที่ปรากฏตามพยานหลักฐานที่คู่ความยอมรับกันในวันชี้สองสถานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้แล้ว ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีอำนาจสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ซึ่งศาลภาษีอากรกลางก็รับฟังว่ามีมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้คู่กรณีปฏิบัติกรณีมีข้อพิพาททางแพ่งระหว่างส่วนราชการกับส่วนราชการ ส่วนราชการกับรัฐวิสหกิจ รัฐวิสาหกิจกับรัฐวิสาหกิจ ส่วนราชการกับเอกชนหรือรัฐวิสหกิจกับเอกชนตามที่จำเลยประสงค์จะนำสืบ ทั้งได้วินิจฉัยถึงการมอบอำนาจของโจทก์ตลอดจนลักษณะของตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์โดยละเอียดตามที่จำเลยจะขอสืบพยาน คำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยของศาลภาษีอากรกลางจึงชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น สำหรับปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์คำพิพากษาของจำเลยมีว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวหรือไม่ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร เห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีในเรื่องการยุติการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2540 และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 ไม่ใช่กฎหมายที่จะตัดอำนาจฟ้องคดีของผู้ถูกโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์อ้างว่าถูกโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ส่วนปัญหาว่าโจทก์ต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคท้าย หรือไม่นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ไม่ใช่กรณีที่โจทก์เห็นว่าจำนวนเงินที่ประเมินและตามคำชี้ขาดสูงเกินสมควรแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่ต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาลดหย่อนค่ารายปีตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคท้าย ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟ้องไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในประการต่อไปว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่หรือไม่… ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่าตามคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2548 นายสายัณห์ลงลายมือชื่อเป็นผู้ยื่นคำร้องแทนโจทก์ โดยระบุว่าเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านสื่อสารสาธารณะทำการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัททศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และโจทก์อ้างในคำฟ้องว่าเป็นการกระทำในนามของโจทก์ตามที่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ตามสำเนาคำสั่งของโจทก์ที่ รบ.55/2546 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 แต่ปรากฏว่าสำเนาคำสั่งดังกล่าวระบุชื่อบริษัทโจทก์ว่า บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งตามหนังสือรับรองบริษัทโจทก์โจทก์ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 การยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่จึงกระทำก่อนที่โจทก์จะมอบอำนาจตามคำสั่งดังกล่าว มาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 บัญญัติว่า “ถ้าผู้รับประเมินจะต้องลงนามในแบบพิมพ์ใดตามพระราชบัญญัตินี้ ท่านว่าจะมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรให้ตัวแทนลงนามก็ได้ ถ้าผู้รับประเมินได้รับหมายเรียกตัวตามพระราชบัญญัตินี้ นอกจากที่กล่าวในหมายเรียกว่าต้องไปเองท่านว่าจะมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรให้ตัวแทนไปแทนตัวก็ได้” และวรรคสองบัญญัติว่า “แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องพอใจว่าผู้แทนนั้นได้รับมอบอำนาจโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้มอบฉันทะเป็นลายลักษณะอักษรให้นายสายัณห์ลงนามแทนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ทั้งเป็นกรณีที่โจทก์ไม่อาจให้สัตยาบันในภายหลังได้ กรณีจึงต้องถือว่าโจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 7 (1) และมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นอื่นอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share