คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7429/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศภาคีในอนุสัญญากรุงเบิร์น กับเป็นประเทศภาคีในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า อันเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ได้ทำและนำออกสู่สาธารณชนซึ่งรายการกีฬาทางโทรทัศน์ช่อง “ESPN” กับ “STAR SPORTS” และรายการข่าวทางโทรทัศน์ข่าว “CNN” ตามลำดับ โดยการแพร่เสียงแพร่ภาพทางโทรทัศน์ จึงเป็นผู้สร้างสรรค์ซึ่งมีลิขสิทธิ์ร่วมกับบริษัทยูบีซี (UBC) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นทรูวิชันส์ (true visions) ทำความตกลงการมีสิทธิเด็ดขาดแต่ผู้เดียวในการให้บริการแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ช่องดังกล่าวแก่สมาชิกผู้รับบริการภายในเขตประเทศไทย แต่จำเลยทั้งสองได้รับสิทธิการแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ทั้ง 3 ช่องดังกล่าวมาจาก ล. ที่ประเทศมาเลเซีย โดยจ่ายค่าตอบแทนให้ ล. ทั้งปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 ด้วยว่า การรับภาพและเสียงนั้น หากที่จอเครื่องรับโทรทัศน์ไม่ปรากฏเครื่องหมาย “UBC” แสดงว่าเป็นการรับภาพและเสียงจากต้นกำเนิดโดยตรง กรณีมีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยทั้งสองได้รับสิทธิการแพร่เสียงแพร่ภาพรายการช่องดังกล่าวมาจาก ล. ที่ประเทศมาเลเซีย จำเลยทั้งสองจึงมิได้กระทำการแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำแก่งานของโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 ที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดและไม่เป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้าดังที่โจทก์ฟ้อง ส่วนปัญหาว่าจำเลยทั้งสองได้รับสิทธิการแพร่ภาพแพร่เสียงจาก ล. มาโดยชอบหรือไม่ ล. ได้รับมอบสิทธิจากโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 ให้ทำการแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ช่องดังกล่าวแต่ผู้เดียวในประเทศมาเลเซียและมีสิทธิอนุญาตช่วงให้จำเลยทั้งสองทำการแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำในประเทศไทยหรือไม่ เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 3 และที่ 4 อาจไปว่ากล่าวเอาแก่ ล. หรือไม่ต่อไป เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง ของกลางจึงไม่ใช่สิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดไม่อาจริบได้ ต้องคืนของกลางทั้งหมดแก่เจ้าของ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 29, 69, 74 และ 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 และ 83 ริบของกลางทั้งหมดและให้จ่ายค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทยาร์ราตัน ลิมิเต็ด ห้างหุ้นส่วนสามัญอีจีพี.โค. ห้างหุ้นส่วนสามัญอีเอสพีเอ็นสตาร์สปอร์ตส และห้างหุ้นส่วนจำกัดเคเบิลนิวส์เน็ตเวิร์กแอลพี, แอลแอลแอลพี. ผู้ร้องทั้งสี่ ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตและเรียกผู้ร้องทั้งสี่ว่า โจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และ ที่ 4 ตามลำดับ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 29 (2) ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 400,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 (ที่ถูก มาตรา 29) ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ให้จ่ายค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์ตามคำพิพากษากึ่งหนึ่งให้แก่โจทก์ร่วมที่ 3 หรือผู้เสียหายที่ 1 กับโจทก์ร่วมที่ 4 หรือผู้เสียหายที่ 2 และให้ริบของกลางทั้งหมด
โจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์ โจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 กับจำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์คัดค้านรับฟังได้ว่า บริษัทโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายแห่งหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน (British Virgin Islands) และห้างหุ้นส่วนสามัญโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของมลรัฐเดลาแวร์ (Delaware) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมกันจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญโจทก์ร่วมที่ 3 ภายใต้กฎหมายของมลรัฐเดลาแวร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศภาคีในอนุสัญญากรุงเบิร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรมกับเป็นประเทศภาคีในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าอันเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย โจทก์ร่วมที่ 3 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการกีฬาทางโทรทัศน์ช่องอีเอสพีเอ็น (ESPN) และช่องสตาร์สปอร์ตส (STAR SPORTS) ส่วนโจทก์ร่วมที่ 4 จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของมลรัฐเดลาแวร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการข่าวทางโทรทัศน์ช่องซีเอ็นเอ็น (CNN) โดยโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 ส่งสัญญาณรายการโทรทัศน์ดังกล่าวผ่านดาวเทียมไปยังเครื่องรับสัญญาณและถอดรหัสสัญญาณจากดาวเทียมที่เรียกว่า “ไออาร์ดี” (IRD) แปลงสัญญาณจากดาวเทียมให้เป็นสัญญาณภาพและเสียง เมื่อส่งสัญญาณภาพและเสียงเข้าสู่เครื่องรับโทรทัศน์จะปรากฏภาพและเสียงรายการโทรทัศน์ของโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 ดังกล่าวที่เครื่องรับโทรทัศน์ของสมาชิกซึ่งตกลงจ่ายค่าตอบแทนสำหรับการรับบริการดังกล่าว สำหรับในประเทศไทย โจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 3 และโจทก์ร่วมที่ 4 ได้ร่วมกับบริษัทยูไนเต็ดบรอดแคสติงคอร์ปอร์เรชัน จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทยูบีซี และบริษัทยูบีซีเคเบิลเน็ตเวิร์ก จำกัด (มหาชน) หรือยูบีซีเคเบิล ทำความตกลงการมีสิทธิเด็ดขาดแต่ผู้เดียวในการให้บริการแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ช่อง “ESPN” ช่อง “STAR SPORTS” และช่อง “CNN” แก่สมาชิกผู้รับบริการภายในอาณาเขตประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2546 และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2547 ตามข้อกำหนดและข้อกำหนดเพิ่มเติมพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.4 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2546 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจพร้อมด้วยนายสุรพล ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากจากโจทก์ร่วมทั้งสี่นำหมายค้นของศาลอาญาเลขที่ 3747/2546 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2546 เอกสารหมาย จ.12 ไปทำการตรวจค้นที่ที่ทำการห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนปากทางเข้าเมือง ตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม พบจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ในการตรวจค้นดังกล่าวเจ้าพนักงานยึดได้อุปกรณ์จานรับสัญญาณดาวเทียม 1 ชุด เครื่องรับสัญญาณความถี่สูง 1 เครื่อง เครื่องแปลงสัญญาณ (IRD) จำนวน 3 เครื่อง บัตรสมาร์ตการ์ดจำนวน 3 ใบ และเครื่องตั้งช่องสัญญาณจำนวน 3 เครื่อง เป็นของกลาง นายสุรพลผู้รับมอบอำนาจช่วงจากโจทก์ร่วมทั้งสี่ซึ่งได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองภายในกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 แล้วยืนยันให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง เจ้าพนักงานแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสองว่า ร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในงานแพร่เสียงแพร่ภาพของโจทก์ร่วมทั้งสี่โดยการแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำเพื่อการค้า ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 3 และที่ 4 ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยการแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำแก่งานแพร่เสียงแพร่ภาพอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 เพื่อการค้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 29 (2) ดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ในปัญหานี้โจทก์กับโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 นำสืบว่า โจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 3 และโจทก์ร่วมที่ 4 ได้ร่วมกับบริษัทยูไนเต็ดบรอดแคสติง คอร์ปอร์เรชัน จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทยูบีซี และบริษัทยูบีซีเคเบิลเน็ตเวิร์ก จำกัด (มหาชน) หรือยูบีซีเคเบิล ทำความตกลงการมีสิทธิเด็ดขาดแต่ผู้เดียวในการให้บริการแพร่งเสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ช่อง “ESPN” ช่อง “STAR SPORTS” และช่อง “CNN” แก่สมาชิกผู้รับบริการภายในอาณาเขตประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2546 และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2547 ตามข้อกำหนดและข้อกำหนดเพิ่มเติมพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.4 โจทก์ร่วมทั้งสี่มอบอำนาจให้นายอดิศักดิ์ เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการทางกฎหมายแก่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ในงานแพร่เสียงแพร่ภาพของโจทก์ร่วมทั้งสี่ในประเทศไทยและมีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ นายอดิศักดิ์มอบอำนาจช่วงให้แก่นายสุรพล เมื่อนายอดิศักดิ์ได้รับแจ้งจากโจทก์ร่วมทั้งสี่ว่าที่จังหวัดสมุทรสงครามท้องที่ที่เกิดเหตุ มีผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ในงานแพร่เสียงแพร่ภาพของโจทก์ร่วมทั้งสี่ที่ขอให้ตรวจสอบ นายอดิศักดิ์สั่งให้นายพิทักษ์ กับพวกไปดำเนินการ นายพิทักษ์เดินทางไปในท้องที่ที่เกิดเหตุ ไปเช่าบ้านเลขที่ 13/19 ซอยเอกชัย 2 ถนนเอกชัย ตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม และไปติดต่อกับห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและนายพิทักษ์ได้รับผังรายการจำนวน 24 ช่อง ของจำเลยที่ 1 ของกลางไว้ด้วย ในวันนัดให้พนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ไปติดตั้งเคเบิลทีวีของจำเลยที่ 1 ตรงกับวันที่ 19 กันยายน 2546 เวลาประมาณ 13 นาฬิกา นายพิทักษ์ร่วมกับนายถาวร พนักงานบริษัทเดียวกันกับนายพิทักษ์เตรียมกล้องไปบันทึกภาพและเสียงในขณะที่พนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ไปติดตั้งเคเบิลทีวีของจำเลยที่ 1 นายถาวรเป็นผู้บันทึกภาพและเสียงอยู่ที่ชั้นสองของบ้านเช่าดังกล่าว เมื่อพนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1 ติดตั้งเคเบิลทีวีนั้นเสร็จและกลับไปแล้ว นายถาวรได้เปิดและบันทึกภาพและเสียงที่ได้จากจอโทรทัศน์ที่พนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ติดตั้งเคเบิลทีวีของจำเลยที่ 1 ไว้โดยบันทึกลงในม้วนเทปขนาดเล็กแล้วถ่ายลงในเทปคาสเซตโจทก์และโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 ได้ส่งเทปดังกล่าวต่อศาลเป็นวัตถุพยานแล้วปรากฏว่าเป็นภาพและเสียงรายการของพีเอสพีเอ็น สตาร์สปอร์ตส และซีเอ็นเอ็น โดยมีภาพตัวอักษร “ESPN” “STAR SPORTS” และ “CNN” ปรากฏที่มุมบนของจอโทรทัศน์ส่วนจำเลยที่ 2 นำสืบว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ แต่จำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้นายมานพ พนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นผู้บริหารจัดการกิจการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 มีกิจการอื่นๆ อีกจำนวน 8 กิจการ นานๆ จำเลยที่ 2 จึงไปดูกิจการของจำเลยที่ 1 สักครั้ง การประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 มีรายละเอียดอย่างใด จำเลยที่ 2 ไม่ทราบ หลังจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถูกกล่าวหาแล้ว จำเลยที่ 2 จึงทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินกิจการถ่ายทอดภาพและเสียงรายการโทรทัศน์ช่องอีเอสพีเอ็น ช่องสตาร์สปอร์ตส และช่องซีเอ็นเอ็น นายมานพเป็นผู้ดูแลความเรียบร้อยของสถานที่ทำงาน ทำงานได้ทุกอย่างตามที่จำเลยที่ 2 มอบหมาย เว้นแต่กรณีเกี่ยวกับการเงิน นายมานพเป็นผู้ติดต่อกับนายเลาว์บาร์กหมิง ชาวมาเลเซียซึ่งมีสถานที่อยู่ที่ประเทศมาเลเซียและสั่งซื้อรายการโทรทัศน์ช่องอีเอสพีเอ็น สตาร์สปอร์ตส และซีเอ็นเอ็นจากนายเลาว์บาร์กหมิง โดยตกลงจ่ายค่าตอบแทนจำนวนปีละประมาณ 30,000 บาท นายมานพได้ให้นางสาวฐิติทิพย์ เป็นผู้ติดต่อเพื่อรับสิทธิการแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ดังกล่าว นางสาวฐิติทิพย์มีตำแหน่งพนักงานฝ่ายบัญชีห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแลรายได้และสั่งซื้อสินค้าต่างๆ การทำงานในหน้าที่ต้องได้รับการมอบหมายจากนายมานพ นางสาวฐิติทิพย์เริ่มดำเนินการโดยได้รับโทรสารจากนายเลาว์บาร์กหมิงซึ่งส่งมาจากประเทศมาเลเซียก่อน โดยได้รับโทรสารตามสำเนาหนังสือรวมจำนวน 2 ฉบับ เอกสารหมาย ล.4 เป็นเอกสารแสดงการได้รับสิทธิการถ่ายทอดภาพและเสียงรายการโทรทัศน์ทั้งสามรายการนั้นตั้งแต่ปี 2543 เมื่อได้รับสิทธิมาแล้ว นางสาวฐิติทิพย์ก็ขออนุมัติจากนายมานพเพื่อชำระเงินแก่นายเลาว์บาร์กหมิง เมื่อได้รับอนุมัติก็โอนเงินจำนวน 3,598.20 ริงกิต หรือ 40,660 บาท จากจังหวัดสมุทรสงครามไปเข้าบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสตูล ตามเอกสารหมาย ล.5 การโอนเงินดังกล่าวเป็นการชำระเงินเป็นรายปีในปี 2546 เมื่อชำระเงินให้นายเลาว์บาร์กหมิงแล้วนายมานพก็ได้รับกล่องที่เรียกว่ารีซีฟเวอร์และการ์ด 1 ใบ ที่เรียกว่าสมาร์ตการ์ดจากนายเลาว์บาร์กหมิง เห็นว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญโจทก์ร่วมที่ 3 และห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมที่ 4 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศในภาคีในอนุสัญญากรุงเบิร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรมกับเป็นประเทศภาคีในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าอันเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย เป็นผู้ทำและนำออกสู่สาธารณชนซึ่งรายการกีฬาทางโทรทัศน์ช่อง “ESPN” กับ “STAR SPORTS” และรายการข่าวทางโทรทัศน์ช่อง “CNN” ตามลำดับ โดยการแพร่เสียงแพร่ภาพทางโทรทัศน์รวมทั้งในประเทศไทยด้วย โจทก์ที่ 3 และที่ 4 จึงเป็นผู้สร้างสรรค์ซึ่งมีลิขสิทธิ์ในงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการกีฬาและข่าวทางโทรทัศน์ดังกล่าวตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6 วรรคหนึ่ง และ 8 (1) สำหรับในประเทศไทย ขณะเกิดเหตุคดีนี้เมื่อระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2546 เวลากลางวันถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2546 เวลากลางวัน โจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 ทำการแพร่เสียงแพร่ภาพรายการกีฬาและข่าวทางโทรทัศน์ช่องดังกล่าวโดยร่วมกับบริษัทยูไนเต็ดบรอดแคสติงคอร์ปอร์เรชัน จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทยูบีซี และบริษัทยูบีซีเคเบิลเน็ตเวอร์ก จำกัด (มหาชน) หรือยูบีซีเคเบิล ทำความตกลงการมีสิทธิเด็ดขาดแต่ผู้เดียวในการให้บริการแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ช่อง “ESPN” ช่อง “STAR SPORTS” และช่อง “CNN” แก่สมาชิกผู้รับบริการภายในอาณาเขตประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2546 และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2547 ตามข้อกำหนดและข้อกำหนดเพิ่มเติมพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.4 ในข้อนี้นายอดิศักดิ์ ผู้รับรอบอำนาจจากโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 เบิกความตอบทนายโจทก์ร่วมทั้งสี่ว่า โจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ได้มอบสิทธิในการแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ของตนให้แก่ผู้รับสิทธิในประเทศไทยคือบริษัทยูบีซี ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นทรูวิชันส์โดยเฉพาะโจทก์ร่วมทั้งสี่ไม่ได้อนุญาตให้ผู้ใดในประเทศไทยได้รับสิทธิดังกล่าวอีก สำหรับผู้รับสิทธิจากโจทก์ร่วมทั้งสี่จะปรากฏสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายที่จอเครื่องรับโทรทัศน์โดยมีสัญลักษณ์ว่า “UBC” หรือ “true visions” แล้วแต่กรณี การรับภาพและเสียงนั้นหากที่จอเครื่องรับโทรทัศน์ไม่ปรากฏเครื่องหมาย “UBC” หรือ “true visions” หมายความว่า การรับภาพและเสียงนั้นเป็นการรับโดยตรงจากต้นกำเนิด คือจาก “ESPN”หรือ “STAR SPORTS” หรือ “CNN” ซึ่งเป็นไปได้ว่าหากรับภาพและเสียงรายการโทรทัศน์ของโจทก์ร่วมทั้งสี่ แต่ไม่ปรากฏเครื่องหมาย “UBC” หรือ “true visions” บนจอเครื่องรับโทรทัศน์ การรับภาพและเสียงนั้นเป็นการรับจากประเทศอื่น การให้สิทธิแพร่เสียงแพร่ภาพแก่ผู้ประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ในประเทศใดประเทศหนึ่งนั้น ก็เป็นการให้สิทธิเฉพาะการแพร่เสียงแพร่ภาพแก่ผู้ประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวในประเทศนั้นเท่านั้น ผู้ประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ในประเทศที่ได้รับอนุญาตไม่อาจอนุญาตช่วงสิทธิในการแพร่เสียงแพร่ภาพนั้นต่อไปยังผู้อื่นในประเทศใดประเทศหนึ่งอีกได้ ปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ.6 ภาพที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ที่นายพิทักษ์ พยานโจทก์กับโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 ได้ถ่ายรูปรายการโทรทัศน์ “STAR SPORTS” ช่อง “ESPN” และช่อง “CNN” ตามลำดับ จากจอเครื่องรับโทรทัศน์ซึ่งได้รับการติดตั้งเคเบิลทีวีของจำเลยที่ 1 จากพนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ที่บ้านเช่าเลขที่ 13/19 ซอยเอกชัย 2 ถนนเอกชัย ตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2546 ว่าไม่มีเครื่องหมายตัวอักษร “UBC” ปรากฏบนจอเครื่องรับโทรทัศน์สำหรับรายการช่อง “STAR SPORTS” ช่อง “ESPN” และช่อง “CNN” ตามลำดับ นอกจากนี้ยังปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ.ร.2 ภาพที่ 1 และที่ 2 กับภาพที่ 3 ที่เจ้าพนักงานตำรวจได้ถ่ายรูปรายการโทรทัศน์ช่อง “CNN” และ “ESPN” ตามลำดับจากจอเครื่องรับโทรทัศน์ซึ่งได้รับการติดตั้งเคเบิลทีวีของจำเลยที่ 1 จากพนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ที่บ้านเช่าเลขที่ 13/19 ดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2546 อันเป็นวันที่เจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 2 มาดำเนินคดีว่า ไม่มีเครื่องหมายตัวอักษร “UBC” ปรากฏบนจอเครื่องรับโทรทัศน์สำหรับรายการช่อง “CNN” และช่อง “ESPN” ตามลำดับเช่นกัน ดังนี้ทางนำสืบของโจทก์กับโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 ที่ว่า การรับภาพและเสียนั้น หากที่จอเครื่องรับโทรทัศน์ไม่ปรากฏเครื่องหมาย “UBC” แสดงว่าเป็นการรับภาพและเสียงจากต้นกำเนิดโดยตรงคือจาก “ESPN”หรือ “STAR SPORTS” หรือ “CNN” และเป็นไปได้ว่าเป็นการรับภาพและเสียงจากประเทศอื่น จึงเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยที่ 2 ที่ว่า จำเลยทั้งสองได้รับสิทธิการแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ช่อง “ESPN”ช่อง “STAR SPORTS” และช่อง “CNN” มาจากนายเลาว์บาร์กหมิงที่ประเทศมาเลเซียโดยจ่ายค่าตอบแทนให้นายเลาว์บาร์กหมิงจำนวน 3,598.20 ริงกิต หรือ 40,660 บาท สำหรับการรับสิทธิการแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ดังกล่าวในปี 2546 ที่เกิดเหตุจากพยานหลักฐานดังกล่าว กรณีย่อมมีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยทั้งสองได้รับสิทธิการแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ช่อง “ESPN” ช่อง “STAR SPORTS” และช่อง “CNN” มาจากนายเลาว์บาร์กหมิงที่ประเทศมาเลเซีย พยานหลักฐานของโจทก์กับโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำการแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำแก่งานแพร่เสียงแพร่ภาพของโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 ในระบบผ่านเครือข่ายดาวเทียมโดยส่งสัญญาณไปยังเครื่องรับสัญญาณและถอดรหัสสัญญาณจากดาวเทียมที่เรียกว่า “IRD” แปลงสัญญาณดาวเทียมให้เป็นสัญญาณภาพและเสียง เมื่อส่งสัญญาณภาพและเสียงเข้าสู่เครื่องรับโทรทัศน์จะปรากฏภาพและเสียงรายการโทรทัศน์ของโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 ที่เครื่องรับโทรทัศน์ของสมาชิกซึ่งตกลงจ่ายค่าตอบแทนสำหรับการรับบริการดังกล่าวดังที่โจทก์บรรยายในฟ้อง นอกจากนี้ พยานหลักฐานของโจทก์กับโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำการแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำแก่งานแพร่เสียงแพร่ภาพที่โจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 ได้ร่วมกับบริษัทยูบีซีและยูบีซีเคเบิลทำความตกลงการมีสิทธิเด็ดขาดแต่ผู้เดียวในการให้บริการแพร่เสียงแพร่ภาพายการโทรทัศน์ช่อง “ESPN”ช่อง “STAR SPORTS” และช่อง “CNN” แก่สมาชิกผู้รับบริการภายในอาณาเขตประเทศไทย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำการแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำแก่งานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ช่อง “ESPN”ช่อง “STAR SPORTS” และช่อง “CNN” ของโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 ที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6 วรรคหนึ่ง และ 8 (1) การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบของความผิดและไม่เป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยการแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำแก่งานแพร่เสียงแพร่ภาพอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 เพื่อการค้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 29 (2) ดังที่โจทก์ฟ้อง ส่วนปัญหาว่า จำเลยทั้งสองได้รับสิทธิการแพร่เสียงแพร่ภาพจากนายเลาว์บาร์กหมิงมาโดยชอบหรือไม่ นายเลาว์บาร์กหมิงได้รับมอบสิทธิจากโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 ให้ทำการแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ช่อง “ESPN”ช่อง “STAR SPORTS” และช่อง “CNN” แต่ผู้เดียวในประเทศมาเลเซีย และมีสิทธิอนุญาตช่วงให้จำเลยทั้งสองทำการแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำในประเทศไทยหรือไม่ เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 อาจไปว่ากล่าวเอาแก่นายเลาว์บาร์กหมิงในประเทศมาเลเซียหรือไม่ต่อไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสี่ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดกับห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 ได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 อย่างไร การมีตำแหน่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ไม่ใช่พยานหลักฐานที่แสดงว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดด้วยและพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล เมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 ที่ว่า เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลกระทำความผิดจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 74 จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยต่อไป ส่วนจำเลยที่ 1 นั้น แม้จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดเพราะไม่ครบองค์ประกอบของความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในงานแพร่เสียงแพร่ภาพตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 29 (2) อันเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงมีคำพิพากษายกฟ้องตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้อุทธรณ์ได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตา 213 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง อุปกรณ์จานรับสัญญาณดาวเทียม 1 ชุด เครื่องรับสัญญาณความถี่สูง 1 เครื่อง เครื่องแปลงสัญญาณ (IRD) จำนวน 3 เครื่อง บัตรสมาร์ตการ์ดจำนวน 3 ใบ เครื่องตั้งช่องสัญญาณจำนวน 3 เครื่อง สำเนาใบเสร็จรับเงินค่าติดตั้งและค่าสมาชิก 1 แผ่น และสำเนาผังรายการของจำเลยที่ 1 จำนวน 1 แผ่น ของกลางที่โจทก์ฟ้องว่าเป็นสิ่งที่จำเลยทั้งสองได้ใช้ในการกระทำความผิดขอให้ริบนั้นจึงรับฟังไม่ได้ว่าเป็นสิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด ไม่อาจริบตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 75 ได้ จึงต้องคืนของกลางทั้งหมดแก่เจ้าของ”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย คืนของกลางทั้งหมดแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share