คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7330/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องทราบนัดและเข้าร่วมประชุมคราวปัญหาพร้อมกับผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ ครบทั้งหมด 7 คน สำหรับการประชุมคราวปัญหาได้มีการแจ้งนัดประชุมให้ผู้ร้องทราบทางโทรศัพท์และเป็นการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สิน ซึ่งผู้ร้องทราบปัญหาดี ผู้ร้องได้มีหนังสือขอให้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นซึ่งมีการอ้างอิงบันทึกฉบับลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2543 ที่มีการเสนอขายที่ดินเพื่อจัดการชำระหนี้ด้วย จึงเชื่อว่าผู้ร้องทราบล่วงหน้าถึงปัญหาและวาระที่ที่ประชุมจะต้องพิจารณา กับมีเวลาเตรียมตัวเพื่อสอบถามหรือแสดงความคิดเห็นอันจะเป็นประโยชน์แก่บริษัทได้เต็มที่ ต้องตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดให้แจ้งนัดประชุมใหญ่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1175 แล้ว แม้การแจ้งนัดประชุมคราวปัญหาให้ผู้ร้องทราบจะกระทำโดยทางโทรศัพท์ แต่ผู้ร้องก็ทราบนัดและเข้าร่วมประชุมด้วย การที่ผู้ร้องแพ้มติในที่ประชุมดังกล่าวแล้วกลับมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมโดยอ้างว่า การแจ้งนัดประชุมไม่ได้ปฏิบัติตามวิธีการที่ ป.พ.พ. มาตรา 1175 บัญญัติไว้ ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านจะมิได้ฎีกาโดยตรง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ มาตรา 246 และ 247

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัทบ้านหนังสือ จำกัด ที่ประชุมเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2543
ผู้คัดค้านทั้งหกยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัทบ้านหนังสือ จำกัด ที่ประชุมเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2543 ให้ผู้คัดค้านทั้งหกใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องโดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
ผู้คัดค้านทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งหกฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งหก ซึ่งฎีกาว่าผู้ร้องทราบวันนัดประชุมวันที่ 1 มิถุนายน 2543 แล้วและได้เข้าร่วมประชุมด้วย การขายที่ดินของบริษัทไม่จำต้องใช้มติที่ประชุมใหญ่ การประชุมคราวดังกล่าวนี้จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1175 ฝ่ายผู้คัดค้าน มีผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 4 เบิกความว่า ในวันนัดประชุมคราวปัญหา ผู้ร้องเข้าร่วมประชุมด้วยแต่ผู้ร้องไม่เห็นด้วยกับมติที่ประชุมซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ จึงไม่ลงชื่อในรายงานการประชุมเอกสารหมาย ค.2 ส่วนฝ่ายผู้ร้องมีตัวผู้ร้องเบิกความว่า ผู้ร้องมิได้เข้าร่วมประชุมด้วยและทราบมติที่ประชุมคราวปัญหาขณะที่ผู้ร้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล โดยมีสำเนารายงานการประชุมเอกสารหมาย ร.2 สนับสนุน ศาลฎีกาตรวจสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเอกสารหมาย ร.1 และสำเนาหนังสือรับรองบริษัทบ้านหนังสือ จำกัด ท้ายคำร้องประกอบกันแล้ว ได้ความว่าบริษัทดังกล่าวมีผู้ถือหุ้นทั้งหมด 7 คน คือผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งหก กรรมการของบริษัทมี 4 คน คือ ผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 และจากสำเนารายงานการประชุมเอกสารหมาย ร.2 และ ค.2 ซึ่งเป็นสำเนาของเอกสารต้นฉบับเดียวกัน ระบุในตอนต้นของรายงานว่ามีผู้ถือหุ้นทั้งหมดเข้าร่วมประชุม 7 คน โดย 4 คน เป็นกรรมการของบริษัทและตอนท้ายของรายงานบันทึกไว้ว่า “ผู้ถือหุ้นมีมติเสียงเป็นส่วนใหญ่รวม 60 % ได้ร่วมลงนามรับรองการประชุม” ซึ่งตามรายชื่อที่ปรากฎก็คือผู้คัดค้านทั้งหก ดังนั้น แม้ว่าในรายงานดังกล่าวจะมิได้ปรากฏชื่อของผู้ร้อง แต่จากการที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทนี้มีเพียง 7 คน โดย 4 ใน 7 คน เป็นกรรมการบริษัท และในจำนวนผู้ถือหุ้น 6 คน ซึ่งลงนามรับรองการประชุมคราวปัญหา มีอยู่ 3 คน ที่เป็นกรรมการบริษัท ฉะนั้น ผู้ถือหุ้นคนที่เจ็ดทั้งเป็นกรรมการคนที่สี่ของบริษัทจะเป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจากผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในอัตราร้อยละ 40 นั่นเอง รายละเอียดในรายงานการประชุมเอกสารหมาย ร.2 หรือ ค.2 จึงสอดรับกับคำเบิกความของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 4 อย่างลงตัว ที่ผู้ร้องนำสืบว่า ผู้ร้องมิได้เข้าร่วมประชุมด้วยและทราบมติของที่ประชุมขณะพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนั้น เห็นว่า ผู้ร้องหาได้มีหลักฐาน เช่น รายงานการตรวจรักษาตัวที่โรงพยาบาล ที่ผู้ร้องอ้างว่าไปพักรักษาตัวอยู่มาสนับสนุนคำเบิกความของผู้ร้องไม่ พยานหลักฐานของผู้ร้องจึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานฝ่ายผู้คัดค้าน พยานหลักฐานของฝ่ายผู้คัดค้านมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า ผู้ร้องทราบนัดและเข้าร่วมประชุมคราวปัญหาพร้อมกับผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ ครบทั้งหมด 7 คน และข้อเท็จจริงได้ความจากผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 4 ต่อไปด้วยว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งหกล้วนเกี่ยวพันเป็นญาติกันและบริษัทบ้านหนังสือ จำกัด มีลักษณะเป็นกิจการในครอบครัว การประชุมของบริษัทที่ผ่านมาจะใช้วิธีนัดพูดคุยปรึกษากันแล้วจัดทำรายงานการประชุมขึ้นในภายหลัง ซึ่งสอดคล้องกับการประชุมเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2532 และวันที่ 1 ตุลาคม 2532 ตามสำเนารายงานการประชุมเอกสารหมาย ค.10 และ ค.11 สำหรับการประชุมคราวปัญหาได้มีการแจ้งนัดประชุมให้ผู้ร้องทราบทางโทรศัพท์และเป็นการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินซึ่งผู้ร้องทราบปัญหาดี ทั้งเคยคัดค้านการขายที่ดินทั้งสองแปลงมานานแล้ว โดยในข้อนี้ได้ความจากผู้ร้องว่า ผู้ร้องได้มีหนังสือขอให้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย ค.1 ซึ่งมีการอ้างอิงบันทึกฉบับลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2543 ที่มีการเสนอขายที่ดินเพื่อจัดการชำระหนี้ด้วย อันเป็นการเจือสมกับทางนำสืบของผู้คัดค้านทั้งหมด จึงเชื่อว่าผู้ร้องทราบล่วงหน้าถึงปัญหาและวาระที่ที่ประชุมจะต้องพิจารณา กับมีเวลาเตรียมตัวเพื่อสอบถามหรือแสดงความคิดเห็นอันจะเป็นประโยชน์แก่บริษัทได้เต็มที่ ต้องตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดให้แจ้งนัดประชุมใหญ่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1175 แล้ว แม้การแจ้งนัดประชุมคราวปัญหาให้ผู้ร้องทราบจะกระทำโดยทางโทรศัพท์ แต่ผู้ร้องก็ทราบนัดและเข้าร่วมประชุมด้วย การที่ผู้ร้องแพ้มติในที่ประชุมดังกล่าวแล้วกลับมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุม โดยอ้างว่าการแจ้งนัดประชุมไม่ได้ปฏิบัติตามวิธีการที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1175 บัญญัติไว้ ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านจะมิได้ฎีกาโดยตรง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ มาตรา 246 และ 247 กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของผู้คัดค้านทั้งหก เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งหกฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share