คำวินิจฉัยที่ 37/2550

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๗/๒๕๕๐

วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๐

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลแขวงขอนแก่น
ระหว่าง
ศาลปกครองขอนแก่น

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแขวงขอนแก่นโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส แอนด์ ที เคเบิลเน็ทเวิร์ค โจทก์ ยื่นฟ้องบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จำเลย ต่อศาลแขวงขอนแก่น เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๔๐๒/๒๕๕๐ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๗ จำเลยโดยสำนักงานการสื่อสารโทรคมนาคมเขตตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้รับมอบอำนาจ ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์เทพื้นคอนกรีตที่ติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์ของสถานีทวนสัญญาณ ๖ สถานี ได้แก่ สถานีทวนสัญญาณปักธงชัย สีคิ้ว บัวใหญ่ สีดา วังน้ำเขียว และห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา รวมเป็นค่าจ้าง ๖๙๖,๕๗๐ บาท กำหนดส่งมอบงานในวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๗ ระยะเวลาในการปฏิบัติงาน ๑๒๐ วัน ในระหว่างดำเนินการปรากฏว่า โจทก์ไม่สามารถเข้าปฏิบัติงานในสถานีทวนสัญญาณบัวใหญ่ ปักธงชัย และสีคิ้วได้ เนื่องจากจำเลยไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้แก่โจทก์ได้ตามสัญญาเพราะการก่อสร้างเสา Self Support ที่อยู่ในหน้าที่รับผิดชอบของจำเลยยังไม่แล้วเสร็จ โจทก์โต้แย้งจำเลยหลายครั้งและขอขยายระยะเวลาจ้างตลอดจนขอหยุดการเทพื้นคอนกรีต ซึ่งจำเลยอนุญาตให้โจทก์หยุดดำเนินการเทพื้นคอนกรีตที่ติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์สถานีทวนสัญญาณ ๓ แห่งดังกล่าว หลังจากครบกำหนดในสัญญา ในระหว่างนั้นจำเลยทำผิดสัญญาขอปรับลดราคาค่าจ้างตามสัญญาเป็นจำนวนเงิน ๖๘,๐๗๘.๔๓ บาท โดยอ้างว่าเนื้องานของจำเลยเองทับซ้อนกับงานของโจทก์ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๔๙ จำเลยส่งมอบพื้นที่ตามสัญญาในสถานีทั้งสามแห่งดังกล่าวให้โจทก์เข้าใช้พื้นที่ โจทก์ขอเลื่อนวันเข้าดำเนินการเพราะอยู่ระหว่างหน้าฝนซึ่งถือเป็นเหตุสุดวิสัยตามธรรมชาติ จำเลยมีคำสั่งอนุญาตโดยให้ดำเนินการตามสัญญาได้ในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๙ แต่เมื่อโจทก์เข้าดำเนินการปรากฏว่า พื้นที่สถานีทวนสัญญาณสีคิ้วที่จำเลยส่งมอบอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์พอที่โจทก์จะดำเนินการได้ ทำให้โจทก์เสียเวลา และส่งมอบงานให้แก่จำเลยได้ในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ซึ่งกรรมการตรวจสอบงานของจำเลยได้ตรวจสอบงานที่รับมอบเรียบร้อยแล้วเห็นว่างานของโจทก์ดำเนินไปถูกต้องตามสัญญา แต่เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๙ จำเลยได้แจ้งสงวนสิทธิการเรียกเบี้ยปรับตามสัญญา โจทก์จึงมีหนังสือขอให้จำเลยทบทวนการเรียกเบี้ยปรับโดยเห็นว่าเบี้ยปรับที่จำเลยเรียกนั้นสูงเกินส่วน ประกอบกับการบริหารจัดการของจำเลยมีความบกพร่อง มีการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า มีการโต้แย้งเรื่องการปรับลดเนื้องานนอกเหนือจากสัญญาจ้าง แต่จำเลยยังคงยืนยันการเรียกเบี้ยปรับ และเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๐ จำเลยได้จ่ายค่าจ้างรวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๕๐๔,๙๖๘.๑๖ บาท โดยปรับโจทก์เป็นเงิน ๑๑๘,๗๕๗.๙๒ บาท และปรับลดเนื้องานผู้รับจ้างเป็นเงิน ๖๘,๐๗๘.๔๓ บาท รวมเป็นค่าปรับทั้งสิ้น ๑๘๖,๘๓๖.๓๕ บาท ทั้งที่โจทก์ยังโต้แย้งและไม่ยินยอมในการกำหนดเบี้ยปรับดังกล่าว ซึ่งโจทก์เห็นว่า โจทก์ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้าง การที่จำเลยปรับโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ส่งมอบงานล่าช้าเป็นเวลา ๔๗๘ วัน และปรับลดราคางานและเนื้องานโดยโจทก์ไม่ให้ความยินยอมเป็นการไม่ถูกต้องตามสัญญาและจำเลยไม่มีสิทธิที่จะปรับเงินโจทก์ได้ การกระทำดังกล่าวของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย นอกจากความเสียหายโดยตรงซึ่งเกิดจากการไม่ชำระหนี้ตามสัญญาจ้างแล้ว โจทก์ยังได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้แก่โจทก์ทำให้การชำระหนี้ของโจทก์เป็นการพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษจำเลยได้นับตั้งแต่วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๘ ถึงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ซึ่งเป็นวันที่จำเลยส่งมอบพื้นที่ให้โจทก์เป็นเวลา ๔๐๓ วัน เป็นเงินค่าเสียหายที่โจทก์จะต้องจ้างคนงาน ค่าเช่าเครื่องมือ ค่าดำเนินการ และดอกเบี้ยธนาคาร ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๙๙,๖๗๖.๓๕ บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญาแต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เนื่องจากโจทก์ส่งมอบงานล่าช้าเกินกว่ากำหนดในสัญญาเป็นเวลา ๗๖๙ วัน (นับแต่วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๗ ถึงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๙) แต่งานจ้างดังกล่าวของโจทก์ได้ขอขยายระยะเวลาส่งมอบงานและขอหยุดการก่อสร้างชั่วคราวเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงวัสดุก่อสร้างตั้งแต่วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๗ ถึงวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๗ รวมระยะเวลา ๑๙ วัน และโจทก์อ้างว่าสถานีทวนสัญญาณบัวใหญ่ ปักธงชัย และสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ยังก่อสร้างเสา TOWER ไม่แล้วเสร็จจึงไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาได้ รวมระยะเวลา ๔๙๗ วัน จำเลยไม่ได้นำมาคิดค่าปรับแต่อย่างใดโดยคิดค่าปรับเพียง ๒๗๒ วัน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๑๘,๗๕๗.๙๒ บาท ซึ่งจำเลยสามารถใช้สิทธิเรียกค่าปรับได้ตามสัญญาจ้างข้อ ๑๙ ทั้งสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขแบบปรับราคาได้ ดังนั้น การที่จำเลยปรับลดค่าเนื้องานเป็นเงิน ๖๘,๐๗๘.๔๓ บาท จึงเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาและโจทก์ไม่เคยโต้แย้ง นอกจากนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนค่าจ้างคนงาน ค่าเช่าเครื่องมือ ค่าดำเนินการ และดอกเบี้ยธนาคาร เนื่องจากโจทก์เป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญาและการชำระหนี้มิได้เป็นการพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษจำเลยได้
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม เนื่องจากจำเลยจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๙ ประกอบกับมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ ยังคงให้จำเลยมีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการสื่อสารแห่งประเทศไทยจนกว่าจะสิ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณซึ่งปัจจุบัน จำเลยยังคงสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณอยู่เนื่องจากกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของจำเลย ดังนั้น จำเลยจึงมีฐานะเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการทางปกครองและเป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบกับข้อพิพาทในคดีนี้เป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการก่อสร้างพื้นคอนกรีตที่ติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์และสิ่งก่อสร้างดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสถานีทวนสัญญาณทั้ง ๖ แห่งดังกล่าวข้างต้น ซึ่งสถานีทวนสัญญาณฯ แม้จะเป็นทรัพย์สินของจำเลย แต่จำเลยมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สิ่งก่อสร้างและสถานีทวนสัญญาณฯ จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีลักษณะเป็นสัญญาจัดให้มีบริการสาธารณะเป็นสัญญาทางปกครองและอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ ประกอบมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)
ศาลแขวงขอนแก่นเห็นว่า สัญญาจ้างทำขึ้นเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๗ หลังจากที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๖ บังคับใช้แล้ว สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาระหว่างเอกชนกับเอกชน เป็นการโต้แย้งระหว่างเอกชนกับเอกชน ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับคดีดังกล่าวได้แก่ ศาลยุติธรรม
ศาลปกครองขอนแก่นเห็นว่า คดีนี้เดิมจำเลยเป็นนิติบุคคลและเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๙ มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการโทรคมนาคมและให้บริการทางด้านโทรคมนาคม แม้ต่อมาได้แปรสภาพเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัดโดยเปลี่ยนทุนของการสื่อสารแห่งประเทศไทย เป็นหุ้นมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ และรวมทั้งพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๖ มีผลบังคับใช้แล้วก็ตาม แต่โดยที่จำเลยยังคงมีวัตถุประสงค์ อำนาจ สิทธิและประโยชน์เช่นเดียวกับการสื่อสารแห่งประเทศไทย ดังนั้น จึงถือว่าจำเลยเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครองจึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การที่จำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองทำสัญญาจ้างโจทก์ก่อสร้างพื้นคอนกรีตที่ติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์ของสถานีทวนสัญญาณจำนวน ๖ แห่ง สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีลักษณะเป็นสัญญาที่จัดให้มีบริการสาธารณะ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อคดีนี้เป็นกรณีพิพาทอันเนื่องมาจากโจทก์ (ผู้รับจ้าง) เห็นว่าจำเลย (ผู้ว่าจ้าง) ปรับโจทก์ด้วยอาศัยเหตุที่โจทก์ส่งมอบงานล่าช้า การปรับดังกล่าวทำให้โจทก์เสียหายเนื่องจากโจทก์ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา กรณีเป็นการเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการโต้แย้งสิทธิกันตามสัญญาพิพาทซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๗ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส แอนด์ ที เคเบิล เน็ทเวิร์ค โจทก์ และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จำเลย ตกลงทำสัญญาจ้างก่อสร้างพื้นคอนกรีตสำหรับติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์สถานีทวนสัญญาณของจำเลยจำนวน ๖ สถานี ได้แก่ สถานีทวนสัญญาณปักธงชัยสีคิ้ว บัวใหญ่ สีดา วังน้ำเขียว และห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา รวมเป็นเงินค่าจ้าง ๖๙๖,๕๗๐ บาท กำหนดส่งมอบงานในวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๗ ระยะเวลาในการปฏิบัติงาน ๑๒๐ วัน ในระหว่างดำเนินการปรากฏว่า โจทก์ไม่สามารถเข้าปฏิบัติงานในสถานีทวนสัญญาณบัวใหญ่ ปักธงชัย และสีคิ้ว เนื่องจากจำเลยไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้แก่โจทก์ได้ตามสัญญา โจทก์โต้แย้งจำเลยหลายครั้งและขอขยายระยะเวลาจ้าง ตลอดจนขอหยุดการเทพื้นคอนกรีตในสถานีทั้งสามแห่ง จำเลยอนุญาตหลังจากครบกำหนดตามสัญญา ในระหว่างนั้น จำเลยขอปรับลดราคาค่าจ้างโดยอ้างว่าเนื้องานของจำเลยทับซ้อนกับงานของโจทก์ ต่อมาเมื่อจำเลยส่งมอบพื้นที่ในสถานีทั้งสามแห่งให้โจทก์เข้าใช้พื้นที่ โจทก์ขอเลื่อนวันเข้าดำเนินการเพราะอยู่ระหว่างหน้าฝนซึ่งถือเป็นเหตุสุดวิสัยตามธรรมชาติ จำเลยอนุญาต แต่เมื่อโจทก์เข้าดำเนินการปรากฏว่า พื้นที่สถานีทวนสัญญาณสีคิ้วที่จำเลยส่งมอบอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์พอที่โจทก์จะดำเนินการได้ ทำให้โจทก์เสียเวลา โจทก์ส่งมอบงานให้แก่จำเลยในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ กรรมการตรวจรับงานของจำเลยรับมอบงานโดยเห็นว่างานของโจทก์ดำเนินไปถูกต้องตามสัญญา แต่เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๙ จำเลยได้แจ้งสงวนสิทธิการเรียกเบี้ยปรับตามสัญญา โจทก์จึงมีหนังสือขอให้จำเลยทบทวนการเรียกเบี้ยปรับโดยเห็นว่าเบี้ยปรับที่จำเลยเรียกนั้นสูงเกินส่วน ประกอบกับการบริหารจัดการของจำเลยมีความบกพร่อง มีการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า มีการโต้แย้งเรื่องการปรับลดเนื้องานนอกเหนือจากสัญญาจ้าง แต่จำเลยยังคงยืนยันการเรียกเบี้ยปรับ และเมื่อวันที่๕ มกราคม ๒๕๕๐ จำเลยได้จ่ายค่าจ้างรวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๕๐๔,๙๖๘.๑๖ บาท โดยปรับโจทก์เป็นเงิน ๑๑๘,๗๕๗.๙๒ บาท และปรับลดเนื้องานผู้รับจ้างเป็นเงิน ๖๘,๐๗๘.๔๓ บาท รวมเป็นค่าปรับ ๑๘๖,๘๓๖.๓๕ บาท ทั้งที่โจทก์ยังโต้แย้งและไม่ยินยอมในการกำหนดเบี้ยปรับดังกล่าว ซึ่งโจทก์เห็นว่าโจทก์ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้าง การที่จำเลยปรับโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ส่งมอบงานล่าช้าเป็นเวลา ๔๗๘ วัน และปรับลดราคางานและเนื้องานโดยโจทก์ไม่ให้ความยินยอมเป็นการไม่ถูกต้องตามสัญญา จำเลยไม่มีสิทธิที่จะปรับเงินโจทก์ได้ การกระทำดังกล่าวของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย นอกจากความเสียหายโดยตรงซึ่งเกิดจากการไม่ชำระหนี้ตามสัญญาจ้างแล้ว โจทก์ยังได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้แก่โจทก์ทำให้การชำระหนี้ของโจทก์เป็นการพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษจำเลยได้นับตั้งแต่วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๘ ถึงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ซึ่งเป็นวันที่จำเลยส่งมอบพื้นที่ให้โจทก์เป็นเวลา ๔๐๓ วัน เป็นเงินค่าเสียหายที่โจทก์จะต้องจ้างคนงาน ค่าเช่าเครื่องมือ ค่าดำเนินการ และดอกเบี้ยธนาคาร ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๙๙,๖๗๖.๓๕ บาทพร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยให้การว่า ไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญา โจทก์ส่งมอบงานล่าช้าเกินกว่ากำหนดในสัญญา จำเลยสามารถใช้สิทธิเรียกค่าปรับได้ตามสัญญาและสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขแบบปรับราคาได้ การที่จำเลยปรับลดค่าเนื้องานเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาและโจทก์ไม่เคยโต้แย้ง นอกจากนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนค่าจ้างคนงาน ค่าเช่าเครื่องมือ ค่าดำเนินการ และดอกเบี้ยธนาคาร เนื่องจากโจทก์เป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญาและการชำระหนี้มิได้เป็นการพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษจำเลยได้ ดังนั้น กรณีจึงเป็นเรื่องสิทธิและหน้าที่ของโจทก์และจำเลยที่เกิดขึ้นจากการที่โจทก์และจำเลยผูกพันเป็นคู่สัญญาจ้างดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นกรณีพิพาทที่สืบเนื่องมาจากสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลย สาระสำคัญของข้อโต้แย้งเป็นการโต้แย้งสิทธิกันตามสัญญา จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าสัญญาพิพาทเป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) และมาตรา ๓ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งสัญญาทางปกครองหมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ คดีนี้ จำเลยมีสถานะเป็นบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชน จำกัด เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๖ โดยการเปลี่ยนทุนของการสื่อสารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นทุนของบริษัทที่รัฐถือหุ้นทั้งหมดตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ แม้โดยผลของกฎหมายทำให้จำเลยมีสถานะเป็นบริษัทมหาชน แต่จำเลยยังคงมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทหนึ่งตามมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ และมีอำนาจหน้าที่เช่นเดิมที่เกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคมและให้บริการทางด้านโทรคมนาคม จึงเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครองและมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อสัญญาจ้างก่อสร้างพื้นคอนกรีตระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นไปเพื่อให้ได้งานก่อสร้างที่จำเป็นสำหรับการติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์ของสถานีทวนสัญญาณซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินบริการสาธารณะด้านโทรคมนาคมของรัฐ สัญญาจ้างก่อสร้างพื้นคอนกรีตดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง และเมื่อคดีนี้เป็นกรณีพิพาทอันเนื่องมาจากการเรียกร้องให้ชดใช้เงินจากการโต้แย้งสิทธิกันตามสัญญาพิพาทซึ่งเป็นสัญญาทางปกครองจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง หุ้นส่วนจำกัด เอส แอนด์ ที เคเบิลเน็ทเวิร์ค โจทก์ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ดิเรกพล วัฒนะโชติ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ดิเรกพล วัฒนะโชติ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??

??

??

??

Share