คำวินิจฉัยที่ 11/2551

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๑/๒๕๕๑

วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๑

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลจังหวัดเชียงใหม่
ระหว่าง
ศาลปกครองเชียงใหม่

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดเชียงใหม่โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๐ นายโกสิน เซงจา โจทก์ยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลห้วยทราย ที่๑ นายมานพ พรหมณะ ที่ ๒ ว่าที่ ร.อ.วันฉลอง วงศ์เทพ ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๑๕/๒๕๕๐ ความว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ จำเลยที่ ๒ เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจำเลยที่ ๓ เป็นปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๔๙ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ทำสัญญาซื้อเครื่องผลิตปุ๋ยหมักและก๊าซชีวภาพ ๒ เครื่อง และเครื่องเย็บกระสอบอุตสาหกรรม ๑ เครื่อง จากโจทก์ในราคา ๖๕๕,๐๐๐ บาท โดยให้โจทก์ทำการฝึกอบรมกลุ่มเกษตรกรตามโครงการส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรจำนวน ๑๑๐ คน เพื่อใช้งานเครื่องจักรดังกล่าวเป็นเวลา ๑ วัน ต่อมาตัวแทนจำเลยที่ ๑ รับมอบสินค้าตามสัญญาซื้อขายแล้วเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระราคา อ้างว่ายังไม่มีการตรวจรับและกลับมีหนังสือบอกเลิกสัญญา การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์เสียหายไม่ได้รับชำระราคาสินค้า ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน ๖๗๑,๐๑๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๖๕๕,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ ๑ บอกเลิกสัญญาเพราะโจทก์ผิดสัญญาไม่ส่งมอบเครื่องผลิตปุ๋ยหมักและก๊าซชีวภาพ และเครื่องเย็บกระสอบอุตสาหกรรมภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา จำเลยที่ ๒ ลงนามในสัญญาในฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ฐานะส่วนตัวจำเลยที่ ๓ เป็นประธานคณะกรรมการตรวจรับงานตามสัญญาซื้อขายไม่มีนิติสัมพันธ์ตามสัญญาซื้อขายกับโจทก์แต่อย่างใด จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า มูลคดีพิพาทเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น และเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายระหว่างหน่วยงานทางปกครองกับโจทก์ ซึ่งการซื้อเครื่องผลิตปุ๋ยหมักและก๊าชชีวภาพกับเครื่องเย็บกระสอบโดยโจทก์ต้องอบรมการใช้เครื่องจักรนั้น เพื่อให้ประชาชนทั่วไปใช้สอยร่วมกันอันมีลักษณะบริการสาธารณะ จึงเป็นสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระราคาสินค้าตามสัญญาซื้อขายเครื่องผลิตปุ๋ยหมักและก๊าซชีวภาพ กับเครื่องเย็บกระสอบอุตสาหกรรม อันเป็นสัญญาทางแพ่งธรรมดาอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมแม้ตามสัญญาจะมีข้อตกลงให้โจทก์จัดอบรมกลุ่มเกษตรกร ก็เห็นว่าเป็นการจัดอบรมตามปกติธรรมดาเพื่อให้มีคนใช้สอยเครื่องจักรที่ซื้อมาได้เท่านั้น ยังไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน หรือสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยจำเลยที่ ๒ ซึ่งกระทำการในนามของจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาซื้อขายเครื่องผลิตปุ๋ยหมักและก๊าซชีวภาพและเครื่องเย็บกระสอบอุตสาหกรรมกับโจทก์ โดยมี ข้อผูกพันตามสัญญาให้ฝึกอบรมกลุ่มเกษตรกรเพื่อใช้งานเครื่องจักรดังกล่าวด้วย ซึ่งเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา ๖๘ (๕) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ในการจัดให้มีและส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรและกิจการสหกรณ์ ส่วนวัตถุแห่งหนี้ตามสัญญาก็เพื่อให้ได้มาซึ่งเครื่องผลิตปุ๋ยหมักและก๊าซชีวภาพกับเครื่องเย็บกระสอบอุตสาหกรรมเพื่อไว้ให้กลุ่มเกษตรกรใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเป็นไปเพื่อการจัดทำบริการสาธารณะ สัญญาดังกล่าวจึงมีลักษณะเพื่อให้การดำเนินการทางปกครองบรรลุผล นอกจากนี้สัญญาดังกล่าวยังมีข้อกำหนดในสัญญาที่มีลักษณะพิเศษให้เอกสิทธิ์แก่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายปกครอง เช่น ท้ายสัญญาข้อที่ ๒ กำหนดว่า ในกรณีที่เอกสารแนบท้ายสัญญาขัดแย้งกันผู้ขายจะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของผู้ซื้อ และข้อ ๑๑ วรรคสาม กำหนดว่า ในการขอขยายระยะเวลาทำการตามสัญญาหรือของดหรือขอลดค่าปรับตาม วรรคหนึ่งซึ่งหมายถึงการขอขยายเวลาหรือของดหรือลดค่าปรับในกรณีมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุใด ๆ อันเนื่องมาจากความผิดหรือความบกพร่องของฝ่ายผู้ซื้อ หรือพฤติกรรมอันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายผู้ขายไม่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายให้อยู่ในดุลยพินิจของฝ่ายผู้ซื้อที่จะพิจารณา สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยทราย จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ผู้แทนทำสัญญาซื้อเครื่องผลิตปุ๋ยหมักและก๊าซชีวภาพ ๒ เครื่อง และเครื่องเย็บกระสอบอุตสาหกรรม ๑ เครื่อง กับโจทก์ในราคา ๖๕๕,๐๐๐ บาทและให้โจทก์ฝึกอบรมกลุ่มเกษตรกรตามโครงการส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรจำนวน ๑๑๐ คน เพื่อใช้งานเครื่องจักรดังกล่าวเป็นเวลา ๑ วัน ตัวแทนจำเลยที่ ๑ รับมอบสินค้าตามสัญญาซื้อขายแล้ว แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระราคาอ้างว่ายังไม่มีการตรวจรับและมีหนังสือบอกเลิกสัญญา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าสินค้าพร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ ๑ บอกเลิกสัญญาเพราะโจทก์ผิดสัญญาไม่ส่งมอบเครื่องผลิตปุ๋ยหมักและก๊าซชีวภาพ และเครื่องเย็บกระสอบอุตสาหกรรมภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา จำเลยที่ ๒ ลงนามในสัญญาในฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ฐานะส่วนตัว จำเลยที่ ๓ เป็นประธานคณะกรรมการตรวจรับงานตามสัญญาซื้อขายไม่มีนิติสัมพันธ์ตามสัญญาซื้อขายกับโจทก์แต่อย่างใด จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
คดีจึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า สัญญาซื้อขายเครื่องผลิตปุ๋ยหมักและก๊าซชีวภาพและเครื่องเย็บกระสอบอุตสาหกรรมพร้อมฝึกอบรมกลุ่มเกษตรกรระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน บัญญัติให้สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลผู้กระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทานสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ คดีนี้องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยทราย จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่น มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาตำบลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ตามมาตรา ๖๖ มาตรา ๖๗ และมาตรมา ๖๘ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ในการดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะของประชาชนได้ทำสัญญาซื้อขายเครื่องผลิตปุ๋ยหมักและก๊าซชีวภาพและเครื่องเย็บกระสอบอุตสาหกรรมพร้อมฝึกอบรมกลุ่มเกษตรกรกับโจทก์ อันเป็นการจัดให้มีและส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรและกิจการสหกรณ์ บำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพของราษฎร ตามมาตรา ๖๘ (๕) และ (๗) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ และเป็นภารกิจอย่างหนึ่งในการจัดทำบริการสาธารณะให้บรรลุผล สัญญาซื้อขายเครื่องผลิตปุ๋ยหมักและก๊าซชีวภาพและเครื่องเย็บกระสอบอุตสาหกรรมพร้อมฝึกอบรมแก่กลุ่มเกษตรกรดังกล่าว จึงเป็นสัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามในคดีนี้ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายโกสิน เซงจา โจทก์ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยทราย ที่ ๑ นายมานพ พรหมณะ ที่ ๒ ว่าที่ ร.อ.วันฉลอง วงศ์เทพ ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ดิเรกพล วัฒนะโชติ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ดิเรกพล วัฒนะโชติ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน

Share