คำวินิจฉัย(คำสั่ง)ที่ 7/2551

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
(คำสั่ง) ที่ ๗/๒๕๕๑

วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑

เรื่อง การส่งเรื่องกรณีโต้แย้งเขตอำนาจศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแรงงานกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โต้แย้งเขตอำนาจในคำให้การและศาลทำความเห็นเกี่ยวกับเขตอำนาจโดยศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ นายเสริมศักดิ์ ชื่นเจริญ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่ ๑ คณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๑๙/๒๕๕๐ความว่า เดิมผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งหัวหน้างานเลขานุการ สำนักเลขาธิการและรักษาการหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีมติในการประชุมครั้งที่ ๑๐/๒๕๔๙ เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๙เห็นชอบให้แต่งตั้งผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พนักงานระดับ ๑๒โดยให้ทดลองปฏิบัติงานเป็นระยะเวลา ๓ เดือน หากไม่ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานให้เลิกจ้าง หากผ่านการประเมินให้ทำสัญญาจ้างคราวละ ๔ ปี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่ ๑๒๑/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๘พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งหัวหน้างานเลขานุการสำนักเลขาธิการและรักษาการหัวหน้าฝ่ายอำนวยการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรโดยให้ทดลองปฏิบัติงานมีกำหนดระยะเวลา ๓ เดือน ตั้งแต่วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ถึงวันที่ ๘ สิงหาคม๒๕๔๙ และมีคำสั่งสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่ ๑๒๓/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๘พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ให้ผู้ฟ้องคดีรับเงินเดือนอัตราเดือนละ ๖๐,๐๐๐ บาทตามบัญชีแนบท้ายคำสั่งดังกล่าว และรายงานให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทราบในการประชุมครั้งที่ ๑๑/๒๕๔๙ เมื่อวันที่ ๘พฤษภาคม ๒๕๔๙ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่๐๓๖/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๑๖ มกราคม๒๕๕๐ เลิกจ้างผู้ฟ้องคดีและให้พ้นจากการเป็นพนักงานเนื่องจากไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินทดลองปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากกระทำผิดข้อกำหนดของระเบียบคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.๒๕๔๓เรื่องการให้พนักงานพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งไม่มีข้อกำหนดการเลิกจ้างในกรณีที่มีพนักงานไม่ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงาน และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งเลิกจ้างโดยไม่นำเสนอ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒พิจารณาให้ความเห็นชอบเช่นเดียวกับพนักงานระดับ ๙ ขึ้นไปรายอื่น จึงเป็นการเลือกปฏิบัติโดยมิชอบ และการออกคำสั่งเลิกจ้างก็ไม่ได้อ้างกฎหมายที่ให้อำนาจในการสั่งเลิกจ้างด้วยผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แต่ไม่ได้รับการพิจารณา เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒หมดวาระในการดำรงตำแหน่ง ขอให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่๐๓๖/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๐ และให้ผู้ฟ้องคดีกลับสู่สถานะเดิม คุ้มครองมิให้มีการแต่งตั้งบุคคลใดดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด และขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับ ตามคำสั่งสำนักงานฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่ ๐๓๖/๒๕๕๐
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า ผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้อง คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสภาพการจ้างและสัญญาจ้างแรงงาน อยู่ในเขตอำนาจของศาลแรงงานไม่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กระทำตามระเบียบและมติผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทุกประการ
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ.๒๕๔๒มาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกรในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร ส่งเสริมและสนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกรของเกษตรกร พัฒนาความรู้ในด้านเกษตรกรรมหรือกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรเกษตรกรและพัฒนาศักยภาพในการพึ่งพาตนเองและเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างเกษตรกร อันเป็นกิจกรรมในการให้บริการสาธารณะที่มิได้หวังผลกำไร กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นพนักงานและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นคณะบุคคลที่ปฏิบัติงานในสังกัดกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามความในมาตรา๓แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ผู้ฟ้องคดีเป็นบุคคลซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ว่าจ้างให้ปฏิบัติงานตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีมติให้ความเห็นชอบตามระเบียบคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. ๒๕๔๓ ออกตามความในพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. ๒๕๔๒ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงเป็นความสัมพันธ์ที่มีขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าดำเนินงานหรือเข้าร่วมดำเนินงานบริการสาธารณะกับหน่วยงานทางปกครองซึ่งเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชน ไม่อยู่ภายใต้ระบบกฎหมายเอกชน การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งจ้างผู้ฟ้องคดีเพื่อให้ทำงานเป็นพนักงานในตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยมีระยะเวลาทดลองการปฏิบัติงาน ๓ เดือน จึงเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นตามสัญญาทางปกครอง เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งเลิกจ้างผู้ฟ้องคดี และผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและได้นำคดีมาฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างดังกล่าว จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง(๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญว่า สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรได้ออกคำสั่งสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่ ๐๓๖/๒๕๕๐ ให้เลิกจ้างผู้ฟ้องคดีพ้นจากสภาพการเป็นพนักงานสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งเป็นการแสดงเจตนากลั่นแกล้งและจงใจปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เป็นการกระทำผิดระเบียบคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. ๒๕๔๓ และ มีคำขอบังคับให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่ ๐๓๖/๒๕๕๐ ให้ผู้ฟ้องคดีกลับดำรงสถานะเดิมซึ่งเป็นกรณีที่ลูกจ้างกล่าวหาว่านายจ้างเลิกจ้างโดยฝ่าฝืนระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงาน เป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง คดีนี้จึงมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘(๑) และมีลักษณะเป็นคดีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา การส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม หรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าคู่ความ ฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับศาลยุติธรรมหรือศาลทหาร หรือก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกสำหรับศาลปกครองหรือศาลอื่นในการนี้ให้ศาลที่รับฟ้องรอการพิจารณาไว้ชั่วคราว และให้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่คู่ความร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็ว .” และมาตรา ๑๐วรรคสามบัญญัติว่า”ความในมาตรานี้ให้ใช้บังคับกับกรณีที่ศาลเห็นเอง ก่อนมีคำพิพากษาโดยอนุโลม”ประกอบกับมาตรา ๑๗ วรรคสอง ให้อำนาจคณะกรรมการในการออกข้อบังคับซึ่งตามข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ในส่วนที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยในข้อ ๒๘บัญญัติว่า “หากคำร้องที่ยื่นไว้ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติ . คณะกรรมการจะมีคำสั่งให้ยกคำร้องเสียก็ได้” และข้อ ๒๙บัญญัติว่า”ในกรณีดังต่อไปนี้ คณะกรรมการจะสั่งให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความก็ได้ (๑)เมื่อผู้ร้องขอถอนคำร้อง (๒) การส่งเรื่องให้คณะกรรมการมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่พระราชบัญญัติ กำหนดไว้(๓) เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าการพิจารณาไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป”ข้อเท็จจริงคดีนี้ เป็นกรณีผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองต่อศาลปกครองกลางว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งเลิกจ้างผู้ฟ้องคดีและให้พ้นจากการเป็นพนักงานเนื่องจากไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินทดลองปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายผิดข้อกำหนดของระเบียบคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลพ.ศ. ๒๕๔๓ เรื่องการให้พนักงานพ้นจากตำแหน่ง และไม่นำคำสั่งเลิกจ้างเสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒พิจารณาให้ความเห็นชอบเช่นเดียวกับพนักงานระดับ ๙ ขึ้นไปรายอื่นเป็นการเลือกปฏิบัติโดยมิชอบและการออกคำสั่งเลิกจ้างไม่อ้างกฎหมายที่ให้อำนาจในการสั่งเลิกจ้างด้วย ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แต่ไม่ได้รับการพิจารณา เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒หมดวาระลงขอให้เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างดังกล่าว และให้ผู้ฟ้องคดีกลับสู่สถานะเดิมคุ้มครองมิให้มีการแต่งตั้งบุคคลใดดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด และขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งเลิกจ้างดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้อง คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสภาพการจ้างและสัญญาจ้างแรงงาน อยู่ในเขตอำนาจของศาลแรงงาน ไม่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กระทำตามระเบียบและมติผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทุกประการ ศาลปกครองกลางจึงให้รอการพิจารณาไว้ชั่วคราวและจัดทำความเห็นส่งให้ศาลแรงงานกลางโดยศาลปกครองกลางเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นความสัมพันธ์ที่มีขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าดำเนินงานหรือเข้าร่วมดำเนินงานบริการสาธารณะกับหน่วยงานทางปกครองซึ่งเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชนไม่อยู่ภายใต้ระบบกฎหมายเอกชนการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งจ้างผู้ฟ้องคดีเพื่อให้ทำงานเป็นพนักงานในตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยมีระยะเวลาทดลองการปฏิบัติงาน ๓ เดือน จึงเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นตามสัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เห็นว่า เมื่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง กำหนดว่า หากคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่งก็จะต้องยื่นคำร้องก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกของศาลปกครองแต่การโต้แย้งเขตอำนาจศาลของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในกรณีนี้เป็นการโต้แย้งไว้ในคำให้การโดยไม่ได้จัดทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลเป็นการเฉพาะจึงเป็นการโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติดังกล่าวทั้งการทำความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นกรณีที่ศาลจัดทำความเห็นของตนเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลตามข้อโต้แย้งที่เริ่มกระบวนการโดยการทำเป็นคำร้องตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งก่อนส่วนในกรณีที่ศาลเห็นเองเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลนั้น ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ให้อนุโลมตามมาตรา ๑๐ ซึ่งชอบที่จะเป็นกรณีที่ศาลเห็นเองว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่น ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มิได้กระทำตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดทั้งกรณีที่ศาลเห็นเองว่าอยู่ในอำนาจของศาลตนเองก็ไม่ใช่กรณีที่ถือได้ว่ามีปัญหาขัดแย้งกันเกี่ยวกับเขตอำนาจศาล กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม
จึงมีคำสั่งว่า การส่งเรื่องกรณีระหว่างศาลปกครองกลางและศาลแรงงานกลางที่เกี่ยวข้องกับผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในคดีนี้ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒มาตรา๑๗ วรรคสอง ประกอบข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๙ (๒) ให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความ

(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ดิเรกพล วัฒนะโชติ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ดิเรกพล วัฒนะโชติ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน

Share