คำวินิจฉัยที่ 36/2550

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๖/๒๕๕๐

วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๐

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดนนทบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนนทบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๙ นางชลิดา ศาสตระรุจิ โจทก์ ยื่นฟ้องกองทุนรวมแกมม่าแคปปิตอล ที่ ๑ สำนักงานบังคับคดีจังหวัดนนทบุรี ที่ ๒ กรมบังคับคดี ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนนทบุรี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ส.๑๓๗๙/๒๕๔๙ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๘ จำเลยที่ ๒ ทำการประมูลขายทอดตลาดที่ดินที่โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธ์ตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๕๗๐๕ เลขที่ ๕๘๒๗๓ และเลขที่ ๑๖๗๓๘๑ ตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งถูกยึดในคดีที่โจทก์เป็นจำเลยคนหนึ่งในคดีแพ่งของศาลจังหวัดนนทบุรี หมายเลขแดงที่ ย.๖๘๕/๒๕๔๕ และออกหนังสือระงับจำนองและขายให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ประมูลซื้อ แล้วนำไปจดทะเบียนนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสามแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี สาขาปากเกร็ด เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ การประมูลและการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งให้ระงับการขายทอดตลาดทรัพย์ในคดีไว้เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๘ จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีที่ทำการประมูลและจำเลยที่ ๒ ได้รับหมายแจ้งให้ระงับการขายทอดตลาดของศาลจังหวัดนนทบุรีแล้ว การกระทำของจำเลยที่ ๒ จึงเป็นการประมูลโดยฝ่าฝืนคำสั่งของศาลจังหวัดนนทบุรีและขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๐๖ เนื่องจากเป็นการขายทอดตลาดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ทั้งราคาที่ประมูลได้ต่ำกว่าราคาจริงของทรัพย์มาก จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงและจงใจทำผิดต่อกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๓ ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของจำเลยที่ ๒ จึงต้องร่วมรับผิดด้วย ขอให้เพิกถอนการบังคับคดีในคดีแพ่งของศาลจังหวัดนนทบุรี หมายเลขแดงที่ ย.๖๘๕/๒๕๔๕ นับแต่การประมูลขายทรัพย์ในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๘ เพิกถอนหนังสือระงับจำนองและการขายทรัพย์ทอดตลาด เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมระงับจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ และมีคำสั่งระงับหรือห้ามบังคับคดีทรัพย์สินอื่นของจำเลยในคดีดังกล่าวจนกว่าจะทำการบังคับคดีในทรัพย์จำนองแล้วเสร็จก่อน หากไม่พอชำระหนี้จึงมีสิทธิบังคับคดีทรัพย์สินอื่น
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ดำเนินการซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดโดยสุจริตและปฏิบัติตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่จำเลยที่ ๓ ประกาศและกำหนดทุกประการ โจทก์ยื่นคำร้องขอระงับการบังคับคดีเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๘ โดยนำส่งหมายเรียกและสำเนาคำร้องให้แก่จำเลยที่ ๑ โดยวิธีปิดหมาย และนำส่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๘ โดยมีผู้รับแทน จำเลยทั้งสามจึงทราบคำสั่งดังกล่าวภายหลังจากที่มีการซื้อขายทอดตลาดแล้ว การประมูลทรัพย์ของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ชอบด้วยกฎหมายและไม่ขัดต่อคำสั่งของศาล ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การร่วมกันว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ดำเนินการบังคับคดีตามกฎหมาย ระเบียบ และนโยบายของจำเลยที่ ๓ โดยสุจริต การรับทราบคำสั่งของศาลมีวิธีปฏิบัติด้วยการทำเป็นหนังสือราชการสื่อสารกัน เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้แจ้งการยึดและราคาประเมินให้โจทก์ทราบโดยชอบแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน จำเลยที่ ๒ มีหนังสือขออนุญาตขายทอดตลาดที่ดินทั้งสามแปลงของโจทก์และศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดได้ ต่อมาเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๔๘ เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าว แต่ไม่มีผู้เข้าสู้ราคาจึงต้องงดการขาย ผู้แทนของโจทก์ได้มาดูแลการขายแต่ก็ไม่ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ทราบว่าโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งระงับหรืองดการขายทอดตลาดไว้ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๘ เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ดำเนินการขายทอดตลาดครั้งที่ ๒ โดยไม่ทราบว่าศาลมีคำสั่งให้ระงับหรืองดการขายทอดตลาด จำเลยที่ ๑ เป็นผู้เสนอราคาสูงสุด โจทก์หรือผู้แทนโจทก์ไม่มาดูแลการขายและไม่มีผู้ใดคัดค้านราคา เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงตกลงขายให้จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ เพิ่งได้รับหมายนัดและสำเนาคำร้องของโจทก์ให้ระงับการขายทอดตลาดไว้เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๘ หลังจากการขายทอดตลาดมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว นอกจากนั้น โจทก์ได้ขอถอนคำร้องให้ระงับการขายทอดตลาดไว้และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนคำร้องแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนการบังคับคดี ทั้งจำเลยที่ ๒ ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง เนื่องจากโจทก์ฟ้องอ้างว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำเลยที่ ๒ ได้รับหมายแจ้งให้ระงับการขายทอดตลาดจากศาลแล้วยังคงกระทำการประมูลขายและจดทะเบียนโดยผิดต่อกฎหมายให้แก่จำเลยที่ ๑ และราคาที่ประมูลได้ต่ำกว่าราคาจริงทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓)
ศาลจังหวัดนนทบุรีเห็นว่า มูลคดีพิพาทเกี่ยวกับคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ ๒ ประมูลขายทอดตลาดที่ดินของโจทก์และโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ ๑ โดยฝ่าฝืนคำสั่งของศาลและผิดกฎหมาย ซึ่งจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นผู้เกี่ยวข้องในการบังคับคดีโดยตรงมีหน้าที่ต้องตรวจสำนวนเพื่อทราบความเคลื่อนไหวทางคดีและต้องทราบผลคำสั่งของศาล แต่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ตรวจสำนวนและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล เป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงต่อหน้าที่ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถือเป็นคดีละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลปกครองกลางเห็นว่า อำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในคดีแพ่งจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติในภาค ๔ ลักษณะ ๒ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ดังกล่าวจึงมิใช่การปฏิบัติหน้าที่ในทางปกครอง กรณีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ ดำเนินการขายทอดตลาดโดยไม่ชอบ เนื่องจากฝ่าฝืนคำสั่งของศาลอันเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงและขายทอดตลาดต่ำกว่าราคาจริง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลเพิกถอนการขายทอดตลาดและเพิกถอนนิติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขายทอดตลาดดังกล่าวนั้น มาตรา ๓๐๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กำหนดให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมที่พิจารณาคดีดังกล่าวเพื่อมีคำสั่งได้ คำฟ้องคดีนี้จึงไม่ใช่คดีปกครองตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้ โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนอ้างว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นส่วนราชการในสังกัดจำเลยที่ ๓ กระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๘ จำเลยที่ ๒ ทำการประมูลขายทอดตลาดที่ดินที่โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธ์ตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๕๗๐๕ เลขที่ ๕๘๒๗๓ และเลขที่ ๑๖๗๓๘๑ ตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งถูกยึดในคดีที่โจทก์เป็นจำเลยคนหนึ่งในคดีแพ่งของศาลจังหวัดนนทบุรี หมายเลขแดงที่ ย.๖๘๕/๒๕๔๕ และออกหนังสือระงับจำนองและขายให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ประมูลซื้อ แล้วนำไปจดทะเบียนนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสามแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ การประมูลและการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งให้ระงับการขายทอดตลาดทรัพย์ในคดีไว้เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๘ จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีที่ทำการประมูลและจำเลยที่ ๒ ได้รับหมายแจ้งให้ระงับการขายทอดตลาดของศาลจังหวัดนนทบุรีแล้ว การกระทำของจำเลยที่ ๒ จึงเป็นการประมูลโดยฝ่าฝืนคำสั่งของศาลจังหวัดนนทบุรีและขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๐๖ เนื่องจากเป็นการขายทอดตลาดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ทั้งราคาที่ประมูลได้ต่ำกว่าราคาจริงของทรัพย์มาก จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงและจงใจทำผิดต่อกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๓ ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของจำเลยที่ ๒ จึงต้องร่วมรับผิดด้วย ขอให้เพิกถอนการบังคับคดีในคดีแพ่งของศาลจังหวัดนนทบุรี หมายเลขแดงที่ ย.๖๘๕/๒๕๔๕ นับแต่การประมูลขายทรัพย์ในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๘ เพิกถอนหนังสือระงับจำนองและการขายทรัพย์ทอดตลาด เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมระงับจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ และมีคำสั่งระงับหรือห้ามบังคับคดีทรัพย์สินอื่นของจำเลยในคดีดังกล่าวจนกว่าจะทำการบังคับคดีในทรัพย์จำนองแล้วเสร็จก่อน หากไม่พอชำระหนี้จึงมีสิทธิบังคับคดีทรัพย์สินอื่น ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดโดยสุจริตและปฏิบัติตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่จำเลยที่ ๓ ประกาศและกำหนดทุกประการ การประมูลทรัพย์ของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ชอบด้วยกฎหมายและไม่ขัดต่อคำสั่งของศาล จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การร่วมกันว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ดำเนินการบังคับคดีตามกฎหมาย ระเบียบ และนโยบายของจำเลยที่ ๓ โดยสุจริต โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนการบังคับคดี เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร” บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการจำกัดประเภทคดีปกครองที่เกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานทางปกครองโดยมุ่งหมายให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครอง เมื่อคดีนี้โจทก์อ้างว่าได้รับความเสียหายจากการดำเนินการขายทอดตลาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มูลความแห่งคดีนี้จึงสืบเนื่องมาจากการดำเนินการของเจ้าพนักงานบังคับคดีสังกัดจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลที่บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าวไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งเป็นขั้นตอนของการดำเนินการบังคับคดีภายหลังจากศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดข้อพิพาทของคู่ความในทางแพ่งแล้ว อันเป็นขั้นตอนและกระบวนการในทางแพ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยแก่ประชาชน ดังนั้น แม้ข้อพิพาทในคดีนี้จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่เมื่อเป็นข้อพิพาทที่สืบเนื่องมาจากกระบวนวิธีบังคับคดีในทางแพ่งแล้ว ข้อพิพาทในคดีนี้จึงไม่มีลักษณะเป็นคดีปกครองที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางชลิดา ศาสตระรุจิ โจทก์ กองทุนรวมแกมม่าแคปปิตอล ที่ ๑ สำนักงานบังคับคดีจังหวัดนนทบุรี ที่ ๒ กรมบังคับคดี ที่ ๓ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ดิเรกพล วัฒนะโชติ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ดิเรกพล วัฒนะโชติ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share