แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๕/๒๕๕๐
วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๐
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)
ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจ และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ นายสุธี กัสยากร โจทก์ยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลบางประแดง จำเลย ต่อศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๔๙/๒๕๕๐ ความว่า โจทก์นำรถยนต์บรรทุกขนดินวิ่งผ่านถนนลูกรังสาธารณะที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของจำเลย จำเลยเรียกให้โจทก์วางเงินค้ำประกันความเสียหาย จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และจะคืนให้แก่โจทก์ภายใน ๗ วัน หากโจทก์ซ่อมแซมถนนลูกรังสาธารณะให้อยู่ในสภาพเดิมแล้ว โจทก์ปรับพื้นถนนลูกรังให้อยู่ในสภาพที่ดีเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๔๙ พร้อมแจ้งให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางประแดง ผู้แทนจำเลยให้คืนเงินประกันดังกล่าวแก่โจทก์ แต่ผู้แทนจำเลยผัดผ่อน และขอให้โจทก์ปรับพื้นถนนอีก เมื่อโจทก์ดำเนินการให้จำเลยก็ไม่ยอมคืนเงินประกันให้แก่โจทก์แต่อย่างใด โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยคืนเงินประกันแก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน ๑๐๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่มีหนังสือแจ้งยกเลิกการใช้ถนนลูกรังสาธารณะที่พิพาท จำเลยไปตรวจสภาพถนนลูกรังดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าโจทก์มิได้ซ่อมแซมถนนลูกรังให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดีดังเดิม จำเลยมิได้ผิดข้อตกลงตามบันทึกข้อตกลง จำเลยยังไม่มีหน้าที่ต้องคืนเงินประกันดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาพิจารณาแล้วเห็นว่า มูลคดีพิพาทเป็นกรณีที่โจทก์ได้ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองอ้างว่า กระทำการผิดข้อตกลงตามบันทึกข้อตกลงไม่คืนเงินประกันที่โจทก์วางเป็นประกันการใช้ถนนลูกรังสาธารณะที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของจำเลย ทั้งที่โจทก์ดำเนินการซ่อมแซมถนนลูกรังดังกล่าวจนเรียบร้อยสามารถใช้การได้ดีแล้ว แต่จำเลยไม่คืนเงินประกันแก่โจทก์ ซึ่งประเด็นแห่งคดีนี้จำต้องพิจารณาเป็นอันดับแรกก่อนว่า ถนนลูกรังดังกล่าวซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์นั้น โจทก์ดำเนินการซ่อมแซมเรียบร้อยใช้การได้ดีแล้วหรือไม่อย่างไร การที่ถนนลูกรังดังกล่าวเป็นถนนสาธารณะอันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้เส้นทางสัญจร เมื่อพิจารณาข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยจะเห็นได้ว่ามีวัตถุประสงค์ก็เพื่อการซ่อมแซมถนนลูกรังสาธารณะพิพาทอันเกิดจากการใช้งานให้สามารถกลับคืนสภาพการใช้งานได้ดีดังเดิม วัตถุประสงค์ของบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงให้โจทก์ดำเนินการซ่อมแซมถนนลูกรังที่พิพาทอันเกิดจากการใช้งานของโจทก์ถือเป็นการจัดทำบริการสาธารณะอย่างหนึ่ง จึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า บันทึกข้อตกลงที่โจทก์ทำไว้กับจำเลยเพื่อเป็นประกันในกรณีถนนลูกรังสาธารณะที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของจำเลยอาจได้รับความเสียหายจากการที่โจทก์นำรถบรรทุกขนดินแล่นผ่านถนนลูกรังดังกล่าว แม้ว่าจำเลยจะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ก็ตาม แต่บันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาที่เกิดขึ้นจากการที่โจทก์กับจำเลยแสดงเจตนาด้วยใจสมัครบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาคกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งสัญญาดังกล่าวมิได้มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติหรือเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองหรือบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐตกลงให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าดำเนินการหรือเข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรง หรือเป็นสัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ ดังนั้นบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่เป็นสัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทเกี่ยวกับบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่ศาลปกครองจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า โจทก์นำรถยนต์บรรทุกขนดินวิ่งผ่านถนนลูกรังสาธารณะที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของจำเลย จำเลยเรียกให้โจทก์วางเงินค้ำประกันความเสียหาย จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และจะคืนให้แก่โจทก์ภายใน ๗ วัน หากโจทก์ซ่อมแซมถนนลูกรังสาธารณะให้อยู่ในสภาพเดิมแล้ว โจทก์ปรับพื้นถนนลูกรังให้อยู่ในสภาพที่ดีเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๔๙ พร้อมแจ้งให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางประแดง ผู้แทนจำเลยให้คืนเงินประกันดังกล่าวแก่โจทก์ แต่ผู้แทนจำเลยผัดผ่อน และขอให้โจทก์ปรับพื้นถนนอีก เมื่อโจทก์ดำเนินการให้จำเลยก็ไม่ยอมคืนเงินประกันให้แก่โจทก์แต่อย่างใด โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยคืนเงินประกันแก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน ๑๐๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่มีหนังสือแจ้งยกเลิกการใช้ถนนลูกรังสาธารณะที่พิพาท จำเลยไปตรวจสภาพถนนลูกรังดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าโจทก์มิได้ซ่อมแซมถนนลูกรังให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดีดังเดิม จำเลยมิได้ผิดข้อตกลงตามบันทึกข้อตกลง จำเลยยังไม่มีหน้าที่ต้องคืนเงินประกันดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
คดีจึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า บันทึกข้อตกลงให้ผู้รับเหมาขุดหน้าดินใช้ถนนสาธารณะในการบรรทุกดินเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน บัญญัติให้สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลผู้กระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ คดีนี้จำเลยเป็นราชการส่วนท้องถิ่น มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๖๖ และมาตรา ๖๗ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ในการดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะของประชาชนได้ทำบันทึกข้อตกลงให้โจทก์บรรทุกดินผ่านถนนสาธารณะซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยโดยตกลงให้โจทก์ทำการซ่อมแซมถนนที่ได้รับความเสียหายจากการบรรทุกดินดังกล่าวด้วย อันเป็นการจัดให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำและทางบก ตามมาตรา ๖๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลย และเป็นภารกิจอย่างหนึ่งในการจัดทำบริการสาธารณะให้บรรลุผลบันทึกข้อตกลงให้ใช้ถนนสาธารณะในการบรรทุกดินดังกล่าว จึงเป็นสัญญาทางปกครอง ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยขอให้คืนเงินที่วางไว้เป็นประกันความเสียหายจากการใช้ถนนสาธารณะโดยอ้างว่าได้ทำการซ่อมแซมถนนสาธารณะตามบันทึกข้อตกลงให้ใช้ถนนสาธารณะในการบรรทุกดินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมคืนให้ อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดข้อตกลงตามบันทึกข้อตกลงให้ใช้ถนนสาธารณะในการบรรทุกดินดังกล่าว ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยใน คดีนี้ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายสุธี กัสยากร โจทก์ องค์การบริหารส่วนตำบลบางประแดง จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ดิเรกพล วัฒนะโชติ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ดิเรกพล วัฒนะโชติ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คมศิลล์ คัด/ทาน
??
??
??
??
๓